เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: เอกพงศ์ ตันติผลประเสริฐ
บทเรียนของเด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่คิดการใหญ่นำเงินเกือบล้านบาทจากอาชีพเสริมเพื่อเปิดธุรกิจร้านเครื่องเสียงกับเพื่อน หากแต่ในที่สุดธุรกิจก็ไปไม่รอด เพราะความอ่อนประสบการณ์เป็นลูกหนี้เกือบ 3 ล้านบาท และได้รู้ซึ้งถึงคำว่า “เช็กเด้ง” บทเรียนล่ำค่าที่วันนี้ อารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ในวัย 45 ปี และ Forbes Thailand พร้อมถ่ายทอดถึงความเปลี่ยนแปลงและการต่อยอดธุรกิจ ท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์ไม้ในโชว์รูม ELEGA ซึ่งเขาเป็นเจ้าของตั้งอยู่ใน Index Living Mall บางนา
จากการสวมหมวกหัวหน้าโรงงานของธุรกิจในครอบครัวทำให้เขาได้เรียนรู้ตั้งแต่ระบบสายการผลิต การจัดซื้อ และการรับออเดอร์คำสั่งซื้อ ก่อนจะเกิดความคิดพัฒนาโรงงานให้ทันสมัย และขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจของครอบครัว
“การเปิดตลาดต่างประเทศใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ตอนนั้นผมอายุ 20 กว่าปี ผมทำทุกวิถีทางให้ส่งออกได้ ผมนำข้อมูลจากกรมส่งเสริมการส่งออก ส่งแฟกซ์ตอนกลางคืนเป็นร้อยใบ เพราะเวลาไทยกับต่างประเทศไม่ตรงกัน สมัยนั้นยังไม่มีอีเมล์ และในที่สุดฝรั่งเศสก็ติดต่อกลับมา ใบสั่งซื้อใบแรกของผมในชีวิตเริ่มที่ฝรั่งเศส (Apple Furniture)”
อารักษ์เล่าถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากคนงานไม่ถึงร้อยคนสู่ทีมงานหลักพันคน ในการดำเนินธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ปาร์ติเคิลบอร์ด เฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา กระดาษปิดผิวไม้ ยางพาราแปรรูปอบแห้ง และให้บริการตัดแผ่นปิดขอบไม้ (พีวีซี) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ จนเป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์รายแรกในรอบ 78 ปีที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ ECF เดินหน้าอย่างรวดเร็วทั้งกระบวนการผลิตและการรุกต่างประเทศเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางเยี่ยมชมโรงงานที่เมือง Wakayama ประเทศญี่ปุ่นในปี 2545 และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนปัจจุบันบริษัทสามารถเดินหน้าเปิดตลาดต่างประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มลูกค้ายุโรป ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ AEC จากการให้ความสำคัญกับความละเอียดประณีต และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้รวดเร็ว และแม่นยำ
สำหรับตลาดในประเทศ ECF เน้นการขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านแบรนด์ “ELEGA” ซึ่งเป็นแบรนด์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา คุณภาพระดับพรีเมียม และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีโชว์รูม 15 สาขาทั่วประเทศใน Index Living Mall และ Home Pro พร้อมขยายตลาดในกลุ่มโมเดิร์นเทรด
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปี 2557 บริษัทสามารถสร้างรายได้รวม 1,235 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 69.88 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2558 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 1.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 309.16 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 15.3 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 12.87% นอกจากนั้น บริษัทยังได้ลงนามสัญญาเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนจาก Disney เพื่อใช้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ และเตรียมทิศทางทางการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการ
โดยทิศทางธุรกิจในปี 2558 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตอย่างน้อย 12% อีกทั้งบริษัทได้มีกลยุทธ์กระตุ้นยอดขาย เพิ่มช่องทางจำหน่ายในประเทศให้มากขึ้น และเจรจากับกลุ่มลูกค้าใหม่ในต่างประเทศ จัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ และการเจาะกลุ่มประเทศในเขตเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
“เราทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เรามีโรงเลื่อยไม้เอง และเครือข่ายโรงเลื่อย โดยใช้ไม้ทั้งระยองและภาคใต้ รวมทั้งนำเข้าจากยุโรป เรายังมีโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ระยองอีก 2 โรงงาน ตั้งแต่เปิดโรงงานเราไม่เคยมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ” อารักษ์กล่าวถึงความพร้อมรับมือกับการแข่งขัน
เมื่อเปรียบมวยกับคู่ชกในอาเซียน ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ไทยยังคงมีหมัดเด็ดที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบที่ประเทศส่วนใหญ่อย่างมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ต้องมาสั่งซื้อไม้จากไทย เพราะมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และภูมิประเทศของประเทศ รวมทั้งคุณภาพและฝีมือของแรงงานไทยที่มีความประณีตมากกว่า
ในฐานะรุ่นพี่และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย อารักษ์ทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเปิดตลาดต่างประเทศว่า ก่อนทำธุรกิจในต่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากที่สุด ทั้งความเข้าใจการส่งออก โครงสร้างราคา และต้นทุนธุรกิจ โดยสามารถผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และเพิ่มแข็งแกร่งด้านเงินทุน รวมทั้งการพยายามมองหาช่องทางแสดงสินค้าต่างประเทศ และติดต่อสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม
คลิ๊กอ่าน "ECF ผงาดสู่ตลาดโลก ท้าชนเฟอร์นิเจอร์ในอาเซียน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ DECEMBER 2015