ดวงสี พารายก ผู้นำธุรกิจผลิต-ไฟฟ้าลาวเดินหน้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำและแสงอาทิตย์พร้อมโครงการร่วมภาคเอกชนขยายกำลังการผลิตต่อเนื่อง 1,949 เมกะวัตต์สู่ 2,435 เมกะวัตต์ในปี 2572 ด้วยความมุ่งมั่นขับเคลื่อน สปป.ลาว ให้ก้าวเป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดและสร้างความมั่นคงในภูมิภาคสอดคล้องเมกะเทรนด์โลก
ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของ สปป.ลาว ทั้งภูเขาสูง แม่น้ำ ป่าไม้ และฝนตกชุกที่สามารถผลิตน้ำจืดได้จำนวนมากส่งผลให้หลายช่วงปีที่ผ่านมา สปป.ลาว มีความมั่นใจประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขจากเวทีสัมมนาหัวข้อเรื่อง “ราคาไฟฟ้าและไฟฟ้าลาว ปี 2021-2025” ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ยังสะท้อนชัดถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากรวม 9,972 เมกะวัตต์ จากแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศ 78 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 67 แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 6 แห่ง พร้อมส่งขายให้ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในอาเซียน ทั้งยังมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และเตรียมผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของ สปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง “บริษัทตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2553 ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งแยกรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวจากเดิมมีฝ่ายผลิตและฝ่ายจำหน่ายในเวลานั้น ต่อมาจึงนำฝ่ายผลิตของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวมาเป็นของ บริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว และดำเนินการผลิตมาได้ 10 ปีพอดี” ดวงสี พารายก กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรายใหญ่ของ สปป.ลาว กล่าวถึงการสนับสนุนจากภาครัฐที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้สามารถขับเคลื่อนเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศที่มีการเติบโตและความมั่นคงสูง กว่าทศวรรษที่บริษัทได้เริ่มต้นก่อตั้งขึ้นจากรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว หรือ EDL (Electricite du Laos) ในเดือนธันวาคม ปี 2553 โดยสืบทอดบทบาทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าป้อนให้ สปป.ลาว และเป็นเจ้าของระบบสายส่งแรงสูงของประเทศแต่เพียงผู้เดียว ซึ่ง EDL เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังของ สปป.ลาว เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ส่งผลให้ทั้ง EDL และ EDL-Gen ต่างมีบทบาทสำคัญตามแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าของ สปป.ลาว พร้อมผลักดันให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป.ลาว เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยถือเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของ EDL-Gen ด้วยสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจาก EDL-Gen สูงถึง 42% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด โดยจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) ประเทศไทยสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีก 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งยังสามารถซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้อีก 3,000 เมกะวัตต์และจะเหลือสัดส่วนที่รับซื้อจากประเทศอื่นๆ อีก 500 เมกะวัตต์ “เราได้วางวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ในการเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศให้เพียงพอมั่นคง และราคาสมเหตุสมผล ด้วยศักยภาพทางด้านบุคลากร ทักษะความเชี่ยวชาญที่เป็นผู้ริเริ่มสร้างเขื่อนพลังน้ำใน สปป.ลาว มายาวนาน และค่าแรงการทำงานยังต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มหรือผลกำไรให้กับนักลงทุนและผู้ถือหุ้น” นอกจากนั้นด้านการพัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ EDL-Gen ยังให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐาน ISO14001 จากการนำทรัพยากรน้ำมาใช้ผลิตพลังงานสะอาดผ่านเขื่อนที่มีกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าแบบให้น้ำไหลผ่านตลอดเวลา หรือ Run-of-the-river จึงไม่กระทบต่อปริมาณและคุณภาพน้ำทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน รวมถึงคุณภาพชีวิตสัตว์น้ำในลุ่มน้ำโขง และควบคุมเสียงไม่ให้กระทบต่อชุมชน ทำให้บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการด้านทรัพยากรทางธรรมชาติมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนใน สปป.ลาว ที่ดี “อุตสาหกรรมไฟฟ้าโดยรวมมีการผลิตขนส่งและจำหน่าย ซึ่งในการขนส่งทางกระทรวงพลังงานและรัฐบาลได้มีนโยบายก่อตั้งบริษัทสายส่งแห่งชาติขึ้นและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ถ้าหากสำเร็จจะเกิดความสมดุลการสนองไฟฟ้าในลาวหรือในภาคพื้นที่มั่นคงยิ่งขึ้น รวมถึงการผลักดันให้มี Asian Power Green หรือประเทศรอบข้าง ได้แก่ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย ให้มี grid อันเดียวกัน เพื่อพึ่งพาซึ่งกันและกันตามศักยภาพแต่ละประเทศที่ต่างกัน” ทั้งนี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิก (ASEAN Power Grid) ผ่านระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อให้แต่ละประเทศใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมส่งเสริมแนวคิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเพื่อเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานและเศรษฐกิจ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ให้ความสนใจศึกษาการสร้างตลาดการซื้อขายไฟฟ้าข้ามประเทศ โครงการที่เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ การสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเชื่อมจากแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำของสปป.ลาว มายังระบบไฟฟ้าของประเทศไทยและระบบ HVDC เพื่อส่งไฟฟ้าระหว่างมาเลเซียและไทย (Lao PDR, Thailand, Malaysia - Power Integration Project: LTM-PIP) พร้อมเดินหน้าดำเนินโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบส่ง 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว-ไทย-เมียนมา ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายเส้นทางนำไปสู่การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีภายในภูมิภาคอาเซียนและต่อไปยังภูมิภาคอื่นในอนาคต- ก้าวสู่ผู้นำพลังงานสะอาด
- 10 มหาเศรษฐีพันล้านที่จากไปทิ้งไว้แค่ความร่ำรวย
- 3 มหาเศรษฐีญี่ปุ่น ที่ธุรกิจทะยานท่ามกลางสถานการณ์โควิด
- ฐกร รัตนกมลพร นำ “DITTO” สู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine