ความมุ่งมั่นของ ชาญวิทย์ อนัคกุล อดีตกัปตันเรือกับภารกิจหมุนพังงาธุรกิจให้พริมา มารีนสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลังในน่านน้ำการขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีแห่งท้องทะเลไทยจรดอาเซียน พร้อมคว้าโอกาสขยายกองเรือและจับมือพันธมิตรสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทะยานสู่เป้าหมาย 5 พันล้านบาท
ระยะเวลากว่า 10 ปีของกัปตันเรือขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมฝ่าคลื่นลมบนท้องทะเลยังไม่ท้าทายเท่าการสวมสูทแสดงฝีมือการบริหาร สร้างผลงานจากพนักงานบริษัทสู่ผู้นำทัพธุรกิจเชื่อมน่านน้ำการขนส่งข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทย “หลังฝึกงานที่ Southampton 3 เดือนกลับมานั่งออฟฟิศที่ไทยออยล์ เขาก็ไม่ให้ลงเรืออีก ผมเคยอยู่กองเรือเชลล์มาก่อนประมาณ 7 ปีก็มีการเปลี่ยนแปลงจากโรงกลั่นน้ำมันไทยเป็นโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ และเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นจนถึงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยออยล์ได้แยกการขนส่งน้ำมันและก๊าซเป็น บริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด ซึ่งผมอยู่กับไทยออยล์มารีนประมาณ 3 ปีครึ่ง ช่วยพลิกขาดทุนเป็นกำไร และเปลี่ยนจากตลาดขนส่งน้ำมันเป็นตลาดเคมีคัล เราเป็นรายแรกที่ขนส่งเคมีคัลขนาด 7,000 ตันขึ้นไปยังจีน เกาหลี” ชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM เล่าถึงช่วงเวลาก่อนตัดสินใจร่วมงานกับกลุ่มนทลินตามคำชวนของ เชิดชู ปานบุญห้อม ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท กาญจนามารีน จำกัด เมื่อปี 2546 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสำคัญของการรวมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ชาญวิทย์พร้อมรับภารกิจจากกลุ่มนทลินที่เล็งเห็นความสำคัญของการรวบรวมกองเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีไว้ในบริษัทเดียวกันชื่อ บริษัท นทลิน ออฟชอร์ จำกัด และขยายธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว ได้แก่ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (Floating Storage Unit), ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore Support Vessel), ธุรกิจบริหารจัดการเรือ (Ship Management Services) โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท พริมา มารีน จำกัด และปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง “ในอดีตนทลินแยกกองเรือออกเป็นหลายบริษัท ทางผู้บริหารมองว่าถ้าจะให้กองเรือไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งต้องรวบรวมกองเรือและตั้งบริษัทขึ้นมาเป็นนทลินออฟชอร์ และเปลี่ยนเป็น พรีมา มารีน ปี 2558 โดยแปลงสภาพเป็นมหาชนเมื่อปี 2560 ซึ่งผมอยู่ทั้งนทลินและพริมา มารีนปีนี้ขึ้นปีที่ 16 เราพัฒนาจากเรือ 10 กว่าลำเป็นเรือขนส่งน้ำมันมากกว่า 40 ลำ พร้อมก้าวสู่ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเหลวทางเรือครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ” สำหรับในปัจจุบันกลุ่มบริษัทให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลวทางเรือให้ลูกค้าตามความต้องการอย่างครบวงจร รวมทั้งให้บริการเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลและบริหารจัดการเรือ ขณะที่ธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทแบ่งเป็น 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีเหลว สำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่เพื่อขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางจากโรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมันหรือท่าเรือต้นทางในประเทศ เช่น ศรีราชา ระยอง และกรุงเทพฯ สู่คลังน้ำมันหรือท่าเรือปลายทางในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สมุทรสาคร ภูเก็ต สงขลา และกรุงเทพฯ รวมถึงการขนส่งระหว่างประเทศจากไทยไปยังสิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม

ปรับกลยุทธ์สู่ Growth Mode
ภายใต้ความมุ่งมั่นขยายตลาดให้ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการขนส่งผลิตภัณฑ์เคมี ปิโตรเลียม ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และโลจิสติกส์ รวมถึงสนับสนุนงานกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอย่างครบวงจร พริมา มารีน ได้เสริมทัพอาณาจักรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วยการซื้อกิจการบริษัท บิ๊กซี จำกัด (Big Sea) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท ทำให้กองเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 13 ลำและส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดด้านการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 32.9% เป็น 49.3% ในปี 2561 “FSU ในปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นครองสัดส่วน 50% จากการเพิ่มจำนวนเรือมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในแต่ละเซกเมนท์หรือแต่ละโปรเจกต์ เราต้องพิจารณาตลาด การเงิน license และกฎข้อบังคับสากลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางเดินเรือ เทคนิค อุปกรณ์ให้เป็นไปตามกฎระเบียบ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย FSU จะเป็นลูกค้าที่ซื้อขายน้ำมันหรือเทรดเดอร์ทั้งเชฟรอน Mercuria, Mitsui, JX และเราเลือก Tanjung Pelapas ใกล้สิงคโปร์ เพราะพื้นที่ตรงนั้นเหมือนทำเลยุทธศาสตร์เชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออก ซึ่งเหมาะกับการเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิง การซื้อขายน้ำมันและการผสมน้ำมันคุณภาพ” ชาญวิทย์เล่าถึงแผนในภูมิภาคอาเซียน “เราไม่มองว่าใครเป็นคู่แข่ง แต่จะคิดว่าทำอย่างไรให้เขาไม่เป็นคู่แข่งเรา ด้วยการนำมาเป็นเพื่อนหรือพาร์ทเนอร์ อย่างถ้าเรามีสินค้าแต่ไม่มีเรือในภูมิภาคใกล้เคียงกัน เราก็นำเรือของเพื่อนมาวิ่งแทน เพื่อให้เป็น one stop service ขณะเดียวกันเราก็หาพาร์ทเนอร์ในอาเซียน เช่น เรากำลังคุยกับกองเรือใหญ่ของมาเลเซียที่มีจำนวนเรือมากกว่า 80 ลำ เพื่อหาความร่วมมือกันในอนาคต”
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ชาญวิทย์ อนัคกุล คุมทัพนาวาธุรกิจ PRM” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine
