จริญญา จิโรจน์กุล พา "ศรีตรังโกลฟส์" ไต่ระดับความยั่งยืน - Forbes Thailand

จริญญา จิโรจน์กุล พา "ศรีตรังโกลฟส์" ไต่ระดับความยั่งยืน

จากเป้าหมายที่ต้องการนำ ศรีตรังโกลฟส์ เป็นตัวแทนผู้ผลิตถุงมือยางสัญชาติไทยไปสร้างชื่อในเวทีโลก พร้อมๆ กับการแสวงหาโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้างทำให้ จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ จำกัด (มหาชน) ต้องเตรียมการทางธุรกิจที่เข้มข้นไปด้วยกำลังการผลิต ประสิทธิภาพ เพื่อรองรับมาตรฐานทางธุรกิจและพาทีมงานทุกระดับชั้นเติบใหญ่ไปด้วยกัน ทิศทางด้านอนามัยของโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณการใช้งานถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปีทำหน้าที่ปกป้องการสัมผัสของผู้ทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนทางการแพทย์และครัวเรือน โดยพบว่าเป็นความต้องการถุงมือยางนั้นเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 12% ต่อปี และคาดว่าความต้องการจะพุ่งสูงถึง 3 แสนล้านชิ้นในปีนี้ ขณะที่การพัฒนาระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศก็มีส่วนสำคัญประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราการใช้จ่ายทางแพทย์ต่อปีจะเพิ่มเฉลี่ยราว 8-10% ประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราการใช้จ่ายทางการแพทย์เฉลี่ยราว 5 % “อัตราการเจริญเติบโตของผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นในทุกประเทศทำให้เรื่องของการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบกับยังมีเรื่องของโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ หรือกระทั่งสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 เงื่อนไขการใช้ชีวิตเหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือที่เพิ่มขึ้น” จริญญา กล่าวสะท้อน ภาพรวมของอุตสาหกรรมถุงมือยางที่เจริญเติบโต เป็นกราฟที่ทะยานควบคู่ไปกับการรุกการขยายกำลังการผลิตของศรีตรังโกลฟส์ พร้อมรับโอกาสและการเติบโตจากตลาดที่สดใสมาตั้งแต่ปี 2560  และเป็นช่วงที่จริญญา กลับมาร่วมงานกับศรีตรังโกลฟส์อีกครั้งและนั่งตำแหน่งผู้บริหารเบอร์หนึ่งขององค์กร โดยแผนการขยายฐานและการผลิตของศรีตรังโกลฟส์คือการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตจากจำนวน 3.3 พันล้านชิ้น สู่จำนวน 5 หมื่นล้านชิ้นในปี 2568 และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลของการระดุมในตลาดทุน เพื่อนำเงินมาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและชำระหนี้ต้นทุนบางส่วน “จากการเพิ่มกำลังการผลิตในเฟสแรกที่ 5 หมื่นล้านชิ้น เราจะทำต่อเนื่องไปอีกในเฟสที่สองที่จำนวนหนึ่งแสนล้านชิ้นในปี 2568” จริญญากล่าวด้วยความมั่นใจ ความมั่นใจและน้ำเสียงที่มุ่งมั่นของเธอมาจากประสบการณ์ที่ได้รับบ่มเพาะจากการทำงานที่ศรีตรังโกลฟส์ตั้งแต่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคุณภาพ เลื่อนชั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิต ผู้จัดการโรงงาน ตามลำดับ จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจกลุ่มผู้บริหารระดับสูงให้รับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ในปัจจุบัน แม้จะมีช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างปี 2555 – 2561 ที่จริญญาลาออกจากบริษัท แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคใดๆ ในการสานต่อและเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตและการบริหาร “สิ่งที่เห็นได้หลังกลับเข้ามารับตำแหน่งศรีตรังโกลฟส์อีกครั้ง คือ เรื่องเทคโนโลยีและกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว มีเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีความเร็วของเครื่องจักร มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์” จริญญา จิโรจน์กุล กล่าว นอกจากประสิทธิภาพในการผลิตและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ยังมีอีก 2 เงื่อนไขสำคัญ  ที่ทำให้ผู้ประกอบกิจการธุรกิจถุงมือยางสามารถแข่งขันในโลกเวทีต่างๆ ได้ คือต้นทุนและแรงงานคน ศรีตรังโกลฟส์ ได้นำระบบ AI เข้ามาควบคุมกระบวนการผลิตในโรงงานทุกขั้นตอน อย่างโรงงานผลิตที่อำเภอหาดใหญ่ ใช้ระบบ AI ควบคุมการผลิตเกือบทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องถอดถุงมือ เรียงถุงมือ การลำเลียงถุงมือมาจัดเก็บในโรงงาน ลดภาระหน้าที่ของแรงงานและแรงคน เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และควบคุมเรื่องเวลาได้ โดยปัจจุบันศรีตรังโกลฟส์กำลังโฟกัสการพัฒนาเทคโนโลยี “ระบบเซนเซอร์” เพื่อตรวจจับสินค้าที่ผิดพลาด “เรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีด้านเซ็นเซอร์ตรวจจับที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความเร็วการผลิตของเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยใช้เทคโนโลยีแบบหนึ่งกับความเร็วที่ 25,000 ชิ้นต่อชั่วโมง แต่เมื่อเครื่องถูกปรับความเร็วเป็น 45,000 ชิ้นต่อชั่วโมง เทคโนโลยีที่ใช้ก็จะปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับความเร็วของเครื่องเพื่อไม่ให้สินค้าหลุดไปถึงมือลูกค้า”
จริญญา จิโรจน์กุล
ถุงมือน้ำยางธรรมชาติแบบมีแป้ง
จากการพัฒนาและขยายฐานการผลิตจะมุ่งเป้าไปที่การผลิตถุงมือยางธรรมชาติเป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนที่ 60-70% ของกำลังการผลิต ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือจะเป็นการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ ที่ผลิตจากน้ำยางสังเคราะห์เพื่อใช้สำหรับการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ จริญญากล่าวเสริมด้วยว่าถุงมือยางธรรมชาติแบบมีแป้งจะเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ใช้เป็นทัพหน้าในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย การเดินสายพบปะกับลูกค้าโดยตรง หรือเข้าร่วมงานแสดงระดับโลกในทั่วโลก อาทิ เยอรมัน อเมริกา หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อค้นหาพันธมิตรใหม่ๆ ทางการค้า “ประเทศที่กำลังพัฒนามีอัตราการใช้ถุงมือยางค่อนข้างน้อยเฉลี่ย 10 ชิ้นต่อคนต่อปี ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาจะมีอัตราการใช้ถุงมือยางสูงถึง 100 ชิ้นต่อคนต่อปี และถ้ามาเทียบประชากรของฝั่งจีน อินเดีย แอฟริกาที่มีประชากรหลักพันล้านคน แต่มีอัตราการใช้ถุงมือแค่ 4 ชิ้นต่อคนต่อปี เราจะเห็นว่าเรามีช่องทางการเติบโตแน่นอน” จริญญากล่าวเสริมว่า สำหรับในกลุ่มประเทศ CLMV จริญญามองโอกาสการเติบโตของตลาดเวียดนามเป็นสำคัญ เนื่องจากมีความต้องการการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น “ตัวเลขที่ตั้งใจไว้คือการเติบโต 2 หลักในทุกปี บางปีเราเคยขึ้นถึง 50 % เมื่อปีที่ผ่านมา เราขยายฐานการตลาดไป 95 ประเทศทั่วโลก เราเองหวังว่าจะขยับขยายให้ครบทุกประเทศ ไม่ว่าจะกลุ่มประเทศเล็กๆ หรือกลุ่มตลาดใหญ่ อย่างละตินอเมริกา ตลาดพวกนี้คือเป้าหมายที่ศรีตรังโกลฟส์ตั้งใจว่าจะเข้าไปตามเก็บให้ครบ” โดยสัดส่วนการส่งออกในแต่ละปีอยู่ที่ราว 85-90% สัดส่วนในประเทศราว 10% ซึ่งปีที่ผ่านมาส่งออกไปยังอเมริกาและจีนมากที่สุดโดยมีกลยุทธ์สำคัญด้านราคาและคุณภาพที่ดี พร้อมไปกับบริการจากทีมขายที่ช่วยซับพอร์ตลูกค้า นอกจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี สิ่งที่ จริญญาให้ความสำคัญมากๆ คือการพัฒนาและบริหารคน เนื่องจากคนและเทคโนโลยีไม่สามารถแยกออกจากกันได้  ฉะนั้นการที่จะสร้างให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ทุกคนต้องรับรู้เป้าหมายร่วมกัน รู้หน้าที่การทำงานที่ชัดเจน ลองผิดลองถูก และกล้าตัดสินใจ พร้อมกับลงมือทำในทันที “หลักการบริหารงานที่ผ่านมา เมื่อฟันธงไปแล้วว่าเราจะไปทิศทางไหน สิ่งสำคัญคือต้องลงมือทำทันที เพราะถ้าตัดสินใจแล้วไม่ลงมือทำเท่ากับย่ำอยู่ที่เดิม” จริญญากล่าวและเสริมถึงการพัฒนาคนในองค์กร จริญญา จิโรจน์กุล ที่ศรีตรังโกลฟส์ ทุกคนก็จะเห็นเส้นทางในอาชีพของตนเองถ้าพวกเขามีความมุ่งมั่นมากพอ จริญญายกตัวอย่างทีมงานที่ไต่เต้าจากนักเคมีในไลน์การผลิต จนกระทั่งปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการโรงงาน หรือตัวอย่างที่ตัวเธอซึ่งไต่เต้าการทำงานจนกระทั่งรับตำแหน่งสูงสุดในครั้งนี้ “เรากำลังขยายตัวโรงงานเพิ่มอีก 5-6 แห่งภายใน 5 ปี เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่อยู่ในระดับหัวหน้าแผนก อาจจะได้รับการโปรโมตเป็นหัวหน้าส่วน เป็นหัวหน้าฝ่าย ทุกคนมีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน สำหรับคนที่เราเห็นว่าเขาเป็นสตาร์จริงๆ” นอกจากนี้ความภูมิใจอีกอย่างของเราคือการสร้างงานให้คนในชุมชนในจังหวัดทางภาคใต้ ใช้คนในพื้นที่เป็นหลัก “บางคนเคยอยู่กรุงเทพฯ ทำงานแล้วอยากกลับมาบ้าน พอเขารู้ว่ามีแหล่งงานที่บ้านเขาก็ยอมลดเงินเดือนลดลงหน่อยนึงแต่เขาก็จะรู้สึกถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ได้อยู่กับพ่อกับแม่และครอบครัว เขาก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดและมาทำงานกับเรา” Forbes Fact
  • อุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางแข่งกันที่ต้นทุนราคาต่ำแต่คุณภาพสูง
  • สายการผลิตถุงมือยางในปัจจุบันมี 145 สายการผลิต และสามารถเดินเครื่องต่อเนื่องมากกว่า 24 ชั่วโมง
  • ต่อสายการผลิตศรีตรังโกลฟส์ใช้แรงงานราว 2.5 คน ถือว่าต่ำกว่าเบอร์หนึ่งของโลกที่ใช้แรงงานราว 3.5 คนต่อสายการผลิต
  • น้ำยางที่ใช้ในการผลิตมีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยเพียงอย่างเดียว
  • นวัตกรรมใหม่ที่เตรียมเปิดตัวคือ ถุงมือยางไนไตรล์ Tin-NBR ที่บางกว่าและทนทานยิ่งขึ้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม: บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ เตรียมขายหุ้น IPO ระดมเสริมแกร่ง มุ่งเป้าผู้ผลิตถุงมือยางท็อป 3 ของโลก


ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine