ชูเดช คงสุนทร WICE เปิดทางเชื่อมยูโรเอเชีย - Forbes Thailand

ชูเดช คงสุนทร WICE เปิดทางเชื่อมยูโรเอเชีย

ความมุ่งมั่นขยายเส้นทางธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรครอบคลุมทั้งผืนน้ำจรดแผ่นฟ้าผสานพรมแดนการค้าระหว่างประเทศ พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรจีนและมาเลเซียก่อตั้งบริษัทร่วมทุน ETL ปลดล็อกการขนส่งข้ามแดนทางถนนและรถไฟ ขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้นำระดับเอเชีย


    กว่า 3 ทศวรรษในการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากการขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นหลักสู่การเป็นบริษัทโลจิสติกส์สัญชาติไทยของครอบครัวคงสุนทรที่ซื้อหุ้นบริษัทจากกลุ่มหุ้นส่วนชาวฮ่องกงและสิงคโปร์ในทศวรรษต่อมา พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและจดทะเบียนมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จในปี 2558 “บริษัทเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2536 และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาการสำคัญเกิดขึ้นช่วงหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นปีที่ขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง WICE เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจรรวมทั้งให้บริการในลักษณะ multimodal นำเสนอโซลูชันที่หลากหลายผสมกัน เช่น รถต่อรถไฟ เรือต่อรถ หรือเรือต่อเครื่องบิน”

    ชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE เล่าถึงภาพรวมธุรกิจในปัจจุบันจากจุดเริ่มต้นเส้นทางกับ อารยา คงสุนทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นทั้งคู่ชีวิตและคู่คิด การทำงานร่วมกันสร้างการเติบโตไต่ระดับตั้งแต่ยังมีจำนวนพนักงานเพียง 4-5 คน จนสามารถยืนหยัดบนเวทีเดียวกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร ทั้งการขนส่งทางทะเล (sea freight) การขนส่งทางอากาศ (air freight) การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน (crossborder services) รวมทั้งงานบริการด้านซัพพลายเชนโซลูชัน ประกอบด้วยการให้บริการด้านพิธีการศุลกากรควบคู่การขนส่งในประเทศและคลังสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ

    นอกจากนั้น บริษัทยังมีการจัดตั้งบริษัทในเครือในหลายประเทศและขยายสาขาในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย ซึ่งเปิดให้บริการรวม 9 แห่ง ประกอบด้วย WICE Logistics (Singapore) Pte.Ltd., WICE Logistics (Malaysia) Sdn.Bhd. สาขา Kuala Lumpur, Johor Bahru และ Penang, WICE Logistics (Hong Kong) Ltd. สาขาฮ่องกง, Shanghai, Guangzhou, Shenzhen และ Ningbo พร้อมกับขยายฐานลูกค้าไปยังอุตสาหกรรมที่หลากหลายและแนวโน้มเติบโตสูง เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น

    “WICE อยู่ในตลาดมา 30 ปีแล้ว และได้รับการยอมรับจากลูกค้าระดับโลก แม้ตลาดโลจิสติกส์จะแข่งขันสูงและมีผู้เล่นจำนวนมาก แต่เราเน้นการนำเสนอโซลูชันโลจิสติกส์มากกว่าการแข่งขันในด้านราคา ซึ่งเรามั่นใจในเรื่องการให้บริการและโซลูชันที่สามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้” ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 สามารถสร้างการเติบโตด้านรายได้รวมจำนวน 7.14 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 554 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การเพิ่มศักยภาพบริหารต้นทุนค่าขนส่งร่วมกับบริษัทในเครือ พร้อมทั้งรักษาอัตรากำไรสุทธิ 7.76% รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณงานขนส่งและบริการเกี่ยวเนื่องกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

    “เราวางกลยุทธ์ความร่วมมือในกลุ่มธุรกิจจากสาขาในต่างประเทศหลายสาขาและการจับมือกับคู่ค้ารวมถึงลูกค้าของเราในการขยายธุรกิจร่วมกัน เช่น SAT ในโครงการนำร่องด้าน Green Logistics Hub และจับมือกับ N-Squared ทำตลาดอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็น B2B โรงงาน ผู้ผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งเราพยายามช่วยให้ลูกค้าสามารถขายของได้มากขึ้น โดยช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาลูกค้าของเราเห็นความสำคัญของช่องทางออนไลน์มากขึ้นแต่อาจจะไม่เคยทำ เราต้องหาวิธีช่วยเขาทำให้เราจับมือกับ N-Squared ที่มี know-how และแพลตฟอร์ม E-Market ส่วนเรามีลูกค้า B2B จำนวนมาก ถ้าลูกค้าขายออนไลน์ได้ N-Squared ได้งานเพิ่ม เราก็ได้งานเพิ่ม”

    ชูเดชกล่าวถึงความร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท เอ็น-สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด เมื่อปลายปีที่ผ่านมาในการทำตลาดออนไลน์ในรูปแบบอีดิสทริบิวเตอร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งสำหรับบริหารการขายสินค้า รวมถึงให้บริการขนส่งสินค้าจากประเทศต้นทางไปยังกลุ่มลูกค้าใน
ประเทศและการจัดการคลังสินค้าแบบพร้อมส่ง (fulfillment center) 

    โดยสามารถช่วยเพิ่มปริมาณงานให้บริษัทและขยายฐานลูกค้าเดิมไปยังกลุ่ม B2B2C (Business-to-Business-to-Customer) ในอนาคตนอกจากนั้น บริษัทยังลงนามความร่วมมือกับ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ซึ่งได้เริ่มเข้าไปปรับปรุงและพัฒนาที่ดินของกลุ่มสมบูรณ์ฯ บริเวณโรงงานย่านถนนบางนา-ตราด กม.15 จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการบริหารจัดการด้าน Green Logistics Hub โดยจะพัฒนาเป็นคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่อยอดสู่การพัฒนาในจังหวัดระยองต่อไป ซึ่งจะใช้ศักยภาพของทั้งสองฝ่ายมาบริหารจัดการร่วมกันในการขยายธุรกิจคลังสินค้าและการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร

    “เราต้องการให้ WICE เติบโตอย่างยั่งยืนเป็นร้อยปีเป็นเป้าหมายระยะยาวของเรา ซึ่งในระยะสั้นและระยะกลางเรายังต้องการขยายไปยังโอกาสใหม่ๆ หรือตลาดใหม่ๆ เสมอ ด้วยเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ย 15-20% โดยต้องบอกว่า WICE เป็นองค์กรที่มีความทะเยอทะยานในการสร้างการเติบโตและสร้างทีมงานให้เติบโตพร้อมกับองค์กร ตรงนี้เป็นโจทย์ท้าทายที่เราต้องพยายามทำให้สำเร็จ”

    ETL รุกโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนภายใต้เป้าหมายที่วางไว้ในการขยายการลงทุนสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศครอบคลุมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ด้วยการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพขององค์กรสู่การเป็นผู้เล่นในภูมิภาคสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมให้บริการด้านโลจิสติกส์และโซลูชันซัพพลายเชนที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งรักษาฐานลูกค้าเดิมและรองรับการขยายฐานลูกค้าใหม่ในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของประเทศ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้และสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มสูงขึ้น

    ดังนั้น บริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญในการยกระดับการเติบโตทางธุรกิจทุกมิติเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำของเอเชียใน 3 ปี (ปี 2566-2568) โดยลงทุนในธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน หรือ cross border transportation services ด้วยการก่อตั้ง บริษัท ยูโรเอเชีย โทเทิล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETL ซึ่งเริ่มจากการขนส่งในประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับไทย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา ลาว และเมียนมา และขยายเส้นทางการขนส่งครอบคลุมประเทศต่างๆ ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง

    “บริษัทเราเริ่มจากศูนย์ตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ในการขนส่งข้ามพรมแดน ไม่เฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน แต่มองยาวถึงรถไฟเชื่อมต่อของจีนไปยังตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และยุโรป ซึ่งตอนนี้ยังเป็นแค่เฟสแรกในการขยายพรมแดนอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวเป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาคภายใน 3 ปี ตามวิสัยทัศน์ของ WICE โดยจุดขายของเราอยู่ที่การนำเสนอความแตกต่างเรื่องความปลอดภัยและระยะเวลาที่เราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ รวมถึงความเชื่อมั่นในนามบริษัทลูกของ WICE และการให้บริการที่ต้องอาศัยทีมงานเป็นหลัก ซึ่งรถที่เราให้บริการจะมีคนขับ 2 คนสับเปลี่ยนกันเพื่อความปลอดภัยและสร้างมาตรฐานการบริการ ทั้งยังต้องออกแบบเส้นทางการเดินรถตั้งแต่เติมน้ำมัน แวะพัก โดยจอดได้เฉพาะที่เราอนุญาต ซึ่งเรามี command center มอนิเตอร์ติดตามรถตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่สตาร์ทเครื่องถึงปลายทาง”

    สำหรับการให้บริการของบริษัทแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การขนส่งสินค้าแบบเต็มตู้ (Full Truck Load: FTL) การให้บริการขนส่งสินค้าแบบเต็มตู้คอนเทนเนอร์ หรือเหมาทั้งตู้คอนเทนเนอร์ โดยสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์จะเป็นของผู้ส่งหรือลูกค้าเพียงรายเดียว ด้วยบริการในลักษณะ door to door หรือการนำรถบรรทุกพร้อมตู้คอนเทนเนอร์ไปรับสินค้าจากโรงงานหรือคลังสินค้าของผู้ส่งสินค้า (shipper) และส่งไปยังโรงงานหรือคลังสินค้าของผู้รับสินค้า (consignee) 

    ขณะเดียวกันบริษัทยังให้บริการขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มตู้ (Less than Truck Load: LTL) โดยให้บริการขนส่งสินค้าที่สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์จะเป็นของลูกค้ามากกว่า 1 รายแบ่งใช้พื้นที่ร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มีปริมาณขนส่งไม่มากพอที่จะเช่าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้เพื่อบรรจุสินค้าเฉพาะของตนเอง ซึ่งสินค้าจะถูกนำมาส่งยังจุดรวมสินค้า (hub) ของบริษัท โดยบริษัทมีหน้าที่รวบรวมสินค้า คำนวณพื้นที่ในการจัดวาง และจัดทำแผนงาน (consolidation plan) จากนั้นจึงขนส่งสินค้าไปส่งยังจุดรวมสินค้า (hub) ปลายทางของบริษัทตามตารางเวลาการขนส่งที่บริษัทกำหนด

    “การค้าชายแดนของบ้านเราเติบโตอย่างรวดเร็วและองค์ประกอบต่างๆ ช่วยให้สินค้า flow มากขึ้น เช่น FTA กฎกติกา หรือถนนต่างๆ ทำให้เราเห็นโอกาสในการจับมือกับพาร์ตเนอร์ฝั่งมาเลเซียและจีนก่อตั้ง บริษัท Euroasia Total Logistics ถึงวันนี้ประมาณ 4 ปีกว่า ด้วยการให้บริการที่แตกต่างในขณะนั้นจากเดิมที่การขนส่งข้ามชายแดนจะเป็นการนำของลงจากตู้และโหลดเข้าไปตู้ใหม่ขึ้นรถคันใหม่ ส่งผลให้สินค้าอาจจะเสียหาย สูญหาย และเสียเวลาได้ แต่โมเดลให้บริการของเราจะเป็นการย้ายตู้ทั้งใบขึ้นรถคันใหม่ รวมถึงเรายังมีนวัตกรรมเรื่องระบบสมาร์ทล็อกและใช้รหัสปลดล็อกเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าตลอดเส้นทาง โดยส่วนใหญ่สินค้าที่ขนส่งจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์” 

    ชูเดชกล่าวถึงการพัฒนาธุรกิจด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เช่น การเชื่อมต่อการขนส่งทางถนนกับการขนส่งทางรถไฟ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีส่วนในการควบคุมและรายงานสถานการณ์ขนส่ง เป็นต้น 

    ด้วยความเชื่อมั่นในโอกาสที่เล็งเห็นจากการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนทางบกที่ใช้เวลารวดเร็วและกำหนดระยะเวลาได้แน่นอนกว่าการขนส่งทางน้ำ ทั้งยังมีอัตราค่าบริการคุ้มค่ากว่า รวมถึงช่วยลดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และปัจจัยค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    “เราวางแผนนำ ETL เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขยายการเติบโตในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำงาน เช่น หัวลาก ตู้คอนเทนเนอร์ การเพิ่มจำนวนรถและการขยายตลาดมากขึ้น เช่น สินค้าควบคุมอุณหภูมิ refrigerated container หรือ reefer container เพราะเราเห็นศักยภาพในการเติบโตของตลาดนี้ โดยเฉพาะบ้านเราส่งออกผลไม้จำนวนมาก และ pain point เรื่องผลไม้ที่เสียหายจากการขนส่งไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งหมวดอาหาร นม เนย เครื่องดื่มต่างๆ ถ้าเราทำอย่างจริงจังมูลค่าจะมหาศาล ซึ่งเราสามารถนำเสนอโซลูชันตู้ที่มีการออกแบบพิเศษนอกจากการคุมอุณหภูมิยังช่วยให้ผลไม้สดด้วย เพื่อให้สินค้าไม่เสียและได้ราคา ด้วยระยะเวลาการส่งเร็วกว่าทางเรือจาก 1 เดือนเหลือไม่เกิน 1 อาทิตย์ถึงประเทศจีน”

    นอกจากนั้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการศึกษาและพัฒนาการให้บริการขนส่งรูปแบบใหม่เพิ่มเติม เพื่อบูรณาการการขนส่งทางถนนเข้ากับการขนส่งทางรางรถไฟ (road-rail transportation) ประเทศจีน-ประเทศลาว และแผนขยายการให้บริการขนส่งด้วยรางรถไฟที่สามารถเชื่อมต่อจากจีนไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง ลดการติดค้างของสินค้าหน้าด่านศุลกากร และเชื่อมต่อเส้นทาง One Belt One Road (OBOR) ของจีนที่เป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตามแนวเส้นทาง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากแผน OBOR ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดด้านปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือกันของนานาประเทศ 

    “ยอดขายของ ETL อาจจะสะดุดไปบ้างจากโควิด-19 เนื่องจากจีนมีนโยบาย Zero-Covid ปิดด่านประมาณ 6 เดือน ทำให้ ETL ได้รับผลกระทบ บางครั้งต้องจอดรถรอ 2-3 อาทิตย์ เพราะด่านปิดทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ทำให้เรามีโซลูชันใหม่เปลี่ยนเส้นทางมาใช้รถไฟเป็นทางเลือกให้ลูกค้า โดยหลังจากด่านเปิดปกติลูกค้าก็ยังเลือกต่อรถไฟได้ ตรงนี้เรามองว่าถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ดีก็จะกลายเป็นโอกาสของเรา เช่น ช่วงเริ่มต้นโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีก่อน ไฟลต์บินหายหมด แต่โรงงานลูกค้ายังผลิตและต้องส่งออก โดยขณะนั้นเรามี ETL สามารถขนส่งข้ามพรมแดนทางบกให้ได้ เพราะสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ยินเมื่อมีปัญหาคือ เขามีทางเลือกอะไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาเราสามารถทำได้ดีจากผลประกอบการของเราและเป็นวิธีการสร้างการเติบโตของเราในการจับเทรนด์ปัญหาให้เป็นโอกาส”

    ชูเดชกล่าวถึงรายได้รวมของ ETL ในปี 2565 จำนวน 1.48 พันล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2564 ที่มีรายได้จำนวน 1.87 พันล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าของบริษัทที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ และการปิดพรมแดนระหว่างประเทศทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการขนส่ง รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการใช้รถขนส่งแบบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งกลุ่มบริษัทเพื่อลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    “ธุรกิจโลจิสติกส์ยังสามารถเติบโตได้ตามการค้าที่ขยายตัว แต่ความท้าทายคือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงถ้าไม่เตรียมตัวให้ดีอาจจะรับมือไม่ได้ หรือปัญหาบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเป็นปัญหาและยังส่งผลกระทบรุนแรงด้วย ทำให้เราต้องเตรียมตัวและมีแผนสำรองไว้ อย่างการทำงานที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ออฟฟิศเป็นแผนสำรองของเรา ด้วยการเตรียมระบบหลังบ้านให้รองรับการทำงานนอกสถานที่ไว้ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ทำให้สามารถรอดโควิด-19 ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน และเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราสามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ โดยเฉพาะในธุรกิจโลจิสติกส์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีทั้งการทำงานเชื่อมต่อกับคู่ค้า ลูกค้า การมอนิเตอร์ 24 ชั่วโมง การมองเห็นข้อมูลล่วงหน้าเพื่อวิเคราะห์วางแผน และให้โซลูชันลูกค้า”

    ความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจสุดท้ายยังขึ้นอยู่กับการทำงานเป็นทีมและสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการแลก-เปลี่ยนทักษะความเชี่ยวชาญของทีมงานประเทศต่างๆ ให้เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้และนำเทคโนโลยีมาใช้ในโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาโซลูชันตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและสร้างการเติบโตพร้อมกัน

    “เราเน้นการทำงานเป็นทีมและมีส่วนร่วมกับทีมงาน รวมถึงการสื่อสารและให้ความสำคัญกับ learning and growth พนักงานต้องเปิดใจเรียนรู้และเติบโต เพราะเรามีเทคโนโลยีและโซลูชันใหม่เข้ามาตลอดเวลา ถ้าไม่เรียนรู้ก็ไม่สามารถเติบโตได้ ซึ่งเรามีสาขาหลายประเทศ และจุดเด่นของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง knowledge และ expertise ต่างกัน โดยเราสามารถแลกเปลี่ยนวิธีการทำงานกันได้ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และสุดท้ายนำไอทีมาใช้ในโลจิสติกส์ให้เราพัฒนาโซลูชันได้อย่างรวดเร็ว เพราะในธุรกิจโลจิสติกส์แข่งกันที่ใครทำได้เร็วกว่าในเวลาที่จำกัด ถ้าเราให้คำตอบเขาช้า เขาอาจจะไปที่อื่น ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นการเป็นองค์กรที่เรียนรู้ตลอดเวลา และพนักงานทุกคนมีความต้องการเติบโตร่วมกับองค์กรที่กำลังเติบโต”


อ่านเพิ่มเติม : เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจในไทยต่อเนื่อง ผุด “พาร์ค อินน์ บาย เรดิสัน” ในกรุงเทพฯ เล็งเปิดตัวปี 67

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine