ปัจจุบันการซื้อ-ขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์กลายเป็นที่นิยมจำนวนมากเพราะช่วยตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ก็ยังคงทำให้กลุ่มผู้บริโภคต้องประสบปัญหาอยู่เช่นกัน นั่นก็คือเรื่องของขั้นตอนการชำระเงินที่อาจจะมีความยุ่งยากซ้ำซ้อนในการกรอกข้อมูล นี่จึงถือเป็นการจุดประกายไอเดียเริ่มต้นของธุรกิจบริการจาก Beam ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่อเนื่องไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่สามารถสั่งซื้อของและชำระเงินได้อย่างง่ายดายภายในคลิกเดียวแบบ One-Click Checkout
2 หนุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง Beam ถือเป็น 1 ในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีรายชื่อติดอยู่ในลิสต์ผู้ประกอบการ คนรุ่นใหม่ และผู้สร้างแรงบันดาลใจสู่เอเชีย "30 Under 30 Asia 2023" ที่ Forbes เอเชีย ได้จัดทำขึ้นล่าสุดในปีนี้ โดย ชัยชนะ วารีเกษม (วิน) ในฐานะ CEO และ ณัฐภัทร ไชยมโนวงศ์ (เอิร์ธ) ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี หรือ CTO ต่างก็ช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวพร้อมแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจให้แก่ทีมงาน Forbes Thailand ได้เป็นอย่างดีภายในออฟฟิศย่านใจกลางเมืองที่ตกแต่งแบบทันสมัย แต่ก็ยังคงให้บรรยากาศดูสบายๆ เป็นกันเองตามสไตล์ของสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่
- ไอเดียผุด แก้จุด Pain Point -
ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2018 หลังเรียนจบด้านวิศวะจากอังกฤษและบินกลับมาไทย สายงานที่เรียนมาอาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์เพราะไม่ค่อยมีตัวเลือกเกี่ยวกับงานดังกล่าวในไทยมากนัก วินเล่าว่า เขาหันมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการทำงานที่ Roland Berger ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจจากประเทศเยอรมนีแทน โดยเน้นโฟกัสที่กลุ่มธุรกิจการสื่อสาร อย่าง Telecom และ เทคโนโลยีเป็นหลัก ประกอบกับเริ่มมีแนวคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
โดยไอเดียจุดประกายเกิดขึ้นมาจากการย้อนกลับไปคิดถึงปัญหาส่วนตัวที่เขาต้องวุ่นวายเสียเวลาอยู่กับการกรอกข้อมูลเอกสารต่างๆ ให้กับตนเองและสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวสำหรับการทำวีซ่าและเดินทางไป-กลับต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง วินจึงเริ่มมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีความคิดและความสนใจในแนวเดียวกันเพื่อร่วมก่อตั้งธุรกิจ
เอิร์ธ เรียนจบปริญญาตรีด้าน Softwear Engineer และปริญญาโทด้าน Finance ที่อังกฤษมาก่อน และได้กลับไทยมาทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่งในระยะเวลาเพียงไม่นาน เขาก็ค้นพบตัวเองได้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการเพราะเขารู้สึกสนุก มีใจรักและมี passion กับเรื่องของไอที เทคโนโลยีมากกว่า เอิร์ธได้ตัดสินใจบินกลับไปอังกฤษเพื่อเรียนต่อทางด้าน Computer Science อีกครั้ง หลังทำงานที่อังกฤษได้ระยะหนึ่งก็เริ่มคิดถึงบ้านและอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองด้วยเช่นกัน
เอิร์ธจึงตัดสินใจบินกลับไทย ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่น้องฝึกงานของวินที่ได้มีการพูดคุยถึงไอเดียธุรกิจนั้นรู้จักกับน้องสาวของเอิร์ธพอดี ทั้งคู่จึงได้โคจรมาเจอกัน พร้อมกับอีก 1 ในผู้ก่อตั้ง ได้แก่ ชินกฤต เปี่ยมชล (ไมค์) ที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โดยมีประสบการณ์การทำงานด้านธุรกิจค้าปลีกมาโดยตลอด ทั้ง 3 คนนี้จึงถือเป็นการร่วมผนึกกำลังในการเป็นสตาร์ทอัพผู้บุกเบิกธุรกิจรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว
ราวต้นปี 2019 วินเริ่มมุ่งมั่นกับธุรกิจที่จุดประกายไอเดียตัวเองอย่างจริงจัง เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำผันตัวมาเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพไปพร้อมๆ กับเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งอย่างเต็มตัว ซึ่งในช่วงบุกเบิกเริ่มแรกนั้น Beam ยังเป็นเพียงแอปพลิเคชั่นที่ต้องการทำออกมาเพื่อตอบโจทย์ pain point ในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดขั้นตอนการกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ที่ยุ่งยากผ่านออนไลน์เท่านั้น
แต่ทั้งนี้เมื่อได้ทำการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกอยู่บ่อยๆ จากการทำงานร่วมกับหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านคาเฟ่ ร้านเสื้อผ้าทั่วไป รวมถึงการทำงานเพื่อช่วยตอบโจทย์เหล่าผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งผลตอบรับหรือ feedback ที่ได้กลับมาก็คือ ถึงแม้ Beam จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ช่วยตอบโจทย์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างแท้จริงในเรื่องของยอดขายหรือรายได้ อีกทั้งยังจะต้องเจอกับอุปสรรคในเรื่องของการชำระเงินซื้อของที่มีความยุ่งยากต่อไปอีก
ยกตัวอย่างเช่น การซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านออนไลน์ ซึ่งในส่วนสุดท้ายลูกค้าหรือผู้ซื้อก็ยังจำเป็นจะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวอยู่ดี รวมถึงจะต้องกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือช่องทางต่างๆ ด้วย ท้ายที่สุดทีมงานจึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลทุกอย่างมาพัฒนาปรับปรุงให้กลายมาเป็นระบบรับชำระเงินผ่านออนไลน์ที่ใช้งานได้ง่ายขึ้นด้วยระบบแบบ One-Click Checkout อย่างในปัจจุบัน
- ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข -
นับจากปี 2021 ที่ Beam มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมาเป็นระบบชำระเงิน (Payment) แบบเต็มตัวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าต้องผ่านจุดล้มลุกคลุกคลานมาเยอะมากๆ วินบอกว่า ช่วงแรกอาจจะมีความกลัวและกังวลอยู่บ้างว่าธุรกิจจะมาถูกทางไหม อีกทั้งการเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพหน้าใหม่ การจะติดต่อธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ จึงค่อนข้างยากพอสมควร
ทาง Beam เองจึงได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและ feedback ต่างๆ จากการทำแอปในตอนแรกมาปรับปรุงแก้ไข รวมถึงดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) และ PCI DSS (Payment Card Industry Data Security Standard) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ใช้กับหน่วยงานที่เก็บ ดำเนินงาน และส่งข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ถือบัตรเครดิต กำหนดไว้ทุกอย่าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบที่มีประสิทธิภาพ
เราทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ อย่าง แสนสิริ ไทยสไมล์ หรือ ธุรกิจรายเล็กๆ อย่างคาเฟ่ และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม จากเดิมที่ธุรกิจต่างประสบปัญหาในกรณีที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคต้องกรอกข้อมูลผ่านออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ยังจะต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติมในการชำระเงินอีกหลายขั้นตอนอีก ซึ่งการชำระเงินที่มีขั้นตอนยุ่งยากมากลูกค้าบางรายอาจเปลี่ยนใจยกเลิกการสั่งซื้อกลางคัน
ดังนั้น Beam จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ลูกค้าด้วยการดีไซน์ออกแบบระบบการชำระเงินให้มีขั้นตอนการกดคลิกกรอกข้อมูลต่างๆ ได้น้อยที่สุด เพื่อสร้างประสบการณ์ด้าน conversion (กิจกรรมใดๆ ก็ตามของลูกค้าที่เข้ามาในเว็บไซต์แล้วทำให้เกิด value หรือ มูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การสั่งซื้อ การสมัครสมาชิก และอื่นๆ) ผ่านลิงก์การชำระเงินที่แปะอยู่ในเว็บไซต์ธุรกิจนั้นๆ เพื่อความสะดวกทั้งผู้ขายและผู้ซื้อผ่านออนไลน์นั่นเอง
“ในกลุ่มคนทำธุรกิจสตาร์ทอัพจะมี Culture ที่ว่า การทำธุรกิจสตาร์ทอัพก็เปรียบเสมือนการปีนยอดเขาเอเวอร์เรส เราต่างก็เลือกทางเดินของตัวเองเพื่อโฟกัสไปให้ถึงยอดเขาหรือเป้าหมาย ซึ่งระหว่างทางที่เดินหรือปีนขึ้นเขาไป เราอาจจะต้องเจอกับทางตันหรืออุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ในแทบทุกๆ วัน ซึ่งถ้าเราเจอทางตันก็ยังยินดีที่จะได้รู้ว่าทางนี้มันไปต่อไม่ได้ เราต้องแก้ไขหรือเปลี่ยนทางเดินใหม่เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้” วินกล่าว
ด้านณัฐภัทรในฐานะ CTO ของ Beam บอกเสริมว่า “สมัยตอนทำงานที่อังกฤษแตกต่างกับตอนมาทำงานที่ Beam อย่างสิ้นเชิง โชคดีที่เป็นคนกล้าลองผิดลองถูกเยอะ ชอบเรียนรู้ ชอบลองอะไรใหม่ๆ และไม่ค่อยกลัวเฟล ถ้าเราทำอะไรล้มเหลวมา เรียนรู้ ปรับปรุงแล้วเริ่มต้นใหม่”
หลังจากปรับเปลี่ยนจากแอปช่วยอำนวยความสะดวกในการกรอกข้อมูลมาเป็นระบบ Payment ที่ช่วยตอบโจทย์ธุรกิจเรื่องการชำระเงินก็จะเริ่มเห็นตัวเลขของบริษัทที่ทำธุรกิจ E-Commerce ค้าขายผ่านออนไลน์ที่หันมาเลือกใช้บริการของ Beam มากขึ้นอย่างชัดเจน และตัวเลขดังกล่าวก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องในทุกๆ เดือนมาถึงปัจจุบัน
“ทางเราจะฟัง feedback ทั้งสองด้านทั้งจากฝั่งร้านค้าเจ้าของธุรกิจและฝั่งผู้ซื้อว่าต้องการอะไร มีส่วนไหนที่ยังเป็นปัญหาในการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ แล้วจึงรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเอามาคิดต่อยอดออกมาเป็นฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น” CTO หนุ่มของ Beam บอกเล่าเรื่องราวให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจขายของออนไลน์ จะมี 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
1. E-Commerce ผ่าน Facebook, Instagram, Tiktok หรือ Line
2. Website
3. Marketplace เช่น Shopee, Lazada, Agoda และ Grab เป็นต้น
ซึ่งธุรกิจต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำลิงก์ระบบการชำระเงินแบบ One-click Checkout ของ Beam ที่ช่วยเชื่อมต่อการจ่ายเงินผ่านช่องทางต่างๆ แปะไว้ในช่องทาง E-Commerce หรือเว็บไซต์ของตนเองหรือส่งลิงก์ดังกล่าวต่อให้ผู้บริโภคได้ โดยลูกค้าหรือผู้บริโภคสามารถกดคลิกเลือกจ่ายเงินด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลายผ่านออนไลน์จากลิงก์ของ Beam ได้ไม่ว่าจะเป็น การโอนเงิน การใช้จ่ายผ่าน E-wallet หรือ การเลือกจ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อสะสมพ้อยต์ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
“พอลูกค้ากดลิงค์ปุ๊บก็จะเป็นหน้าจ่ายเงินของ Beam โดยมี option ทั้งหมดเลยให้เลือกว่า ลูกค้าจะผ่อนหรือจ่ายเงินด้วยจำนวนเต็ม หรือ จะเลือกจ่ายผ่าน E-wallet ต่างๆ เช่น Truemoney Wallet หรือ Line รวมถึงการเลือกจ่ายเงินแบบทั่วไปก็ทำได้เช่นกัน ถ้าลูกค้าอยากจ่ายบัตรเครดิตก็จะเป็นเพียงครั้งแรกเท่านั้นที่จะต้องกรอกข้อมูลบัตรต่างๆ ซึ่งการกรอกครั้งแรกอาจจะมีรายละเอียดเยอะนิดนึง ในการใส่ข้อมูลเลขบัตร หรือชื่อผู้ถือบัตร
แต่พอจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อยครั้งต่อไปในการซื้อของกับบริษัทที่ได้ร่วมกับ Beam ข้อมูลก็จะถูกเซฟไว้จากครั้งแรก (ซึ่งกรณีนี้ลูกค้ามีสิทธิเลือกกดเซฟ/ไม่เซฟข้อมูลก็ได้) แต่เพื่อความสบายสูงสุด ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเลือกเซฟข้อมูล ซึ่งในครั้งที่สองในการชำระเงินซื้อของ ลูกค้าก็สามารถกดคลิกเดียวเพื่อจ่ายเงินได้เลย ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ก็เหมือนกับการจ่ายเงินใน Shopee หรือ Lazada ที่มีให้กดเซฟข้อมูลได้อย่างสะดวก แต่ของ Beam คือ เราทำระบบจ่ายเงินให้กับเหล่าธุรกิจ E-commerce ผ่านเว็บไซต์ของเขา เพื่อตอบโจทย์จากการที่หลายๆ ร้านค้าไม่ได้มี resource ในการพัฒนาระบบเหล่านี้ขึ้นมาเอง” เอิร์ธกล่าว
- เทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง Beam พัฒนาเสมอ -
จากพนักงานทั้งหมดที่มีไม่ถึง 10 คน ในปี 2021 ปัจจุบัน Beam มีทีมงานและผู้บริหารที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรงเพิ่มขึ้นเป็น 30 คน และยังตั้งเป้าจะขยายธุรกิจพร้อมทีมงานไปให้ถึง 100 คนได้ในอนาคต นอกจากนี้ ตัวเลขของธุรกิจร้านค้าขนาดใหญ่และเล็กที่ใช้บริการระบบชำระเงินของ Beam One-Click Checkout ในปี 2023 ยังเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2021โดยมีแบรนด์ดังต่างๆ มากมาย อาทิ Rimowa, Leica, Bang & Olufsen และอื่นๆ เป็นต้น
วินยังบอกด้วยว่า “สิ่งสำคัญของธุรกิจหรือระบบของ Beam ก็คือ ความเสถียรและประสิทธิภาพในการทำงานของระบบที่เราโฟกัสมากๆ เรายังพยายามออกแบบระบบมาให้มีตัวสำรองในการทำงานอยู่เสมอ เช่น หากตัวแรกพังไป ตัวที่สองก็ยังทำงานได้ โดยที่กลุ่มลูกค้าจะไม่มีอิมแพคหรือผลกระทบใดๆ ในการใช้งานรวมถึงระบบความปลอดภัยในการชำระเงินที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้อยู่แล้ว”
ขณะที่เอิร์ธ กล่าวว่า ฝ่ายเทคโนโลยีของเรามีการพัฒนาระบบมาแล้วกว่า 30-40 เวอร์ชั่นเพื่อให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าหรือผู้ใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทางทีมงานจะต้องไม่หยุดนิ่งและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ทีมงานในฝ่ายไอทียังเคยมีประสบการณ์การทำงานกับ Goldman Sachs ซึ่งถือเป็นบริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำของโลกโดยมีความรู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลทางการเงิน
“ระบบของเราเป็นระบบใหม่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ที่ยูนีคมากสุดคือ ตั้งแต่เริ่มแรกเราจะดีไซน์ระบบในรูปแบบโมดูล่าที่สามารถดึงออกแล้ว replace ในแต่ละส่วนแยกกันได้หมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบบโตได้เร็วและยังสามารถอัปเกรดพัฒนาโปรดักส์ใหม่ๆ ได้ง่ายถ้าหากเราออกแบบระบบมาได้แบบสมบูรณ์ที่สุดในตอนนี้ แต่ถ้ามันปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบได้ยาก แล้วเทคโนโลยีในแต่ละวันเปลี่ยนไปไวมากๆ อีกไม่นานเราก็จะเจอคู่แข่งหน้าใหม่ๆ ที่แซงหน้าเราไปในที่สุด”
สำหรับแนวทางการคัดสรรทีมงานที่มาช่วยผนึกกำลังให้ระบบ Payment ของ Beam เติบโตได้อย่างรวดเร็วนั้น ทั้งวินและเอิร์ธต่างก็เห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน “ทีมงานแต่ละคนนั้นต่างก็มีความสามารถและเรียนรู้ได้ไวตามสไตล์คนรุ่นใหม่อีกทั้งวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระเต็มที่ เพื่อช่วยกันนำเอา feedback จากหลายๆ ด้าน มาตกผลึกเป็นไอเดียหรือ Solution ที่ดี และยังมีการนำการประเมินผลการปฏิบัติงานอย่าง OKRs (Objective and Key Results) เข้ามาใช้ เพื่อให้สมาชิกแต่ละทีมทำงานให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่วางไว้และบรรลุเป้าหมายของบริษัท” CEO หนุ่มของ Beam กล่าว
ขณะที่ CTO ผู้ดูแลด้านระบบเทคโนโลยีของ Beam ให้ความเห็นว่า เน้นการเลือกทีมงานฝ่ายไอทีในแบบ inhouse มากกว่าการจ้างงานแบบ outsource เพราะหากเป็นซอฟแวร์เฮาส์รับจ้างผลิต ทาง Beam เองจะควบคุมคุณภาพได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง และด้วย nature ของการเป็นสตาร์ทอัพ เราจึงต้องปรับตัวเยอะและต้องปรับตัวให้รวดเร็ว ดังนั้นการเลือกทีมงานไอที เราก็ช่างเลือกมากๆ ต้องหาคนที่เก่งจริงๆ และยังต้องมี culture ที่ฟิตกับทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานทุกคนด้วย
“เราให้ความยืดหยุ่นกับพนักงานค่อนข้างเยอะ เพราะเราเชื่อว่าเค้าจะมีความรับผิดชอบในการส่งมอบงานได้ตรงตามต้องการ และไม่จำเป็นต้องไปนั่ง micro manage เยอะ หรือต้องบังคับให้พนักงานแต่ละคนเข้า-ออกงานตามเวลาที่กำหนด คือเราจะให้อิสระกับเขาเต็มที่ แต่ท้ายที่สุดผลลัพธ์ในการทำงานต้องออกมาดี”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
อ่านเพิ่มเติม : ประวีรัตน์ เทวอักษร ปั้นคุณาลัยชนะเกมชานเมือง