เพราะตกหลุมรัก เงินดิจิทัล ทั้ง Bitcoin และ cryptocurrencies อื่นๆ ตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูเมื่อปี 2556 สมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ Stanford University ทำให้ “สรวิศ ศรีนวกุล” ค้นคว้าเรื่องเงินดิจิทัลอย่างจริงจัง ก่อนจะตัดสินใจเริ่มธุรกิจ Band Protocol กับหุ้นส่วนเพื่อรองรับการพัฒนาเงินดิจิทัลด้วยโซลูชั่นบล็อกเชน เพราะมั่นใจว่ามันจะเป็น store Value ใหม่ด้านการเงินของโลก
กลุ่มเทคโนโลยีองค์กรจาก 30 under 30 ที่จัดโดย Forbes Asia 2019 สรวิศ ศรีนวกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Band Protocol วัย 27 ปี เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่เพียงคนเดียวของไทยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นธุรกิจที่โดดเด่นในกลุ่มเทคโนโลยีองค์กร ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะ Band Protocol เป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนร่วมลงทุนรายใหญ่ SEQUOIA Capital ที่เคยให้การสนับสนุน Apple และ Google สมัยที่ยังเป็นเพียงสตาร์ทอัพ ก่อนจะเติบโตและยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน
“เราระดมทุนรอบแรกได้ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาจาก 3 VC ด้วยกัน นำโดย SEQUOIA Capital กองทุนใหญ่ระดับโล กกับอีก 2 กองทุนคือ Dunamu & Partners จากเกาหลีใต้ และ SeaX Ventures ของคนไทย” สรวิศ ศรีนวกุล ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Band Protocol เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเม็ดเงินที่เขาใช้ในการสร้างธุรกิจ หลังจากจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้นที่สิงคโปร์ (Chain Lab Private Limited) แต่ถือเป็นบริษัทไทยเพราะก่อตั้งโดยคนไทย และดำเนินกิจการอยู่ในเมืองไทย
แต่จุดเริ่มต้นก่อนหน้านั้น สรวิศและผู้ร่วมก่อตั้งได้ทำธุรกิจเกมที่ให้รางวัลผู้เล่นด้วย Bitcoin Ethereum ก่อนจะขายออกไปหลังจากประสบความสำเร็จ โดยมีผู้เล่นกว่า 5 แสนคน และได้รับความนิยมสูงทั้งที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป หลังจากนั้นจึงค่อยมาเริ่มทำ Band Protocol อย่างจริงจังในปี 2560 และสามารถระดมทุนครั้งแรกได้ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
“Band Protocol เป็นโซลูชั่นบล็อกเชนสำหรับนักพัฒนาที่ต้องการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง หรือต้องการสร้าง decentralized application เราให้บริการเรื่องดาต้าเป็นหลัก” สรวิศอธิบายถึงธุรกิจที่เขาทำในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่สรวิศบอกว่ามันคือการให้บริการด้านข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนั่นเอง
ด้วยดีกรีปริญญาตรีสาขา Computer Science และปริญญาโท Management Science and Engineering ที่ Stanford University สหรัฐอเมริกา ทำให้สรวิศคุ้นเคยกับเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนา เงินดิจิทัล ที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ใช้เวลานานนับปีในการค้นคว้าทำความเข้าใจก่อนจะตกผลึกว่าเงินดิจิทัล (cryptocurrencies) ก็คือเงินรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นอิสระ ไม่ถูกควบคุมด้วยคนกลางอย่างธนาคารหรือรัฐบาล เรียกว่าเป็นสกุลเงินที่มีความเป็นอิสระแบบ decentralized หรือกระจายอำนาจ เพราะมูลค่าไม่ได้ขึ้นกับธนาคารกลางหรือเศรษฐกิจของประเทศเหมือนเงินสกุลต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่เงินดิจิทัลจะถูกกำหนดโดยการเขียนโค้ดกำกับชัดเจน เรียกว่าควบคุมด้วยตัวเอง
แม้จะบอกว่าเงินดิจิทัลเป็น decentralized แต่ก็ยังต้องมีกลไกในการควบคุม ซึ่งนั่นก็คือดาต้าที่ได้จากผู้เข้ามาให้ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดมูลค่าของเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin, Ethereum, Litecoin ซึ่งสรวิศบอกว่า “ผมเชื่อ Bitcoin มากกว่าธนบัตรที่ถืออยู่ เพราะเงินเมื่อนำไปฝากธนาคารก็กลายเป็นเงินธนาคารไปแล้ว สมมติอยู่ดีๆ ธนาคารมาบอกว่ผมถูกแบล็กลิสต์ ห้ามถอนเงิน ทุกอย่างก็จบ เพราะธนาคารเป็นผู้คมกฎ แต่กับ Bitcoin ไม่ใช่ โค้ดเขียนไว้อย่างไรก็เป็นเช่นนั้น ไม่เปลี่ยน”
อย่างไรก็ตาม สำหรับเมืองไทยเงินดิจิทัลยังเป็นของใหม่ แม้กระทั่งทั่วโลกก็ตาม การยอมรับในเงินดิจิทัลยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนการยอมรับสกุลเงินจริงมาเป็นเงินดิจิทัล ซึ่งสรวิศบอกว่า "ระบบการเงินคือระบบความเชื่อซึ่งต้องใช้เวลา แต่ความเชื่อก็สามารถเปลี่ยนได้ อย่างสมัยก่อนใช้หอย ผ่านมาหลายศตวรรษก็กลายมาเป็นเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้" สรวิศเชื่อว่าในอนาคตเงินดิจิทัลจะเป็น store value เข้ามาแทนที่ทองคำในการสำรองเงินทุน แต่คงไม่สามารถทดแทนเงินจริงที่ใช้ในตลาดได้
สำหรับ Band Protocol ซึ่งสรวิศบอกว่าอยู่ระหว่างขยายงานหลังจากได้ทุนสนับสนุนก้อนแรกมา ล่าสุดมีนักพัฒนาแอพฯ มาทำเอ็มโอยูกับบริษัทแล้วกว่า 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ มีบริษัทไทยอยู่บ้าง เช่น การจัดการข้อมูลสำหรับวงการบันเทิงซึ่งผู้พัฒนาคอนเทนต์ไม่ได้เงินอย่างที่ควรเป็น เพราะรายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่คนกลางอย่าง YouTube กำลังดูว่าจะแก้ปัญหาด้วยการทำ decentralized เรื่องรายได้เจ้าของคอนเทนต์บันเทิงได้อย่างไร
เพราะธุรกิจของ Band Protocal คือการบริหารข้อมูลที่จะนำมากำหนดการตัดสินใจของเงินดิจิทัล ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่สรวิศทำคือเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลที่ชื่อว่า CoinHatcher เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับ Bitcoin เพื่อป้องการการป้อนข้อมูลลวงในการทำเงินดิจิทัล
"สำหรับผมสิ่งที่ทำไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่มันเป็นอะไรที่เปลี่ยนโลกได้จริงๆ” สรวิศย้ำและว่า ประเทศไทยก็มีโอกาสก้าวไปถึงจุดนี้ได้เพราะโลก globalization ยิ่งมีวิกฤตมากเท่าไรเงินดิจิทัลก็มีโอกาสเกิดมากเท่านั้น เช่นปัจจุบันเวเนซุเอลามีวิกฤตเงินไม่เหลือค่า ก็พบว่ามี Transaction Bitcoin เป็นอันดับหนึ่งเพราะคนหาทางออก นี่เป็นตัวอย่างของปัญหาจากการ centralized โดยรัฐบาล
“ตอนนี้ระบบนิเวศยังไม่เอื้อ แต่อีก 5-10 ปีข้างหน้ามันต้อง decentralized ไม่ยึดติดที่คนกลาง ไม่ว่าจะตัวผมหรือทีมงาน” สรวิศกล่าวถึงอนาคตของ Band Protocol ที่เขาเชื่อว่าทิศทางก็จะเป็นไปแนวทางเดียวกับการเกิดขึ้นของเงินดิจิทัล ซึ่งเขามั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคตอันใกล้
Forbes Facts- Band Protocol เลือกจดทะเบียนบริษัทที่สิงคโปร์ เพราะกฎหมายเอื้อต่อการก่อตั้งสตาร์ทอัพมากกว่าประเทศไทย
- Band Protocol มองว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะมีแอพฯ ด้านการเงินเกิดใหม่เป็นจำนวนมากรองรับเงินดิจิทัล
- Band Protocol มั่นใจว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยทำให้คนมีอิสระจากการ decentralized ในหลายๆ เรื่อง
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine