หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่วัยต่ำกว่า 30 ปีแห่งเอเชีย ผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรม 10 ประเภท และนี่คืออีก 5 ดาวเด่นที่เราขอนำเสนอในตอนที่ 2 ของ 30 Under 30 เอเชีย ปี 2018
หมวดการดูแลสุขภาพและวิทยาศาสตร์
Esther Wang, 30
ผู้ก่อตั้ง, Joytingle
สิงคโปร์
ระหว่างที่ทำงานเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลเด็ก Esther Wang ได้สังเกตเห็นความหวาดกลัวและความกังวลของเด็กๆ ก่อนเข้ารับการรักษาที่มีการใช้เข็ม
Wang หญิงสาวชาวสิงคโปร์วัย 29 ปีได้พัฒนาตัวการ์ตูนซึ่งเป็นของเล่นเพื่อการศึกษาที่มีชื่อว่า
Rabbit Ray โดย Rabbit Ray จะทำหน้าที่ปลุกปลอบใจเด็กๆ และบอกเล่าให้พวกเขาเข้าใจถึงวิธีการรักษาต่างๆ อย่างเช่นการฉีดยา การฉีดวัคซีน และการหยดยาเข้าทางหลอดเลือด รวมถึงยังสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเริ่มต้นพูดคุยเรื่องอาการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายและความตาย
Wang ใช้เวลาราว 4 ปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และความพยายามของเธอก็ประสบผลสำเร็จในที่สุด ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชั้นนำหลายแห่งใน 5 ประเทศนำ Rabbit Ray มาใช้ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็มีวางจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์สำหรับลูกค้าทั่วไปด้วย
อย่างไรก็ตาม Wang จะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เป้าหมายของเธอคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงบริการสุขภาพ “ฉันถามตัวเองอยู่เสมอว่า ‘ภาคส่วนต่อไปที่คุณจะสามารถทำสิ่งที่ส่งผลต่อคนเป็นพันล้านชีวิตและทำให้บริการด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้คืออะไร’”
หมวดอุตสาหกรรม การผลิตและพลังงาน
Shi Xiaogang, 27
ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ, Beijing XloongTechnologies
จีน
ในปี 2015 Shi Xiaogang ก่อตั้ง Xloong สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเออาร์ (augmented reality) ใน Beijing
แว่นตากีฬาของ Xloong ช่วยเหลือนักปั่นจักรยานด้วยแผนที่ดิจิทัลที่อิงกับเออาร์ และแว่นตา
Techlens T2 ของบริษัททำให้สามารถดำเนินการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ในระยะไกลด้วยการสแกนเครื่องจักร และแชร์รายการวิดีโอแบบเรียลไทม์กับวิศวกร ซึ่งตรวจสอบรายการดังกล่าวและป้อนข้อมูลตอบสนองลงไป
“ผมเชื่อว่าเออาร์จะมาแทนที่คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน แล้วกลายเป็นแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ต่อไป” Shi กล่าว
จากการได้รับเงินสนับสนุนโดยรัฐบาล Xloong กำลังผลิตแว่นเออาร์สำหรับตำรวจจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบภายในปีนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวซึ่งดูเหมือนแว่นตาทั่วไป สามารถจดจำใบหน้าและเชื่อมโยงกับประวัติต่างๆ บนฐานข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนของจีน เพื่อระบุตัวผู้ที่คาดว่าเป็นผู้ต้องสงสัย หากพบความเชื่อมโยง สัญญาณเตือนจะส่งไปยังมุมมองโลกจริงของเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยในการจับกุม
หมวดผู้ประกอบการเพื่อสังคม
Shriyans Bhandari, Ramesh Dhami, 23, 22
ผู้ร่วมก่อตั้ง, GREENSOLE
อินเดีย
Shriyans Bhandari และ
Ramesh Dhami ไม่ได้ตั้งต้นด้วยการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมแต่แรก หากแต่เป็นเพราะความบังเอิญ
ทั้งคู่พบกันระหว่างฝึกซ้อมก่อนลงแข่งขันวิ่งมาราธอน ในขณะที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งรองเท้าวิ่งนับโหลต่อปีลงถังขยะ ทั้งสองก็พบว่ามีผู้ด้อยโอกาสมากกว่า 1 พันล้านคนที่ไม่มีรองเท้าใส่ และนี่เองเป็นตัวจุดประกายให้พวกเขาเริ่มต้น Greensole ขึ้น
กิจการเพื่อสังคมใน Mumbai ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2013 นี้ นำรองเท้าผ้าใบใช้แล้วมาดัดแปลงเป็นรองเท้าแตะและนำไปบริจาคให้กับผู้ยากไร้นับแสนๆ คนทั่วอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กนักเรียนจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน
“การบริจาครองเท้าช่วยทำให้นักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารขาดเรียนน้อยลง ซึ่งนับเป็นผลดีทางอ้อมต่อการศึกษาในชนบท” Bhandari กล่าว
ปัจจุบัน Greensole มีองค์กรต่างๆ กว่า 40 แห่งเป็นพันธมิตร โดยองค์กรแต่ละแห่งจะบริจาคเงิน 3 เหรียญต่อรองเท้า 1 คู่ที่ Greensole บริจาคทำให้ทั้งคู่สามารถผลิตรองเท้าได้ถึง 100,000 คู่ต่อปี
หมวดเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค
Francisco Serra-Martins, 28
ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ, SONDER DESIGN
ออสเตรเลีย
คุณต้องการคีย์บอร์ดที่สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้ตามที่คุณสั่งใช่ไหม บริษัทสัญชาติออสเตรเลียอย่าง Sonder มีสิ่งนั้นให้คุณ และแค่จ่ายเพียง 110 เหรียญคุณก็จะได้เป็นเจ้าของคีย์บอร์ดแบบนั้นในเดือนสิงหาคมนี้
ธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งพี่น้องฝาแฝดอย่าง
Francisco Serra-Martins และ
Filipe ร่วมกันก่อตั้งขึ้นในปี 2015 นั้นได้พัฒนาคีย์บอร์ดที่ผู้ใช้งานสามารถออกแบบได้เอง โดยใช้เทคโนโลยีการแสดงผลอย่าง E-ink ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กับ Kindle เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาของ Amazon ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลอย่างเช่นเปลี่ยนจากตัวหนังสือภาษาเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็ว
Sonder ได้ร่วมมือกับซัพพลายเออร์อย่าง Foxconn และแบรนด์แล็ปท็อปต่างๆ โดยตรง นอกจากนี้บริษัทยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง
Serra-Martins เล็งเห็นถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งคล้ายคลึงกับอนาคตของสมาร์ทโฟน โดยคาดการณ์ว่าอินเตอร์เฟสประเภทนี้ “จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของคีย์บอร์ดและการออกแบบอินเตอร์เฟสของคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กในภายภาคหน้า”
หมวดสื่อ การตลาดและโฆษณา
Tara Baker, 29
ผู้ก่อตั้งและ EDITOR IN CHIEF , DANCING WITH HER
ออสเตรเลีย
ด้วยความผิดหวังจากการไม่มีตัวตนในโลกของธุรกิจงานแต่งงานซึ่งเป็นอาณาจักรของ “คู่บ่าวสาวต่างเพศ” Tara Baker และ Arlia Hassell ผู้เป็นคู่หมั้นจึงตัดสินใจผลิตนิตยสารเกี่ยวกับงานแต่งงานสำหรับกลุ่ม LGBTQ+
โดย Dancing With Her เริ่มต้นจากการเป็นนิตยสารดิจิทัลฉบับเล็กๆ เพียง 20 หน้า มียอดดาวน์โหลดกว่า 4,000 ครั้งภายในช่วง 2 สัปดาห์หลังการเปิดตัว ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบล็อก โซเชียลมีเดีย และมีคำสั่งพิมพ์ต่อมา
ความเสมอภาคในการแต่งงานเป็นเรื่องใหม่ในออสเตรเลีย “ฉันมีโอกาสพูดคุยกับคนจำนวนมากที่กำลังวางแผนจัดงานแต่งและต้องเจอกับการเลือกปฏิบัติอย่างมากมายบางทีผู้คนก็มีเจตนาดี แต่คำพูดที่พวกเขาใช้นั้นกลับไม่เปิดกว้างมากพอ” Baker กล่าว
ปัจจุบัน การแต่งงานของ LGBTQ+ เป็นที่ยอมรับใน 40 ประเทศ ทำให้ Dancing With Her มีจำนวนผู้อ่านทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 85,000 คนต่อเดือน “เราแบ่งปันสิ่งที่เป็นส่วนตัวกับผู้อ่าน มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราที่จะทำให้ผู้อ่านรับรู้ว่าเราเองก็เป็นผู้หญิง 2 คนที่มีความรักต่อกันเหมือนกับที่พวกเขาเป็น”
อ่านเพิ่มเติม: 30 under 30 สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชีย ปี 2018 (ตอน 1)