ทศวรรษใหม่ของร้านขนมหวานเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากความฝันวัยเด็กและความล้มเหลว กลายเป็นธุรกิจเบเกอรี่ลิสท์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ขยายสาขาครองเมือง
กรรมวิธีอันพิถีพิถันนับตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุดจากทั่วโลก สร้างสรรค์รสชาติและแต่งแต้มหน้าตาขนมหวาน พร้อมเสิร์ฟผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย เปรียบได้กับส่วนผสมอันลงตัวของผู้อยู่เบื้องหลังร้านขนมหวาน 20 สาขา ซึ่งบรรจงเพาะบ่มประสบการณ์ที่ผ่านการลองผิดลองถูก ทั้งการทำขนมและการทำธุรกิจ กว่าจะสำเร็จเป็นสูตรขนมรสกลมกล่อมสร้างรายได้หลายร้อยล้านบาท พร้อมนำธุรกิจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) สร้างปรากฏการณ์ Market Cap. เกือบหมื่นล้านบาทในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

นับแต่เริ่มเปิดดำเนินการวันแรกที่ เจ อเวนิว ซอยทองหล่อ 13 ในปี 2550 โดย กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) ผู้ริเริ่มสูตรขนมและ ร้านคาเฟ่ขนมหวาน (Dessert Cafe)
“เพื่อนพี่ชายของเมย์ทำร้านชื่อ “ยู” ซึ่งอยู่ด้านบนร้านของเมย์ที่ทองหล่อ คุณพ่อจึงแนะนำชื่อร้านให้ เหมือนอาฟเตอร์ร้านยูส่วนโลโก้มาจากราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีเกิดของเมย์ โดยมีเพื่อนเป็นผู้ออกแบบโลโก้ให้” กุลพัชร์เริ่มเล่าถึงที่มาของชื่อร้านและโลโก้ที่ใช้ตั้งแต่เริ่มแรก
จากครอบครัวผู้ทำธุรกิจส่งออกอาหารทะเล ทำให้เด็กหญิงซึมซับแนวคิดและความใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่อายุ 10 ปี เธอไม่เคยจินตนาการถึงอาชีพอื่น นักเรียนชั้น ป.5 ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่กับการนั่งแปลภาษาอังกฤษในตำราสูตรอาหารเล่มหนา เพื่อดัดแปลงสูตรให้เข้าใจง่ายและปรับรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภคไทยมากขึ้นสูตรอาหารนับร้อยที่กุลพัชร์รวบรวมไว้กลายเป็นหนังสือ “May Made”
ทันทีที่เธอสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีบริหารธุรกิจ (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากคำชักชวนของ แม่ทัพ ต.สุวรรณ ลูกพี่-ลูกน้อง เป็นจุดเริ่มก่อนจะจับมือทำธุรกิจร้านอาหารร่วมกัน ประกอบธุรกิจร้านอาหารทะเล Sea Munch ขนาดพื้นที่ประมาณ 150 ตารางเมตรบนชั้น 5 ของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ด้วยความอ่อนประสบการณ์และเป้าหมายที่ใหญ่เกินตัว ทำให้งบลงทุนบานปลายจากที่วางไว้ 5 ล้านบาทกลายเป็นเกือบ 10 ล้านบาท โดยต้องแบกรับภาระขาดทุนตลอดระยะเวลาครึ่งปีตั้งแต่เปิดร้าน
บทเรียนจากความผิดพลาดแม้ก้าวแรกในฐานะเจ้าของร้านอาหารจะจบลงด้วยการปิดกิจการ แต่กุลพัชร์และแม่ทัพยังไม่ถอดใจทิ้งการทำธุรกิจ ทั้งยังแปรเปลี่ยนความผิดพลาดล้มเหลวเป็นบทเรียนสำคัญในการลงทุนครั้งใหม่จำนวน 5.5 ล้านบาท โดยเปิดร้านขนมหวานและเบเกอรี่ “อาฟเตอร์ ยู” สาขาแรกที่ เจ อเวนิว ทองหล่อ ขนาดพื้นที่กว่า 80 ตารางเมตรในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 พร้อมคัด 9 เมนูจากสูตรนับร้อยตามสัญชาตญาณหรือความรู้สึกและผสมผสานไอเดียการแต่งร้านจากประสบการณ์เดินทางค้นหาแรงบันดาลใจทั่วโลก
“เราต้องการทำขนมให้อร่อยที่สุดด้วยส่วนผสมที่ดีที่สุด ก่อนนำไปคิดราคาที่ปลายทาง โดยความยากอยู่ที่การตั้งราคาเพราะไม่มีใครเปรียบเทียบ เราจึงตั้งราคาจากราคาที่เรายอมจ่าย ซึ่งหลังเปิดร้านและเห็นคิวคนรอทานก็พิสูจน์ได้ว่า ระดับราคาที่เราตั้งไว้เหมาะสม” กุลพัชร์ยอมรับถึงความท้าทายในฐานะผู้เริ่มต้นเมนูใหม่ซึ่งต้องคิดคำนวณราคาแต่ละเมนูสำหรับปัจจัยที่ทำให้อาฟเตอร์ ยู สามารถครองความนิยมและขยายฐานผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง เจ้าของร้านเบเกอรี่วัย 34 ปี
ด้านรสชาติและคุณภาพมาตรฐานของวัตถุดิบ ซึ่งดำนินการโดยโรงงานครัวกลางของบริษัทฯ ก่อนส่งตรงยังร้านสาขาทั่วประเทศพร้อมเน้นย้ำคุณภาพการให้บริการและสร้างความประทับใจผู้บริโภคที่เข้ามารับประทานและใช้บริการในร้าน
“พนักงานปัจจุบันของเราเฉพาะหน้าร้านประมาณ 700 คน และครัวประมาณ 100 คน เราต้องดูแลเขา ไม่เฉพาะเรื่องเงินแต่ต้องรู้ความต้องการของพนักงาน และคุณภาพชีวิตของเขา เช่น แบ่งเวลาพักให้ 2 ช่วงแทนที่จะทำงานทั้งวัน พนักงานสามารถลาพักร้อนได้ และมีการให้รางวัลพักผ่อนต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ”

นอกจากนี้ หนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจยังอยู่ที่การเลือกทำเลเปิดสาขา ซึ่งบริษัทได้วางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้อย่างชัดเจน โดยระยะเวลาคืนทุนต้องไม่เกิน 1 - 2 ปี ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งขนาดพื้นที่ และกำลังซื้อของผู้บริโภคในบริเวณดังกล่าว
“เรากำลังศึกษาเรื่องแฟรนไชส์ ซึ่งทำได้หลายลักษณะ รวมถึงการไปต่างประเทศที่คุยมาตลอดตั้งแต่วันแรก แต่เมืองไทยยังมีโอกาสสร้างการเติบโตอีกมาก เราต้องการคนที่คิดคล้ายกัน และต้องมีประสบการณ์รีเทล รวมถึงเข้าใจหัวใจของการทำแบรนด์ ได้แก่ การทำผลิตภัณฑ์และร้านให้ดีมากกว่าการทำการตลาดลดแลกแจกแถม”
ในปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายของหวาน ขนม เครื่องดื่ม และของที่ระลึกรวมกว่า 100 รายการ ผ่านช่องทางสาขาของอาฟเตอร์ ยู จำนวน 18 สาขาทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงขยายสายธุรกิจผลิตภัณฑ์ร้านน้ำแข็งไสในปี2559 ภายใต้ชื่อเมโกริ (Maygori) จำนวน 2 สาขา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกเพศวัยยิ่งขึ้น

บริษัทจึงเตรียมก่อสร้างสำนักงานใหม่บนพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร สำหรับฝึกอบรมพนักงานให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ รวมถึงการใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าทั้งของสดและของแห้ง เพื่อให้บริษัทมีสถานปฏิบัติงานรองรับการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต นอกจากนี้ กุลพัชร์ยังมีแผนนำเงินลงทุน 225 ล้านบาท ลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการผลิตในโรงงานครัวกลาง บนพื้นที่ 8 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อขยายกำลังการผลิตและยกมาตรฐานการผลิตให้มีมาตรฐานสากล พร้อมรองรับการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต ด้วยกำลังการผลิตที่สามารถรองรับการผลิตได้ประมาณ 40-45 สาขา
“หน้าที่ของเราคือ พยายามทำให้ดีที่สุดด้วยรสชาติ คุณภาพ และการบริการมาตรฐาน ตามความคาดหวังของลูกค้าเราไม่สามารถห้ามการแข่งขันได้ เราต้องคิดของใหม่และนำเสนอเมนูใหม่ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมให้คงอยู่และเพิ่มลูกค้าใหม่เราคิดแค่นี้” ผู้นำกระแสร้านขนมหวานปิดท้ายถึงการแข่งขันที่เธอไม่มีวันยอมแพ้