มิลล์คอน สตีล: สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล พ่อค้าเหล็กในสายเลือด - Forbes Thailand

มิลล์คอน สตีล: สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล พ่อค้าเหล็กในสายเลือด

อาชีพค้าเหล็กดุจดังน้ำหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของนักธุรกิจหนุ่มวัย 39 ปีอย่าง สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL จึงทำให้เขาตัดสินใจกอบกู้กิจการค้าเหล็กเดิมในชื่อ บริษัท สตีลน็อค จำกัด ที่ สมภพ ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้เป็นพ่อสร้างขึ้นกระทั่งต้องถูกนำขายทอดตลาดเนื่องจากถูกกระหน่ำจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จนกิจการถูกยึดเป็นทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)

กระนั้นกว่าจะฟื้นฟูกิจการค้าเหล็กเดิมให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง นอกจากสิทธิชัยต้องเดินหน้าเจรจาปรับปรุงโครงสร้างกับทั้ง บสท. และธนาคารพาณิชย์เพื่อปลดล็อกภาระหนี้เดิมให้บรรเทาลงจนหมดแล้ว ยังต้องรวบรวมเงินกู้จากทั้งธนาคารพาณิชย์และจากบรรดาคนรู้จักเพื่อหาเงินก้อนมาซื้อโรงงานคืนและตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (MILLCON) เพื่อทำให้สถานะของครอบครัวกลับคืนมาดังเดิม
สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการวัย 39 ปีของ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL
“ผมไม่เคยคิดจะทำอย่างอื่นเลยในชีวิต ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมาค้าเหล็ก แต่เมื่อสถานการณ์ของธุรกิจครอบครัวเปลี่ยนไปก็ต้องหาทางออกให้หลุดจากปัญหาไปเรื่อยๆ แต่มุ่งมั่นว่าต้องโตมาในสายงานนี้แน่ๆ ซึ่งการเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวคนจีนก็น่าจะมีส่วนทำให้เราคิดเช่นนี้ด้วย” พลิกฟื้นกิจการ สิทธิชัยเพิ่งจบการศึกษาคว้าปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก Warwick University ในปี 2541 และพบว่ากิจการของครอบครัวเกิดหนี้สินมหาศาล เขาจึงเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ด้วยการทำเทรดดิ้งสินค้าเหล็กจนมีทุนสำหรับซื้อกิจการเดิมคืนมาจาก บสท. รวมกับการขอกู้สินเชื่อธนาคารซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งจากตัวเขาเองที่ยังเป็นผู้บริหารอายุน้อยวัยเพียง 20 กว่าๆ และธุรกิจเหล็กก็ยังอยู่ในภาวะซบเซา แต่ด้วยความมุ่งมั่นจึงเดินหน้าเจรจาขอสินเชื่อแบบไม่ลดละ จนได้รับเงินทุนจากธนาคารเพื่อมาซื้อทรัพย์สินคืนจากบสท. ในที่สุด ทว่า เมื่อเริ่มเดินหน้าผลิตเหล็กภายใต้กิจการที่กอบกู้ขึ้นใหม่เมื่อปี 2549 ผลที่เกิดขึ้นกลับ ‘ขาดทุนมาก’ จากสาเหตุ 3 เรื่อง เริ่มจากวัตถุดิบที่สั่งมีปัญหาการขนส่งจนล่าช้าไปหลายเดือน ตามมาด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการทดลองผลิตสินค้า นอกจากนี้ ยังถูกโจมตีจากราคาเหล็กที่ลดลงในช่วงที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทวางจำหน่ายพอดี บริษัทต้องดิ้นรนยอมกู้เงินจากซัพพลายเออร์เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนการผลิต และแม้ว่ากระแสเงินของบริษัทจะเริ่มหมุนเวียนดีขึ้นจนพอทำกำไรได้ แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังคือภาระหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท สิทธิชัยจึงตัดสินใจระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นทางออก ทำให้บริษัทได้แปรสภาพเป็นมหาชนและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) เมื่อปี 2550 ส่งผลให้เงินทุนที่ได้มาสามารถจัดการกับภาระหนี้สินได้อย่างหมดจด
โรงงานที่ระยองซึ่งครองกำลังการผลิต 3.6 แสนตันต่อปี
หลังจากมีสถานะเป็นมหาชนแล้ว MILL ก็ค่อยๆ สร้างความแข็งแกร่งและสามารถผลิตได้อย่างเต็มกำลังจนมีรายได้เติบโตขึ้นเป็นกว่า 3 พันล้านบาท สิทธิชัยก็เริ่มมองหาโอกาสใหม่ๆ จึงสนใจเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม ด้วยการลงทุนซื้อ บริษัท บูรพาอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด เพื่อขยายฐานตลาดและหาพื้นที่สร้างเตาหลอมเพิ่ม ซึ่งเตาหลอมนี้จะทำให้บริษัทผลิตสินค้าได้ตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำและเป็นฐานในการผลิตเหล็กเกรดพิเศษ และเพื่อปูทางธุรกิจผลิตเหล็กเกรดพิเศษป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์โดยเฉพาะ จึงนำไปสู่การเข้าซื้อกิจการ บมจ.เหล็กกล้าไทย (TSSI) ซึ่งมีเครื่องจักรที่ทันสมัย โดยการซื้อทรัพย์สินผ่านกรมบังคับคดีเมื่อปี 2558 แล้วจึงแปลงเป็นบริษัทย่อยในนาม บริษัท มิลคอน สเปเชียล สตีล จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายเหล็กลวดโดยเฉพาะอย่างเป็นทางการในปีนี้ หลอมแผน 5 ปี เมื่อผ่านขวากหนามมาหลายครั้งหลายคราจนบริษัทเริ่มยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ล่าสุด MILL ได้วางแผน 5 ปี (ระหว่าง 2559-2563) ที่ตีขอบเขตการทำธุรกิจให้ยืนอยู่เหนือการค้าเหล็ก ครอบคลุมใน 3 ด้านหลักหรือบริษัทเรียกว่าแม่น้ำสามสาย คือ 1. วัสดุก่อสร้าง 2. เหล็กเกรดพิเศษ และ 3. ธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดธุรกิจหลักของบริษัท เช่น Builk One (เดิมคือ builk.com เว็บแอพพลิเคชั่นสำหรับบริหารธุรกิจก่อสร้าง) โครงการแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยีการก่อสร้าง เป็นต้น “เป้าหมายของแผน 5 ปีไม่ได้มองตัวเลขรายได้เป็นจุดหลัก แต่ต้องการให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อคงอัตรากำไรที่นิ่งกว่านี้ เพราะปัจจุบันความสามารถในการทำกำไรของเราแกว่งมาก” แนวทางธุรกิจใหม่ในส่วนวัสดุก่อสร้างจากเดิมที่เคยเป็นเหล็กโครงสร้างธรรมดาก็จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นชิ้นงานเพื่อการก่อสร้าง เช่น เหล็กตัดพับ สุดท้ายแล้วบริษัทก็จะขายผลิตภัณฑ์ในมูลค่าที่สูงขึ้น สำหรับ Builk ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการที่ MIILL เข้าไปลงทุนและน่าจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายของกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ด้วยปัจจุบันมีฐานข้อมูลของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง SMEs ที่บริหารงานอยู่บนระบบของ Builk กว่า 18,000 บริษัทที่ครอบคลุมทั้งผู้รับเหมาก่อสร้าง (เฮียอู๋เน็ตเวิร์ก) และร้านขายส่งวัสดุก่อสร้าง (เจ๊จูเน็ตเวิร์ก) ใน 5 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สปป. ลาว เมียนมา และกัมพูชา ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายผ่าน builk.com หลักหมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตของ MILL อยู่ที่ราว 630,000 ตันต่อปีจากทั้งโรงงานที่กรุงเทพฯ และระยอง ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของบริษัทมาจากกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่อัตรา 90% เหล็กเกรดพิเศษ 5 -10% และธุรกิจสนับสนุน 5-10% โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีอัตราส่วนเปลี่ยนเป็น 60% 30% และ 10% ตามลำดับ ส่วนเป้าหมายรายได้ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท ครั้นเมื่อฐานธุรกิจในไทยเริ่มเดินหน้าไปอย่างราบรื่น สิทธิชัยจึงเริ่มเล็งหาขุมทรัพย์แห่งใหม่จากนอกบ้าน ในปี 2557 จึงตัดสินใจร่วมลงทุนกับคู่ค้า Thiha Group จากเมียนมาโดยจัดตั้งเป็น Millcon Thiha GEL Limited ซึ่งตั้งอยู่นิคม Thilawa เพื่อจำหน่ายเหล็กและวัสดุก่อสร้างในเมียนมา และมองหาลู่ทางขยายไปยังประเทศที่ MILL ส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายอยู่แล้ว เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา ออสเตรเลีย ฯลฯ สำหรับ MILL ในอีก 10 ปีข้างหน้า สิทธิชัยหวังว่า MILL จะเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในเรื่องทรัพยากรบุคคลและมีนวัตกรรมเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยมองว่าขณะนี้อุตสาหกรรมหนักไม่ใช่ธุรกิจที่น่าจับตาอีกต่อไปแล้ว จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแรง สำหรับแรงขับที่จุดประกายให้สิทธิชัยมีพลังต่อสู้กอบกู้กิจการให้กลับมาอีกครั้ง แม้ว่าทางครอบครัวจะไม่ได้เรียกร้องให้ตัวเขากลับมาทำในเรื่องนี้ คือการสะกดจิตตัวเองให้เชื่อว่า “เราต้องไม่แพ้” แล้วก็ย่อมต้องหาทางออกสำหรับแต่ละปัญหาได้ในที่สุด ที่สำคัญคือต้องไม่หมกมุ่นกับปัญหาในช่วงสั้น เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ “ผมไม่เคยคิดปล่อยมือเลย การบริหาร MILL เหมือนต่อจิ๊กซอว์ที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะใกล้เป็นภาพที่สมบูรณ์”   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ บมจ. มิลล์คอน สตีล