จับชีพจรค้าปลีกก่อสร้าง ลับคมกลยุทธ์ 'ป่าล้อมเมือง' - Forbes Thailand

จับชีพจรค้าปลีกก่อสร้าง ลับคมกลยุทธ์ 'ป่าล้อมเมือง'

โอกาสของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างรับอานิสงส์กำลังซื้อในประเทศฟื้น ช่วยปรับลดอุณหภูมิการแข่งขันในสมรภูมิโมเดิร์นเทรด เล็งติดอาวุธขยายสาขาแบบดาวกระจายทุกพื้นที่ พร้อมเสริมทัพธุรกิจแกร่ง

ภาพรวมอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงตามเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศนับตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้นักวิเคราะห์ต่างส่งสัญญาณเชิงบวกให้ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง ซึ่งได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวจากช่วงโลว์ซีซั่นสู่ผลกำไรต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า นักวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า “จีดีพีของไทยในปี 2561 จะขยายตัว 4.8% หรือสูงกว่าประมาณการเติบโตจีดีพีปี 2560 ที่ 4% และการบริโภคในประเทศคาดว่าจะเติบโต 3.8% จากที่คาดว่าจะเติบโต 3.2% ในปี 2560 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ฟื้นตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็น 65.2 ในเดือนพฤศจิกายน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าการจับจ่ายใช้สอยน่าจะเร่งตัวขึ้นอีก” สำหรับแนวโน้มการเติบโตของวัสดุก่อสร้างจะได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการภาครัฐ ซึ่งช่วยกระตุ้นการลงทุนและการก่อสร้างให้ขยายตัว โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีส้ม ทางด่วนพระราม 3 และรถไฟรางคู่เฟส 2 เป็นต้น รวมถึงการขยายตัวของกำลังซื้อที่จะเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มครัวเรือนใช้จ่ายเกี่ยวกับการสร้างบ้าน การซ่อมแซมบ้าน และการซ่อมแซมสำนักงานมากขึ้น ขณะที่กลุ่มค้าปลีกวัสดุก่อสร้างจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ท่ามกลางทางเลือกโมเดิร์นเทรดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น ไทวัสดุ ดูโฮม เมกาโฮม บุญถาวร แต่ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ยังคงเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นและสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้บริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัด จากกลยุทธ์การขยายสาขาในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ด้วยแผนการลงทุนเปิดสาขาเพิ่ม 6-8 สาขาต่อปีจาก 55 สาขา ณ สิ้นปี 2560 รวมถึงลักษณะร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบครบวงจรของ GLOBAL ที่มีความแตกต่างจากร้านค้าในรูปแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น ด้านการบริหารต้นทุน ความหลากหลายของสินค้า การส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง และฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้
คาดการณ์รายได้ GLOBAL โดย KGI
“เรามองว่ายอดขายบริษัทปี 2561 จะเติบโตที่ 14% จาก Same Store Sale Growth (SSSG) ที่จะกลับมาเป็นบวก และการขยายสาขาอีก 6 สาขา ซึ่งการขยายสาขาของบริษัทน่าจะอยู่ในช่วง aggressive ไปอีก 2-3 ปี จากการเติบโตของตลาดวัสดุก่อสร้าง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง” นอกจากนี้ เคจีไอยังคาดการณ์กำไรปี 2561 ของ GLOBAL อยู่ที่ 1.98 พันล้านบาท เติบโตที่ 23% ซึ่งค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่คาดการณ์กำไรที่ 1.61 พันล้านบาท เติบโตเพียง 7.6% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 21.2% จาก 21.0% ปี 2560 และ 20.6% ปี 2559
คาดการณ์กำไร GLOBAL โดย KGI
“เนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้า house brand ที่มีอัตรากำไรขึ้นต้นสูงกว่าสินค้า commercial brand ซึ่งบริษัทตั้งเป้าสัดส่วนของ house brand ที่ 15% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังเปิดศูนย์กระจายสินค้า (DC) แห่งใหม่” เปิดประตูต่างแดน กลยุทธ์การขยายสาขาของผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ แต่ยังเล็งโอกาสสร้างอาณาจักรในต่างประเทศ ตามแรงกระตุ้นการขยายการให้บริการรับสร้างบ้าน และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ซึ่งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา และลาว นับเป็นตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างในจังหวัดจุดการค้าชายแดนที่มีลูกค้าจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงมาสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้ สีทาอาคาร กระเบื้องปูพื้นปิดผนัง เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังให้คำแนะนำสำหรับร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ต้องการขยายสาขาข้ามพรมแดนว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ วางระบบเกี่ยวกับการซื้อมาขายไป การทำบัญชีให้รัดกุม การมัดใจลูกค้าเก่าและเพิ่มลูกค้าใหม่ ด้วยปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ทำเลที่ตั้งและขนาดของร้านซึ่งมีความสัมพันธ์กับตลาดและสินค้าในร้าน โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นคลังสินค้าและบริเวณจอดรถขนถ่ายสินค้าในพื้นที่ที่มีร้านค้าวัสดุก่อสร้างไม่มาก รวมถึงการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ด้วยการบริการครบวงจรและสามารถให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับสินค้าได้ นอกจากนั้น ธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างยังเป็นธุรกิจที่ใช้เงินหมุนเวียนมาก เพราะต้องมีสินค้าคงคลังพร้อมขาย ซึ่งค่าใช้จ่ายถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมีการบริหารจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการคัดเลือกประเมินผลคู่ค้า (Vendor’s Service Level) ประกอบด้วย ความสามารถทางการผลิต คุณภาพสินค้า การให้บริการ และความสามารถในการจัดส่ง ขณะเดียวกันความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจที่สยายปีกไปยังต่างประเทศยังอยู่ที่การสร้างเครือข่าย หรือการเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ร้านค้าวัสดุก่อสร้างอื่นและช่างรับเหมาก่อสร้าง เช่น การขยายสาขาไปยังเมียนมาตามการเติบโตของอุตสาหกรรม ซึ่ง Business Monitor International Research ประมาณการมูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้างเมียนมาว่า จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.7 พันล้านเหรียญในปี 2554 เป็น 9.5 พันล้านเหรียญในปี 2563 ดังนั้น ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยจึงเริ่มขยับการลงทุนไปยังเมียนมาเพื่อเลี่ยงการแข่งขันและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง โดยการลงทุนในเมียนมาจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทในภูมิภาคและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจากการกระจายการลงทุน ซึ่งธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างอย่างการค้าส่งและค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่รัฐบาลเมียนมาประกาศเปิดเสรีให้กับบริษัท joint venture ในเดือนกรกฎาคม 2559 ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ จากการขยายสาขาในเมียนมา
เมียนมาเป็นประเทศที่น่าจับตามองของกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง (Photo Credit: Bangkok Post)
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเมียนมามีหลายปัจจัยที่ควรระมัดระวัง ได้แก่ แรงงาน การประสานงานกับภาครัฐ ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างของเมียนมาเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยรวมถึงธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่ต้องการเปิดประตูการลงทุนข้ามพรมแดนไปยังเมียนมา ทั้งนี้ GLOBAL เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดเป็นเป้าหมายการขยาย 100 สาขาในประเทศภายในปี 2565 พร้อมบุกต่อเนื่องในต่างประเทศ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มลงทุนขยายสาขาโมเดิร์นเทรดไปยังเมียนมา ผ่านการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นจัดตั้ง บริษัท โปรวัน โกลบอล จำกัด รวม 5 สาขาในปัจจุบัน ด้วยความมั่นใจในโอกาสการเติบโตในอนาคต รวมถึงสาขาใน สปป.ลาว 5 สาขา ผ่านการถือหุ้นใน บริษัท สุวันนี โฮมเซ็นเตอร์ จำกัด และเตรียมใช้โมเดลธุรกิจใหม่ในแนวทาง joint venture กับประเทศกัมพูชาภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งน่าจะเปิดได้ถึง 20 สาขา พร้อมพิจารณาความร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นขยายธุรกิจในเวียดนาม