ตง ธีระนุสรณ์กิจ KCG เปิดฉากทศวรรษนวัตกรรม - Forbes Thailand

ตง ธีระนุสรณ์กิจ KCG เปิดฉากทศวรรษนวัตกรรม

ทุกรสความอร่อยของเบเกอรี่ในประเทศเปรียบได้กับรางวัลความสำเร็จของ KCG ยักษ์ใหญ่ผู้เปิดโลกวัตถุดิบพรีเมียมจากทั่วสารทิศเสิร์ฟถึงมือคนไทย ด้วยความเพียรพยายามบุกเบิกเส้นทางและพัฒนาด้านการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอด 60 ปี พร้อมเดินหน้าทศวรรษแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารสู่การขยายอาณาจักรในต่างแดนอย่างเต็มภาคภูมิ

ผลิตภัณฑ์ที่วางเรียงรายอยู่ในร้านกาแฟขนาดย่อมย่านสุขุมวิททั้งคุกกี้กล่องแดงในตำนาน เนยยอดนิยม น้ำผลไม้รสชาติเข้มข้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์นม เนย ชีส วัตถุดิบเบเกอรี่ และอุปกรณ์สำหรับทำเบเกอรี่รายใหญ่ของไทยที่ดำเนินธุรกิจเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ “เราสามพี่น้องช่วยกันบุกเบิกธุรกิจ ซึ่งสืบเนื่องจากพี่ชายมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ เมื่อคิดทำธุรกิจของตัวเองจึงสามารถนำประสบการณ์ที่มีมาพัฒนาต่อ ผมทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปีจนถึงวันนี้อายุ 76 ปี ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในการสร้างชื่อให้องค์กรและผลิตภัณฑ์ ทำทุกอย่างตั้งแต่ติดต่อหน่วยงานราชการในประเทศ ต่างประเทศ นำเสนอสินค้า หรือช่วงเริ่มตั้งโรงงานก็ศึกษาค้นคว้า และสอบถามพูดคุยเองจนได้ know-how” ตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าถึงหน้าแรกของตำนานการสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการเบเกอรี่ไทย
ตง ธีระนุสรณ์กิจ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ธุรกิจเล็กๆ ของสามพี่น้องธีระนุสรณ์กิจ เริ่มต้นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์ ดำเนินธุรกิจการนำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าอาหารสำเร็จรูปในปี 2501 โดยเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์เนยนำเข้าอลาวรี่จากออสเตรเลียสำหรับผู้บริโภคในครัวเรือน ร้านอาหารและโรงแรม ก่อนจะเล็งเห็นโอกาสการเป็นผู้ผลิตจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นและอัตราภาษีนำเข้าที่มีแนวโน้มปรับขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 60% ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการจำหน่ายและผลกำไรในระยะยาวของบริษัท นำมาสู่การตั้งโรงงานแห่งแรกชื่อ ยูไนเต็ด แดรี ฟู้ดส์ (UDF) เพื่อผลิตเนยอลาวรี่ในปี 2515 และโรงงาน อิมพีเรียล เยนเนอรัล ฟู้ดส์ อินดัสทรี (IGF) ในปี 2528
คุกกี้กล่องแดงที่ได้รับการต่อยอดจากการนำเข้า สู่ผู้ผลิตคุกกี้เนยสูตรเดนมาร์กแห่งแรกในไทย
นอกจากนั้น ตงยังเล็งเห็นความสำคัญของการขยายอาณาจักรทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสามารถเสริมทัพความแข็งแกร่งให้กับบริษัทได้ในอนาคต ด้วยการซื้อฟาร์มใกล้เขาใหญ่และเพิ่มธุรกิจนมสดพร้อมดื่ม ภายใต้ชื่อ บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟาร์ม จำกัด และได้รับลิขสิทธิ์จาก บริษัท โค-โร่ ฟู้ดส์ เอ เอส ประเทศเดนมาร์กให้เป็นผู้ผลิตน้ำส้มซันควิกในชื่อ บริษัท อิมพีเรียล สเปเชียลตี้ ฟู้ดส์ จำกัด ในปี 2531 ขณะเดียวกันบริษัทยังมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเบเกอรี่ ด้วยการตั้ง บริษัท อิมพีเรียลเบเกอรี่อีควิปเมนท์ จำกัด นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การทำเบเกอรี่ในปี 2550 และโรงเรียนสอนทำเบเกอรี่และอาหาร IBAF ในปี 2551  

มหาชนเสริมแกร่งต่างแดน

ทศวรรษใหม่ของอาณาจักรเคซีจีพร้อมปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทระดับอินเตอร์ที่สามารถสร้างการเติบโตในต่างประเทศ และจัดทัพธุรกิจเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “ที่ผ่านมาเป็นช่วงบุกเบิกและถางทาง จนมีแพลตฟอร์มที่มั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 7 ต่อจากนี้เราต้องมองธุรกิจเป็นอินเตอร์” ตงกล่าว
KCG Excellence Center ศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตสินค้าประเภทเนย มาการีน และชีส
ดังนั้น โรงงานล่าสุดแห่งที่ 3 ของบริษัทในย่านเทพารักษ์ สมุทรปราการ บนพื้นที่ขนาด 20 ไร่จึงเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดและมีเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศคุณภาพสูง พร้อมใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานทุกขั้นตอน ภายใต้การรับรองมาตรฐาน ISO 9001, GMP, HACCP, HAL-Q และ HALAL ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเนยและชีสได้มากขึ้น 100% จากกำลังการผลิต 4,000 ตัน/ปี เป็น 8,000 ตัน/ปี นอกจากนี้ ภายในโรงงานยังมี KCG Excellence Center เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์นวัตกรรมเกี่ยวกับอาหาร รวมถึงส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยที่ดีมีคุณภาพ ด้วยห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในสภาวะการใช้งานจริง ห้องทดสอบการรับรู้รสอาหาร ห้องปฏิบัติการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการทางเคมี ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา และห้องสมุด “Disruption เปลี่ยนโลกแทบจะทุกธุรกิจ ดังนั้น เราต้องไม่หยุดพัฒนาด้านศักยภาพผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา เช่น ข้าวแกง ready meal หรือหูฉลาม ready-to-cook ทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้าเกี่ยวกับความสะดวกสบาย ซึ่งเราต้องศึกษาความต้องการแต่ละเจเนอเรชั่นหรือเทรนด์ผู้สูงอายุที่เกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ พฤติกรรมการบริโภค การปรุงอาหารต่างๆ เราต้องพึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและสอดคล้องกับความต้องการยุค 4.0”
 
View this post on Instagram
 

A post shared by Forbes Thailand Magazine (@forbesthailand) on

...waiting for Gist...
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับสินค้าเพื่อสร้างคุณภาพสินค้าและเพิ่มมูลค่า เช่น การพัฒนา ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นสินค้าขนมอบกรอบและคุกกี้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการผลิตแป้งเอแคลร์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ได้รับรางวัลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในปี 2558 “เทรนด์อนาคตเรายังต้องเน้นเรื่องสุขภาพตามกระแสความต้องการ ซึ่งสอดคล้องกับทุกเพศ ทุกวัย ยกตัวอย่างเช่น เนยไขมันต่ำ ชีสไขมันต่ำ เป็นกลุ่มคุกกี้ไขมันต่ำ เนยน้อยแต่คงความหอมอร่อย หรือหวานน้อย โดยยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่หลากหลายครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภค ไม่เน้นเฉพาะเจาะจงที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มุ่งตอบโจทย์ตลาดกว้าง และการส่งออกรวมๆ 20-30 ประเทศ” ตงกล่าว “นม เนย ที่เรานำเข้าครอบคลุมแบรนด์ทั่วโลกเกิน 80% เพราะฉะนั้น เราจึงให้ความสนใจกับการมองเข้าไปในแต่ละ category มากกว่า ไม่ใช่การพัฒนาเพื่อให้ไปไกลหรือหนีจากคู่แข่ง แต่เป็นการต่อยอดกลุ่มสินค้า ไม่ใช่แค่ นม เนย แป้ง แต่เป็นสินค้าที่เพิ่มความหลากหลายให้ห้องครัว” สำหรับการทำตลาดนั้นจะทำตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะในแถบเอเชีย “จากนี้เราต้องการขยายธุรกิจส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งเรายังมีโอกาสเติบโตด้านการส่งออกอีกมาก โดยเรามองในภูมิภาคหรือ regional base ก่อนขยายออกไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นคุกกี้ที่ส่งออกและยังคงเป็นเรือธงเหมือนเดิม ซึ่งเราอยู่ระหว่างการพัฒนาเนยทั้งอิมพีเรียลและอลาวรี่” ตงกล่าวถึงเป้าหมายการเติบโตที่วางไว้เฉลี่ยทุกปีมากกว่า 10% หรือเติบโต 2 หลักจากปี 2560 ที่มีรายได้ 5 พันล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนมาจากสินค้าผลิตเอง 60% และสินค้านำเข้า 40% ขณะที่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและลงทุนในต่างประเทศ โดยเริ่มต้นบันไดขั้นแรกด้วยการเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็มของ “ตง ธีระนุสรณ์กิจ KCG เปิดฉากทศวรรษนวัตกรรม” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine