สาริศ รัตนาวะดี ทายาทธุรกิจ GULF พิสูจน์ผลงานแรก “Stonehill” - Forbes Thailand

สาริศ รัตนาวะดี ทายาทธุรกิจ GULF พิสูจน์ผลงานแรก “Stonehill”

สาริศ รัตนาวะดี คนหนุ่มรุ่นใหม่วัยเพิ่ง 26 ปี บุคลิกคล่องแคล่ว พูดจาฉะฉาน และดูเป็นคนทุ่มเทเขาเป็นบุตรชายคนโตของสารัชถ์ มีน้องชายอีก 1 คนอายุน้อยกว่ากว่า 1 ปี มาช่วยงานบิดาแล้วเช่นกัน


    สาริศจบปริญญาตรีด้าน Communication จาก University of Southern California เมื่อปี 2561 ก่อนเรียนจบเขามีโอกาสช่วยบิดาประสานงานกับนักออกแบบสนามกอล์ฟซึ่งอยู่ที่ San Francisco ทั้ง Kyle Phillips และสถาปนิกชื่อดัง Timothy Slattery “ผมเคยขาดเรียนไปคุยเรื่องแบบสนามกอล์ฟให้คุณพ่อ และคอยประสานกับนักออกแบบว่าคุณพ่อต้องการอะไร” นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของงานพัฒนาสนามกอล์ฟของสาริศซึ่งเขาบอกว่า ทำสโตนฮิลล์ตั้งแต่ยังไม่ได้เห็นที่ดินเลยด้วยซ้ำ


    ไม่เพียงสนามกอล์ฟ สาริศเล่าว่า เมื่อครั้งที่บิดาเขาสนใจเข้าซื้อวินด์ฟาร์มขนาดใหญ่ในยุโรป เขาก็ช่วยประสานดีลการซื้อขายครั้งนั้น โดยเชื่อมคอนเนกชั่นเพื่อนในสหรัฐฯ ที่รู้จักอดีตแบงเกอร์จาก Goldman Sachs ดึงมาช่วยประสานดีลในการซื้อโรงงานไฟฟ้าพลังงานลม BorkumRiffgrund 2 ในประเทศเยอรมนีได้สำเร็จ


    เขาเล่าเพียงสั้นๆ เพื่ออธิบายสิ่งที่ทำเมื่อเรียนจบ ระหว่างที่เขากลับมาช่วยบิดาทำงานใน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF อย่างไม่เป็นทางการ ด้วยความพร้อมด้านสื่อสารที่เรียนมาและอาศัยคอนเนกชั่นในฝั่งตะวันตกมาช่วยบิดาเท่าที่พอทำได้


    แต่ในวันนี้เขาเริ่มเห็นบทบาทตัวเองชัดเจนหลังได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการสนามกอล์ฟสโตนฮิลล์ในฐานะกรรมการบริหาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสาริศบอกว่า เขาดูทุกอย่างให้โครงการนี้มาตั้งแต่ต้นก่อนหน้าที่จะออกแบบด้วยซ้ำ ตั้งแต่การประสานงานกับนักออกแบบ การออกแบบ อ่านแบบ การก่อสร้าง ระหว่างก่อสร้าง จนกระทั่งสนามก่อสร้างเสร็จ และจัดงานเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม ปี 2565


    งานวันเปิดตัวสนามกอล์ฟสโตนฮิลล์เชิญเหล่านักธุรกิจแถวหน้าของไทยมาร่วมงานคับคั่ง เช่น ชาติศิริ โสภณพนิช, วรรณพร พรประภา, สมชัย เลิศสุทธิวงค์, อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา, วิชา พูลวรลักษณ์, คีรี กาญจนพาสน์, วิชัย เบญจรงคกุล, ปรีดี ดาวฉาย, พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา, อาลก โลเฮีย, ภูริต ภิรมย์ภักดี, วิศรุต รังษีสิงห์พิพัฒน์, ธราภุช-นิษฐา คูหาเปรมกิจ และอีกหลายคนดังรวมกว่า 130 คน


    “ก่อนงาน 10 วันผมเครียดมาก คิดทุกวันว่าจะต้องทำอะไร เตรียมอะไร กลัวงานออกมาไม่ดี ตอนนั้นคิดแต่ว่าทำอย่างไรให้งานออกมาดีที่สุด” สาริศเล่าประสบการณ์จัดงานใหญ่ครั้งแรกแม้เขาไม่ได้ลงมือทำเองทั้งหมดแต่ก็อยู่ในฐานะผู้รับผิดชอบ ซึ่งเขารู้สึกสนุกและเต็มที่กับงานนี้ ดูเหมือนบิดาของเขาก็มองในทิศทางเดียวกันจึงมอบหมายให้สาริศเป็นผู้บริหารสนามกอล์ฟจริงจัง


    ในวัย 26 ปีของสาริศอาจไม่เหมือนคนวัยเดียวกันที่ยังชอบสังสรรค์-ปาร์ตี้ โดยหนุ่มน้อยสายเลือดมหาเศรษฐีรายนี้ตรงกันข้าม เขาบอกว่า ทุกๆ วันอยากมาทำงาน ชอบที่จะมองเห็นความสำเร็จและความก้าวหน้าของสโตนฮิลล์ “การเที่ยวสำหรับผมไม่ค่อยมี ปาร์ตี้อาจมีบ้าง เช่น เบิร์ดเดย์ตัวเองหรือเพื่อนสนิท แต่ก็ไม่บ่อยนัก” นั่นคือกิจวัตรด้านสังคมของเขา


แม้จะไม่เที่ยวเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่สาริศก็เดินทางบ่อย “ผมบินไป London ไปยุโรปบ่อยมาก เพราะที่ London เป็น hub ของ banker ตอนนั้นคุณพ่ออยากซื้อ wind farm ที่ยุโรปเลยต้องไปบ่อย” สาริศเล่าด้วยแววตาที่ยังคงสนุกกับสิ่งที่ทำ

 

ยึดหลักทุกอย่างทำได้


    หลังจบการศึกษามาใหม่ๆ สาริศบอกว่าเขาอยากเดินทางท่องเที่ยว อยากหาประสบการณ์ก็ได้มีโอกาสไปเยือนอิสราเอลด้วยความตั้งใจ เพราะที่นี่เป็นแหล่งรวมสตาร์ทอัพใหม่มากมาย “ผมไปอิสราเอลไม่นานคราวละ 2 สัปดาห์ แต่ไป 2 ครั้งก็ได้อะไรดีๆ กลับมา” เขาเล่าไปเรื่อยๆ ก่อนจะบอกว่าอะไรดีๆ ที่ว่าก็คือ แนวทางการทำงานของคนอิสราเอลที่เขาพบคือ ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรในโลกที่ทำไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราต้องหาทางทำมันให้สำเร็จ


    สาริศจับหลักคิดนี้มาใช้กับการทำงาน เขาจึงมุ่งมั่นทำทุกอย่างบนพื้นฐานแนวคิดว่า “ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้หากเราพยายามมากพอ” จากแนวคิดนี้เขานำมาประยุกต์ใช้กับงานบริหารสนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นโครงการพิสูจน์ความสามารถอย่างเป็นทางการชิ้นแรกของเขา


    “ผมพูดกับทีมงานว่า ทุกอย่างมันต้องทำได้ ไม่มีอะไรที่มันจะทำไม่ได้ เพียงแต่เราต้องหาทางที่จะทำมันให้ได้เท่านั้นเอง” ด้วยเหตุนี้เด็กหนุ่มวัย 26 จึงกลายเป็นบอสที่ลูกน้องบอกว่า “ค่อนข้างเป๊ะ” สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเล่าว่า การทำงานที่สโตนฮิลล์ เขาเดินตลอด คลุกคลีทั้งวิศวกร สถาปนิก และพนักงานในทุกภาคส่วน


    “เดิมทีผมเข้าสนามอาทิตย์ละ 2 วัน ต่อมาเพิ่มเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เข้าทุกวัน มีอะไรให้ดูและตามตลอด” ความสนุกในการทำงานบริหารของสาริศฉายชัดผ่านเรื่องราวที่เขาบอกเล่า ซึ่งดูเหมือนว่าทุกอย่างของสโตนฮิลล์จะต้องผ่านสายตาและการประเมินของบอสหนุ่มคนนี้


    เริ่มต้นตั้งแต่คอนเซ็ปต์สนาม เขาและบิดาเห็นตรงกันว่าสนามกอล์ฟแห่งนี้ต้องเป็นมากกว่าสนามกอล์ฟ แน่นอนเรื่องคุณภาพมาตรฐานสากล ความสวยงามต้องมาอันดับ 1 มาตรฐานสนามก็ต้องได้ระดับนานาชาติด้วย นอกจากสนามกอล์ฟ 18 หลุม 72 พาร์ ที่พร้อมสำหรับการแข่งขันระดับเวิลด์คลาสแล้ว ที่นี่ยังออกแบบให้มีความยิ่งใหญ่สไตล์โมเดิร์นและนีโอคลาสสิก คงความหรูหราลักชัวรี่ แต่ไม่ต้องพิธีการเหมือนยุคก่อน


    “ผมคิดว่าการมาเล่นกอล์ฟน่าจะเป็นวันที่ผ่อนคลาย เรายังคงมีคลาสที่ดี แต่ไม่จำเป็นต้องพิธีการแบบใส่สูทผูกไท” เขาหมายถึงภัตตาคาร 2 แห่งในสโตนฮิลล์ที่ออกแบบให้เป็น All Day Dining ที่หรูหราสัมผัสวิวสนามกอล์ฟสุดสายตา ในขณะที่ผู้มาใช้บริการสามารถแต่งกายแบบสบายๆ ได้ ทั้งที่ Ubuntu, Rock Creek และ Firefly ซึ่งเป็นบาร์ที่พร้อมบริการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน


    ตัวสนามกอล์ฟพัฒนาบนที่ดิน 950 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก สาริศบอกว่า บิดาเขามีที่ดินในย่านนี้กว่า 1,500 ไร่ ที่ยังไม่ได้พัฒนา ส่วนพื้นที่สนามกอล์ฟที่พัฒนาไปแล้วมีตัวสนามกอล์ฟ 18 หลุม อาคารสโมสร พร้อมภัตตาคาร 2 แห่งและ 1 บาร์ นอกจากนี้ ยังมีแผนจะสร้างบ้านพักในสนามกอล์ฟ 8 หลัง ไว้รองรับแขกที่มาเล่นกอล์ฟและอยากพักผ่อนที่นี่ โดยจะพัฒนาให้มีบริการไม่ต่างจากโรงแรม 5 ดาว แต่อาจจะเปิดบริการในปี 2566


 

เปิดสนามแมตช์ใหญ่ LIV Golf


วันที่บทความนี้ถูกตีพิมพ์และวางจำหน่ายน่าจะก่อนวันเปิดการแข่งขันกอล์ฟระดับเวิลด์อีเวนต์รายการใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า LIV Golf Invitational Series ที่มาแข่งขันในไทยเป็นแมตช์ที่ 6 หลังจากทัวร์นาเมนต์นี้ถูกตั้งขึ้นมาให้เป็นรายการกอล์ฟระดับเวิลด์คลาสรายการใหม่สุดว้าว ที่ก่อตั้งด้วยเงินทุนของ The Public Investment Fund กองทุนจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ ให้การสนับสนุน เป็นการแข่งขันกอล์ฟระดับเวิลด์คลาสรายการใหม่ซึ่งถูกกล่าวถึงมากในแง่เงินรางวัลที่สูงกว่าทัวร์นาเมนต์ดั้งเดิมอย่าง PGA Golf ถึง 3 เท่า เพื่อดึงดูดนักกอล์ฟชื่อดังจากทั่วโลกมาร่วมแข่งขัน


    “การมาเยือนของ LIV Golf ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดตัว Stonehill ในฐานะสนามกอล์ฟมาตรฐานโลกแห่งใหม่ที่มีทั้งความสวยงามและมาตรฐานสากล” สาริศอธิบายแนวคิดที่เขาและบิดาต่างเห็นพ้องในการดึงทัวร์นาเมนต์ดังที่สดใหม่ในวงการกอล์ฟเข้ามาเปิดตัวสนาม เสมือนการเปิดสนามที่ยิ่งใหญ่ไปพร้อมกัน ด้วยการแข่งขันรายการใหญ่มีการถ่ายทอดสดไปหลายประเทศจะทำให้สนามกอล์ฟสโตนฮิลล์เป็นที่รู้จักได้ไม่ยาก


    “ชื่อ Stonehill มาจากความพร้อมของสนาม ซึ่งปทุมธานีเป็นที่โล่ง สนามกอล์ฟในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นสนามราบๆ แต่ที่นี่เราทำเนินหญ้าสูงต่ำด้วยหินและสะพานที่แข็งแรง” นั่นคือที่มาของชื่อ Stonehill ซึ่งสาริศบอกว่า ต้องการตั้งชื่อให้เป็นสากลและจำง่าย เพราะวิชั่นของบิดาและตัวเขาต้องการสร้างสนามนี้ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล


    สาริศบอกเล่าเรื่องราวของ Stonehill ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การออกแบบ การจัดทีม เตรียมบุคลากร และการรับสมัครทีมงาน เขาลงมือทำทุกอย่าง ใช้คอนเนกชั่นที่มีดึงคนจากหลากหลายแหล่งมารวมเป็นทีมงานที่พร้อมสำหรับบริการสนามกอล์ฟระดับโลก


    โดยตัวสนามนอกจากนักออกแบบสนามกอล์ฟชื่อดังจากอเมริกาแล้ว สนามหญ้าก็นำเข้าผู้จัดการจากออสเตรเลียมาดูแลเรื่องหญ้าโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็ดึงมือบริหารจากทีมเซอร์วิสของโรงแรม 5 ดาวมาเป็นหนึ่งในทีมบริหารด้วย เขาพยายามจัดวางและคัดเลือกให้เหมาะกับลักษณะงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป



    นักธุรกิจหนุ่มวัยเริ่มต้นทำงานเต็มไปด้วยไฟแห่งการพัฒนา เขาดูมุ่งมั่นจริงจังกับสิ่งที่ทำ นี่อาจเป็นเนื้อแท้ของนักธุรกิจบ้าน “รัตนาวะดี” ผู้ไม่ค่อยเปิดตัวกับสื่อมากนัก ความมุ่งมั่นและตั้งใจคงคล้ายคลึงกัน เจ้าตัวบอกว่า ได้แนวคิดหลายๆ อย่างมาจากบิดา โดยเฉพาะความตั้งใจทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ


    “สิ่งที่คุณพ่อสอนแล้วผมรู้สึกว่าได้ใช้จริงๆ คือ เรื่องการทำงานกับผู้คน พ่อบอกว่า เราต้องเข้าใจคนนั่นคือสิ่งที่สำคัญ คนเก่งมีเยอะ คนไม่เก่งก็มีเยอะ สำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้จักพวกเขาจริงๆ” นอกจากรู้จักแล้วยังต้องทำงานด้วยกันให้ได้ สามารถประนีประนอมได้ในบางเรื่อง แต่ถ้าผ่อนผันมากไปงานก็จะไม่จบ


    อีกเรื่องหนึ่งที่สาริศเรียนรู้จากบิดามหาเศรษฐีไทยผู้รักความเป็นส่วนตัวมากที่สุดมักพูดเสมอว่า “การ balance ระหว่าง compromise และคำว่าเด็ดขาดสำคัญ มันต้องมีความพอดีอยู่ตรงนั้น”


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์

คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine

TAGGED ON