ชฎาทิพ จูตระกูล ยอดสตรีแห่งสยาม - Forbes Thailand

ชฎาทิพ จูตระกูล ยอดสตรีแห่งสยาม

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Jul 2016 | 02:56 PM
READ 15990

CEO แห่งสยามพิวรรธน์ ทุ่ม 1,570 ล้านเหรียญ สร้างห้างสรรพสินค้าใหญ่ หวังพลิกโฉมย่านซบเซาของกรุงเทพฯ

“คนมากมายคิดว่าเราฝันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” ชฎาทิพ จูตระกูล หัวเราะน้อยๆ เมื่อนึกถึงปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อโครงการล่าสุดและใหญ่ที่สุดของเธอ Icon Siam ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสยามพิวรรธน์วัย 55 ปี เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสยามพารากอน ห้างสรรพสินค้าที่เป็นเสมือนลายเซ็นประจำตัวเธอ สยามพารากอนไม่ใช่แค่สถานที่ห้ามพลาดในกรุงเทพฯ แต่ยังโด่งดังในระดับโลก ด้วยความเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีการโพสต์ถึงมากที่สุดบน Instagram เคียงคู่ Disneyland และหอไอเฟล ตลอดเวลาเกือบ 60 ปี สยามพิวรรธน์ พัฒนาจากธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้าซึ่งสร้างโดยพ่อของชฎาทิพมาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ดำเนินงานโดยบริษัทชื่อว่า สยาม ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว ในอุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยที่การแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น คู่แข่งหลายรายพากันขยับขยายไปยังปริมณฑล ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ต่างประเทศ แต่สยามพิวรรธน์ไม่ทำเช่นนั้น บริษัทปรับโมเดลธุรกิจอยู่เสมอ เอาชื่อเสียงผูกไว้กับสยามพารากอนและห้างอื่นๆ ที่อยู่ติดกัน ไม่ว่าจะเป็น Siam Discovery หรือ Siam Center ดังนั้น Icon Siam จึงเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของบริษัทจากย่านสยามสแควร์ที่คุ้นเคยข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังที่ดินผืนร้างย่านธนบุรี สองร้อยปีก่อนธนบุรีเคยเป็นเมืองหลวงก่อนหน้ากรุงเทพฯ แต่พัฒนาการไหลบ่าข้ามแม่น้ำมายังฝั่งกรุงเทพฯ เรื่อยไปยังสาทรและสุขุมวิท ห้องแถวคอนกรีตเก่าๆ ที่เรียงราย ดูไม่น่าจะเป็นพื้นที่ก่อสร้างแหล่งช้อปปิ้งหรูหราสักเท่าไหร่ แต่ CEO ผู้เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิดมีแผนการใหญ่ที่จะฟื้นแม่น้ำเจ้าพระยาหรือราชาแห่งสายน้ำ ด้วยงบก่อสร้าง 1,570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชฎาทิพกล่าวว่า Icon Siam จะเป็นโครงการที่ภาคเอกชนเป็นผู้ออกทุนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากพื้นที่ค้าปลีก 5.5 ล้านตารางฟุต ในโครงการยังประกอบไปด้วยอาคารที่พักอาศัยแนวดิ่งสองอาคาร พิพิธภัณฑ์ ทางเดินริมแม่น้ำความยาวครึ่งกิโลเมตร อาคารอเนกประสงค์สำหรับศิลปะรูปแบบต่างๆ ศูนย์ประชุมและโรงละคร รวมไปถึงท่าจอดเรือนำเที่ยวและเรือยอท์ชส่วนตัว มีการวางแผนสร้างสะพานแห่งใหม่หลายสะพานในกรุงเทพฯ รวมถึงรถไฟใต้ดินข้ามแม่น้ำ และ Icon Siam จะเชื่อมทั้งสะพานและสถานีรถไฟด้วยรถไฟโมโนเรลชื่อว่า Gold Line สยามพิวรรธน์จะออกเงินสร้าง 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทจะจ่ายเงินก่อสร้างรถไฟใต้ดินและมอบให้กับกรุงเทพมหานคร สยามพิวรรธน์ ถือว่าเป็นมือใหม่ในการพัฒนาที่พักอาศัย จึงได้จับมือกับ Magnolia Quality Development บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์เท่ากับได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ CP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมี เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ นั่งแท่นบริหาร เขาได้รับการจัดอันดับจาก FORBES ASIA ให้เป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในไทย ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ลูกสาวของเขา เป็นผู้บริหารของ Magnolia กลุ่ม CP และ Magnolia ถือหุ้นใน Icon Siam เท่ากันคือร้อยละ 25 ทำให้สยามพิวรรธน์มีหุ้นอยู่ร้อยละ 50 แม้โครงการจะยังเป็นที่ดินว่างเปล่าในปี 2014 แต่ก็สามารถขายห้อง 379 ยูนิตในอาคารที่พักอาศัยหลังหนึ่ง ในราคาเท่ากับห้องพักย่านใจกลางเมือง ตามข้อมูลของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “การเปิดตัวคอนโดไปได้สวยและช่วยให้โครงการเป็นที่รู้จัก” Simon Landy ประธานบริษัท Colliers International ประจำประเทศไทยกล่าว ชฎาทิพเล่า ถึงแผนการว่า “นี่ ไม่ใช่แค่เรื่องของ Icon Siam แต่เป็นอนาคตของแม่น้ำเจ้าพระยา เราจะทำยังไงที่จะทำให้แม่น้ำมีความสำคัญในทุกด้าน ซึ่งหมายถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศิลปะ และเทศกาลต่างๆ คุณค่าในทุกๆ ด้านจะต้องถูกผนวกเข้าไว้ด้วยกัน” เพื่อนร่วมงานเล่าถึง ชฎาทิพว่าเป็นมนุษย์เครื่องจักรที่มีเรี่ยวแรงมหาศาล “เธอเป็นซูเปอร์วูเมนเลยค่ะ ทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์” หนึ่งในเพื่อนร่วมงานคนสนิทของเธอบอก และก็เช่นเดียวกับคนอื่นที่บริษัทซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ เธอกล่าวว่า “เราจะได้รับอีเมล์จากเธอตลอดเวลา ไม่ว่าจะกี่โมงกี่ยาม” และเสริมด้วยว่า “เธอลงมาคลุกคลีในทุกเรื่อง สยามพิวรรธน์คือชีวิตของเธอ เป็นความคลั่งไคล้ใหลหลงของเธอ” บริษัทที่ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้า ชั้นนำอีกแห่งก็มีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงเช่นกัน “ฉันคิดว่ามันเป็นธรรมชาติของธุรกิจ” ชฎาทิพกล่าว พร้อมบอกด้วยว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ใส่ใจในรายละเอียด สยามพิวรรธน์เป็นเจ้าของสยามพารากอนโดยถือหุ้นร้อยละ 51 อีกร้อยละ 49 ถือหุ้นโดยบริษัทมอลล์กรุ๊ป ซึ่งบริหารงานโดยศุภลักษณ์ อัมพุช ชฎาทิพ ไม่เชื่อว่าเพศสภาพมีบทบาทสำคัญในประเทศไทย “ประเทศนี้ให้อิสระเราที่จะเป็นได้อย่างใจ” เธอกล่าว “เรามีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง มีรัฐมนตรีหลายท่านเป็นผู้หญิง” ในวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงมีความเท่าเทียม เธอบอก “ไม่มีสิ่งใดจะขวางกั้นเรา” เรื่อง: RON GLUCKMAN เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม
คลิ๊กอ่าน "Asia's Power Bussiness Woman 2016 ยอดสตรีแห่งสยาม" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ June 2016

TAGGED ON