พุ่งขึ้นหลังพลิกฟื้น AMD - Forbes Thailand

พุ่งขึ้นหลังพลิกฟื้น AMD

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Oct 2023 | 11:00 AM
READ 1651

Lisa Su เป็นผู้นำการพลิกฟื้นสถานการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ Silicon Valley หลังจากขับเคลื่อนราคาหุ้นของบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ที่ลมหายใจรวยรินทะยานขึ้นมาถึงเกือบ 30 เท่าในเวลาไม่ถึงทศวรรษเวลานี้เธอกำลังเตรียมพร้อมสำหรับสู้ศึกปฏิวัติปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังจะมาถึง และเธอคาดว่าจะยังคงเก็บชัยชนะได้ต่อไป

    

    ถนนแห่งนี้คือเส้นทางเชื่อมโยงสู่อดีตของบริษัท ซึ่งเป็นโรงหล่อเก่าแก่ตั้งอยู่ที่ Sunnyvale ณ ที่แห่งนี้ AMD เคยใช้เป็นสถานที่ผลิตชิป แต่วันนี้เมื่อ Su มองออกมาจากหน้าต่างเธอจะเห็นเพียงภาพปัจจุบันของบริษัทที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเครื่องหมายแสดงความสำเร็จล่าสุด นั่นคือ สำนักงานของ Intel คู่แข่งรายใหญ่ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.203 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง AMD เพิ่งจะแซงหน้าด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.535 แสนล้านเหรียญ
แต่ใช่ว่าเส้นทางจะราบรื่นเช่นนี้เสมอไป 

    เมื่อตอนที่ Su (ปัจจุบันอายุ 53 ปี) เข้ารับตำแหน่งซีอีโอที่ AMD (Advanced Micro Devices) ในปี 2014 บริษัทผลิตชิปแห่งนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจนต้องปลดพนักงานออกถึง 1 ใน 4 ขณะที่ราคาหุ้นอยู่ที่ราว 2 เหรียญเท่านั้น Patrick Moorhead อดีตผู้บริหาร AMD จำได้ว่าบริษัทของเขาอยู่ในสถานการณ์ “ตายแล้วตายอีก” แต่ในเวลาต่อมา Intel ก็เริ่มสะดุดจากความล่าช้าในการผลิต บวกกับApple ตัดสินใจว่าจะไม่ใช้ชิปของ Intel ใน iPhones อีกต่อไป

    ด้วยความหัวไวและมีวิสัยทัศน์อย่างนักวางกลยุทธ์ทำให้ Su สามารถฉวยโอกาสจากความผิดพลาดของคู่แข่งเข้าทำสัญญากับบริษัทคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป เช่น Lenovo บริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Sony รวมถึงบริษัทอย่าง Google และ Amazon ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทำยอดขายให้กับ AMD ได้ถึง 6 พันล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว

     ในขณะที่ Intel ทำรายได้ประจำปี 6.3 หมื่นล้านเหรียญ นำหน้า AMD (2.36 หมื่นล้านเหรียญ) แบบไม่เห็นฝุ่น แต่การแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดชิปเซิร์ฟเวอร์อันหอมหวนมาจากบริษัทเพื่อนบ้านใน Silicon Valley รวมถึงการคว้าบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ Xilinx ส่งผลให้หุ้นของ AMD ทะยานเกือบ 30 เท่าตัวในช่วงระยะเวลา 9 ปีนับตั้งแต่การเข้าดำรงตำแหน่งของ Su 

    นอกจากนี้ กระแสปัญญาประดิษฐ์ยังผลักดันความต้องการสมองที่ทำจากซิลิคอน (silicon brain) เพื่อนำมาสนับสนุนการทำงานของแมชชีนเลิร์นนิ่ง สิ่งที่ Su มีอยู่กลายเป็นโอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทายที่น่ากังวลว่า AMD จะสามารถผลิตชิปที่ทรงพลังมากพอที่จะโค่น Nvidia ผู้เกือบจะผูกขาดตลาดโปรเซสเซอร์รองรับกระแสเทคโนโลยี Generative AI ได้หรือไม่ “เมื่อมองไปยังอีก 5 ปีข้างหน้าคุณจะเห็น AI ในผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของ AMD และ AI จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญที่สุด”

    ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา Su บริหารงานด้วยความเร็วสูงให้กับ AMD เหมือนกับคอเกมที่ให้โปรเซสเซอร์ทำงานเกินขีดจำกัด Su ต่างจากผู้บริหารสายเทคโนโลยีอีกจำนวนมากกล่าวคือ เธอเป็นนักวิจัยระดับโลก การันตีด้วยปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจาก MIT เธอมีส่วนผสมอันเป็นเอกลักษณ์ระหว่างความอัจฉริยะเชิงเทคนิค ทักษะด้านผู้คน และความเข้าใจธุรกิจ ทำให้เธอเกาะกลุ่มซีอีโอที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุดใน S&P 500 มาตลอดหลายปี (ปี 2022 เธอได้รับค่าตอบแทนรวม 30.2 ล้านเหรียญ) โดยรวมแล้วเธอมีทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่ารวมกัน 740 ล้านเหรียญ 

    โดยส่วนใหญ่จากมูลค่าหุ้นของ AMD ส่งให้เธอขึ้นครองอันดับ 34 ในการจัดอันดับประจำปีนักธุรกิจหญิงที่รวยที่สุดในสหรัฐฯ ของ Forbes “เป็นเรื่องของการเผชิญหน้าและจัดการให้อยู่หมัด” Panos Panay ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Microsoft กล่าวด้วยความรู้สึกประทับใจ หลังจากที่เขาได้พบกับ Su ครั้งแรกเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอเข้ามาพลิกสถานการณ์ของ AMD พอดี
ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา Intel มีรายได้ลดลง 12% เหลือ 6.31 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ Nvidia กำลังมาแรง ไม่เพียงแต่จะสร้างสรรค์การแสดงภาพอย่างน่าทึ่งให้กับเกมต่างๆ เช่น Cyberpunk 2077 แต่ Nvidia ยังมี GPU (หน่วยประมวลผลกราฟิก) ที่บรรดาบริษัท AI เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น OpenAI ซึ่งมีแชทบอท ChatGPT ที่สร้างความบันเทิงและปั่นป่วนให้กับหลายๆ คนด้วยการตอบคำถามและคำสั่งต่างๆ โดยละเอียดในบทสนทนาคล้ายมนุษย์อย่างน่าประหลาดใจ

    เครื่องมือที่เรียกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่นี้จริงๆ แล้วเป็นเพียงมายากลสนุกๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโลกของ AI แม้กระทั่งอภิมหาอำนาจอย่าง Bill Gates ยังบอกว่า มีความสำคัญเท่ากับจุดกำเนิดของอินเทอร์เน็ตเลยทีเดียว ในเวลานี้ความต้องการ GPU สำหรับขับเคลื่อน AI มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีบริษัทวิจัยอย่างน้อย 1 แห่งที่คาดการณ์ว่าบริษัทผู้ผลิต GPU จะทำกำไรได้มากถึง 4 แสนล้านเหรียญในทศวรรษหน้า แต่ในเวลานี้มีบริษัทเพียงแห่งเดียวเท่านั้น “AI ก็คือ Nvidia” Glenn O,Donnell นักวิเคราะห์จาก Forrester กล่าว “นับว่ามั่นคงมากทีเดียว ถ้าอยากจะแซงหน้าให้ได้ AMD ก็ต้องเร่งเครื่อง”

    ขณะเดียวกันเงาทะมึนของ Intel ยังคงปกคลุม Highway 101 แม้ว่ายักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจคอมพิวเตอร์ยังคงเผชิญการผลิตที่ล่าช้าชิปมีปัญหา และการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้นำอย่างต่อเนื่อง

    “AMD มีอะไรดีๆ มากมาย แต่ข้อเสียคือ เรามีคู่แข่งระดับโลก อยู่ 2 ราย” Forrest Norrod ผู้บริหาร AMD กล่าว เขาเคยช่วย Dell สร้างธุรกิจศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลมูลค่าราว 1 หมื่นล้านเหรียญ (รายได้ปี 2014) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากชิปของ AMD เขากล่าวเสริมว่า บริษัทไม่เคยมองว่าคู่แข่งสำคัญของพวกเขาจะปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง “เราคิดเสมอว่า Intel จะแก้ปัญหาตนเอง”
ตอนที่ SU ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร AMD ในปี 2014 บรรดานักวิเคราะห์บอกว่า บริษัทแห่งนี้ “ไม่น่าลงทุน” ท่ามกลางหนี้สิน 2.2 พันล้านเหรียญ สินทรัพย์มีค่าบางรายการถูกนำออกขายแยกส่วน โรงงานผลิตชิปหรือที่ในอุตสาหกรรมเรียกกันว่า “Fab” ถูกแยกกิจการออกมาในปี 2009 นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่รื่นหูเอาเสียเลยสำหรับ Jerry Sanders ผู้ร่วมก่อตั้ง AMD ที่เคยป่าวประกาศอย่างไม่อายใครว่า “คนจริงต้องมี Fab” พวกเขาจำต้องขายแม้กระทั่งสาขาใน Austin รัฐ Texas (ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติงานปัจจุบันของ Su) ออกไปก่อนที่จะเช่ากลับมาเมื่อปี 2013
ซ้ำร้ายกว่านั้น แม้กระทั่งการบริหารทั่วไปของ AMD ก็มีปัญหา เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ Intel กับ Nvidia, Qualcomm และ Samsung ยังครองตลาดแล็ปท็อปทั้งหมด เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเหลือไว้ก็เพียงส่วนปลายของตลาดที่มีราคาถูก “ตอนนั้นเทคโนโลยีของเรายังแข่งกับใครไม่ได้เลย” Su ยอมรับ

    แต่ AMD ก็ใช่ว่าจะเป็นตัวปัญหาให้กับบรรดานักลงทุนเสมอไปในช่วงต้นยุค 1980 Sanders หันมาจับธุรกิจไมโครโปรเซสเซอร์ เพื่อผลิตชิปให้กับ IBM ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มเปลี่ยนแปลง
ในช่วงปลายยุค 1990 จนเข้าสู่ต้นยุค 2000 AMD ซึ่งเคยไดรับการจัดอันดับเป็นที่ 2 เสมอมานั้นเริ่มทำกำไรจากการผลิตโปรเซสเซอร์ของตนเองที่มีความเร็วแซงหน้าโปรเซสเซอร์ของ Intel ไม่ทันพ้นปี 2014 คืนวันอันยิ่งใหญ่ก็ผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับพนักงานอีก 1 ใน 4 ที่โดน Rory Read ซีอีโอก่อนหน้า Su ไล่ออก (Sanders ลาออกจากเก้าอี้ซีอีโอเมื่อปี 2002) 

    ครั้งหนึ่ง AMD เคยครองพื้นที่ถึง 1 ใน 4 ของตลาดชิปเซิร์ฟเวอร์มูลค่า 2.4 หมื่นล้านเหรียญ ก่อนลดลงเหลือเพียง 2% เมื่อปี 2014 ในวันที่ 2 ของการเข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอ Su ลุกขึ้นมาจับไมโครโฟนระหว่างการประชุมบริษัท เธอบอกกับพนักงานที่กำลังขวัญเสียว่า “ฉันเชื่อว่าเราจะสามารถสร้างสิ่งที่ดีที่สุด” เธอจำได้ว่าบอกกับพนักงานไปอย่างนั้น “คุณอาจคิดว่ามันก็เห็นๆ อยู่ แต่ในตอนนั้นบริษัทมองไม่เห็นอะไรนั้นเลย”

    เสียงเรียกร้องดังกล่าวเป็นทั้งคำสั่งและขั้นตอนแรกในแผน 3 ทิศทางเพื่อแก้ไขสถานการณ์ของ AMD ประกอบไปด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ เสริมสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า และลดความซับซ้อนในการดำเนินงานของบริษัท “แค่ 3 อย่าง เอาง่ายไว้ก่อน เพราะถ้ามี 5 หรือ 10 อย่างมันจะยากมาก”

    Su ให้วิศวกรของเธอหันไปสร้างชิปที่จะเอาชนะ Intel ได้ แต่ก็อาจทำให้นักออกแบบชิปต้องใช้เวลาหลายปีในการร่างพิมพ์เขียวขั้นสุดท้ายที่สามารถใช้งานได้จริง ส่วนแบ่งตลาดเซิร์ฟเวอร์ของ AMD หดตัวลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงครึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่นักวิจัยตรากตรำทำงานกันอย่างหนักในห้องทดลอง “ตอนนั้นบริษัททำผลงานได้ไม่ดีเอาเสียเลย แต่ให้ตายสิพวกเขากำลังสร้างผลงานการออกแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในอุตสาหกรรม”

    Su กล่าว “วิศวกรได้แรงบันดาลใจจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งฉันอยากจะเน้นความสำคัญตรงจุดนี้ต่อไป
Su เลือกที่จะให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมชิปรูปแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Zen ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ประสบความสำเร็จเมื่อในที่สุด Zen ก็ได้เปิดตัวในปี 2017 “มันดีมากจริงๆ” เธอกล่าวด้วยความภาคภูมิใจเปล่งประกายและเสริมว่า Zen สามารถคำนวณได้เร็วกว่ารูปแบบก่อนหน้านี้ของบริษัทถึงกว่า 50% ที่สำคัญกว่านั้น คือ เป็นการส่งสัญญาณให้อุตสาหกรรมเห็นว่าสถานการณ์ของ AMD เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อ Zen เปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นที่ 3 ในปี 2020 พวกเขาก็กลายเป็นผู้นำตลาดด้านความเร็วไปแล้ว เวลานี้สถาปัตยกรรม Zen รองรับโปรเซสเซอร์ทั้งหมดของ AMD
ทีมงานของ Su รับหน้าที่ดูแลชิปรุ่นใหม่ 

    ขณะที่เธอตบเท้าเสนอขายชิปเหล่านี้ให้กับลูกค้าศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล (ที่ไม่ยินดียินร้ายอะไร) ด้วยตนเอง ก่อนหน้านี้เธอใช้เวลาหลายต่อหลายปีในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า แม้ในเวลาที่ AMD ไม่มีชิปจะขาย ครั้งหนึ่ง Su เคยขับรถฝ่าพายุน้ำแข็งใน Texas เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมงเพื่อกล่อม Antonio Neri ซีอีโอคนปัจจุบันของ Hewlett Packard Enterprise “จะบอกว่าฉันไม่ค่อยปลื้ม AMD รุ่นก่อนๆ ก็ว่าได้” Neri กล่าว “แต่ Su แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ”

    ส่วนสำคัญในกลยุทธ์ของ Su คือ การเข้าทำสัญญากับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่ต้องการ CPU จำนวนมากสำหรับขับเคลื่อนธุรกิจคลาวด์ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว “จริงๆ แล้วเรามีพันธมิตรด้านไมโครโปรเซสเซอร์ 3 รายคือ Nvidia, Intel และ AMD” Thomas Kurian ซีอีโอของ Google Cloud กล่าว “ตอนที่ผมเข้ามา AMD ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในระบบนิเวศของเราเลย ต้องยกให้เป็นผลงานของ Lisa ที่ตอนนี้ AMD เป็นพันธมิตรสำคัญของเราแล้วในเวลานี้”

    ตอนที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ AMD แซงหน้าIntel เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว Sanders ผู้ร่วมก่อตั้งซึ่งปัจจุบันอายุ 86 ปีรู้สึกดีใจสุดขีด “ผมโทรหาทุกคนที่รู้จัก ดีใจจนแทบบ้า แต่ผมเสียใจที่ Andy Grove ไม่ได้มีชีวิตอยู่ให้ผมได้บอกเขาว่า “ตามทันแล้ว!” (Grove คืออดีตซีอีโอในตำนานของ Intel เขาเสียชีวิตในปี 2016)

    Su เป็นลูกสาวของนักคณิตศาสตร์และพนักงานบัญชีที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ เธอเกิดที่ Tainan ในไต้หวันเมื่อปี 1969 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Sanders ก่อตั้ง AMD ครอบครัวของเธออพยพไปอยู่ที่ New York City ตั้งแต่ตอนที่เธออายุได้เพียง 3 ขวบ เธอเลือกศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ Massachusetts Institute of Technology เพราะดูแล้วน่าจะเป็นวิชาเอกที่ยากที่สุด Hank Smith
ผู้บริหารห้องปฏิบัติการโครงสร้างนาโนของ MIT ในเวลานั้นบอกว่า สำหรับคนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะทางอย่าง Su นับว่าเธอสามารถเข้ากับคนอื่นได้เป็นอย่างดี เธอคือผู้พิทักษ์สันติเมื่อเพื่อนนักศึกษาเกิดเรื่องไม่ลงรอยกัน

    เมื่อได้ยินว่าเธอคือคนของประชาชน Su หัวเราะร่า “เฉพาะตอนเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ที่ MIT มากกว่า” เธอกล่าวติดตลก “คงไม่มีใครบอกว่าฉันเป็นพวกคนชอบสังคมหรอกนะ เพียงแต่ว่า
การสื่อสารเป็นส่วนสำคัญของการทำงานของฉันต่างหาก”

    หลังจากทำงานที่ Texas Instruments เป็นช่วงเวลาสั้นๆ Su ออกมาเข้าร่วมทีมวิจัยที่ IBM เมื่อปี 1995 เธอช่วยออกแบบชิปที่ทำงานเร็วขึ้น 20% โดยใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่มีวงจรทองแดงแทนวงจรอะลูมิเนียมแบบเดิม เพียงเวลาไม่นานความสามารถของเธอก็ไปสะดุดตาบรรดาผู้บริหาร ในปี 1999 หรือเพียง 1 ปีหลังจากการเปิดตัวเทคโนโลยีทองแดงดังกล่าว Lou Gerstner ซีอีโอของ IBM ในเวลานั้นทาบทามให้ Su มาเป็นผู้ช่วยด้านเทคนิคของเขา ในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกในรอบ 20 ปี Gerstner บอกกับ Forbes ว่า ตอนแรกเขากังวลว่า Su จะยังเด็กเกินไปสำหรับงานนี้ แต่ความกังขาของเขาก็หมดไปอย่างรวดเร็ว “เธอพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นพนักงานที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในสำนักงานของผม Lisa จะไม่ยอมทำตามรูปแบบเดิมๆ เธอฉีกกฎมามากมายตลอดชีวิตการทำงาน”

    การแต่งตั้งครั้งนั้นทำให้ Su กลายเป็นแนวหน้าในการพลิกสถานการณ์ของบริษัทจนกลายเป็นกรณีศึกษาสุดคลาสสิกคือ การคืนชีพกิจการที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการพึ่งพาขนาดของบริษัทและการสร้างวัฒนธรรมแห่งการอุทิศตนเพื่อลูกค้า Gerstner สามารถเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ IBM ได้เกือบ 6 เท่าตัวตลอดระยะเวลาการบริหารกิจการเกือบ 9 ปีของเขา นอกจากนี้ Su ยังลิ้มรสกับการเจรจาข้อตกลงธุรกิจ โดยช่วยให้ IBM เซ็นข้อตกลงธุรกิจร่วมกับ Sony และ Toshiba ในปี 2001 เพื่อบรรจุชิปของ IBM ใน PlayStation 3

    ในช่วงแรกบางครั้ง Su รู้สึกกังวลว่า เธอไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้นั่งโต๊ะร่วมกับบรรดานักธุรกิจรุ่นใหญ่ แต่ไม่นานนักเธอก็ตระหนักได้ว่า ความเฉลียวฉลาดทางเทคนิคที่เธอเรียนรู้มาอย่างหนักทำให้เธอได้เปรียบกว่าคนที่เดินเส้นทางสายบริหารมาเสียอีก “ฉันเห็นคนจบปริญญาเอกจาก MIT ทำงานให้กับคนจบ MBA จาก Harvard ซึ่งจริงๆ แล้วฉันว่ามันไม่สมเหตุสมผลแม้แต่น้อย” 

    Su กล่าวไว้ในสุนทรพจน์จบการศึกษาเมื่อปี 2017 ที่สถาบันเก่า ปัจจุบัน MIT มีห้องปฏิบัติการนาโนเทคที่ตั้งชื่อเป็นเกียรติให้กับเธอปลายปี 2011 Nick Donofrio (Su รู้จักกับ Donofrio ที่ IBM) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการ AMD โทรศัพท์หา Su ลูกน้องเก่า ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของ Freescale บริษัทผลิตชิปใน Austin ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ NXP Semiconductors ทั้งสองพบกันเพื่อรับประทานอาหารค่ำและดื่ม Brunello ด้วยกันสักขวด จากนั้นเขาจึงเสนอโอกาสที่ไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ บนพื้นฐานของความสามารถที่จะทำได้จริง ไม่กี่วันให้หลัง Su ตอบรับเข้าดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสให้กับหน่วยธุรกิจทั่วโลกของ AMD เวลา
ผ่านไป 2 ปีหลังจากวันที่เริ่มดำรงตำแหน่ง เธอรับหน้าที่บริหารงานทั้งบริษัท ทำให้เธอกลายเป็นซีอีโอหญิงคนแรกของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่

    “เวลาฉันเดินเข้าไปในห้องจะมีคนอยู่ประมาณ 25 คน และฉันอาจจะเป็นผู้หญิงคนเดียวก็ได้” ทำให้เธอนึกถึงวันแรกๆ ที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ “ฉันประทับใจวิศวกรหญิงอายุน้อยๆ มากเป็นพิเศษ อยากให้พวกเขาเหล่านี้ทำงานวิศวกรรมต่อไป”

    ตอนที่ Su เข้ารับตำแหน่งครั้งแรก เธอบินไปยัง Beverly Hills ด้วยตนเองเพื่อขอให้ Sanders จาก AMD พูดคุยกับทีมงานของเธอ แม้ Sanders จะบอกว่า เขาซึ้งใจกับข้อเสนอของ Su มากแต่ก็ปฏิเสธไป “ไม่ใช่ทีมของผมอีกต่อไป เป็นทีมของคุณต่างหาก” เขาจำได้ว่าบอกกับเธอไปอย่างนั้น จากประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพนักงานขาย Sanders จึงมีข้อเสนอกลับไป เขาจะเดินทาง
เยือนบริษัทเมื่อบริษัทสามารถทำกำไรได้ 2 ปีติดต่อกัน ในปี 2019 ซึ่งบังเอิญตรงกับวันครบรอบ 50 ปีของบริษัทพอดี 

    Sanders ก็ทำตามสัญญา Mark Papermaster ดาวเด่นแห่งแวดวงเซมิคอนดักเตอร์ผู้นำทีมวิศวกร iPhone และ iPod ที่ Apple และย้ายมาร่วมงานกับ AMD ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับ Su นั้นเป็นผู้สังเกตการณ์การกลับมาอันโดดเด่นภายใต้การนำของ Su อย่างกระตือรือร้น ที่ Apple นั้น Papermaster เคยทำงานให้กับอีกหนึ่งศิลปินผู้เชี่ยวชาญการพลิกสถานการณ์ นั่นคือผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Steve Jobs ที่กอบกู้บริษัทจากหายนะกลับมาอยู่บนเส้นทางสู่การเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก “เมื่อมองหลายๆ ด้านจะเห็นว่างานของ Lisa ยิ่งยากกว่าเสียอีก” Papermaster กล่าว “ถ้าไม่ใช่ผู้ก่อตั้งคุณยิ่งต้องสร้างความน่าเชื่อถือและกำหนดวิสัยทัศน์ของตนเอง และพาบริษัททั้งบริษัท ลูกค้า และนักลงทุนไปกับคุณด้วย”

    ความสำเร็จของ Su ที่ AMD ทำให้เธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าวิศวกรรุ่นเยาว์ เป็นฮีโรของนักลงทุน และยังกลายเป็นมีมอีกต่างหาก เมื่อไม่กี่ปีก่อนแอนิเมชัน 8 บิตที่ Su ใช้ชิป Ryzen ของ AMD แปลงร่างเป็นซูเปอร์ฮีโรหรือไม่ก็ยิงเลเซอร์ออกมาจากตากลายเป็นไวรัลทาง Twitter เธอในร่างหุ่นฟิกเกอร์สวมชุดเกราะสีส้มและแดง มีหมวกนิรภัยอยู่ข้างตัว โดดเด่นอยู่บนชั้นวางของในห้องทำงาน เป็นของขวัญจากแฟนคลับในงานประชุมเกม E3

    “น่าจะเป็นช่วงเวลาที่บันเทิงที่สุดครั้งหนึ่งในการทำงานของฉันเลย” Su กล่าว แม้ว่าเธอจะขยันใช้ Twitter และ Reddit แต่กลับไม่ “สนใจเรื่องมีมเท่าไรนัก ไม่ใช่แนวของฉันเลย” หลังจากที่ Su คืนพลังงานชีวิตให้กับ AMD แล้ว เวลานี้เธอให้ความสำคัญกับการวางอนาคตบริษัทในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

    ในขณะที่เธอกำลังฟื้นฟูธุรกิจอย่างขยันขันแข็ง ทางด้านของ Jensen Huang ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Nvidia ก็ทำงานอย่างหนักเพื่อให้บริษัทของเขากลายเป็นผู้จำหน่ายกำลังการประมวลผลปัญญาประดิษฐ์ที่ใครๆ ต่างหมายปอง 

    Huang เป็นญาติห่างๆ ของ Su (Su เล่าว่า “แม่ของ Huang เป็นพี่น้องกับคุณปู่ของฉัน”) เขามองเห็นโอกาสในการขายชิปเพื่อสนับสนุนการทำงานของเครื่องมือ AI อย่าง ChatGPT ความต้องการสินค้าทำให้ราคาหุ้นของ Nvidia ทะยานใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีค่า P/E ล่วงหน้าราว 64 เท่า หรือมากกว่า AMD เกือบ 2 เท่าตัว “นักลงทุนถึงให้ความสนใจ AMD เพราะพวกเขาอยากได้ Nvidia เวอร์ชันยาจก” Stacy Rasgonนักวิเคราะห์จาก Bernstein กล่าว “จริงๆ แล้วตลาดมันอาจจะใหญ่มากจนไม่ต้องแข่งขันกันเลยก็ได้”

    แต่ Su ต้องการให้มีการแข่งขัน ด้วยความหวังว่าจะได้สู้กับ H100 GPU ที่เน้น AI ของ Nvidia เธอจึงวางเดิมพันด้วยการอัปเกรดชิปประจำปี ซึ่งเท่ากับเป็นการปรับสถานะของ AMD ใหม่ สำหรับ AMD ภายใต้การนำของ Su มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาถึง 5 พันล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า หรือเกือบจะเท่ากับรายได้ทั้งหมดของบริษัทตอนที่เธอเข้ารับตำแหน่งเลยทีเดียว

    ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ Oak Ridge National Laboratory ใน Tennessee มีความเร็วมากที่สุดในโลก สร้างเสร็จเมื่อปี 2022 คือโครงการในฝันของ Su เครื่องจักรใหม่นี้สร้างขึ้นเพื่อให้มีกำลังในการประมวลผลไม่ต่ำกว่าล้านล้านล้านล้านครั้งต่อวินาที และเป็นพื้นที่แสดงชิป AI ของ AMD นอกจากนี้ เธอยังมีทีเด็ดด้วยชิป MI300 ซึ่งเป็นการรวม CPU เข้ากับ GPU นำมาสู้ซูเปอร์ชิปใหม่ของ Nvidia และพร้อมจะจัดส่งภายในปีนี้

    Su ยังแข่งขันกับ Nvidia ในด้านการซื้อกิจการด้วย เช่น การเข้าซื้อ Xilinx (บริษัทผลิตโปรเซสเซอร์ที่สามารถเขียนโปรแกรมได้เพื่อช่วยให้การทำงานต่างๆ เร็วขึ้น เช่น การบีบอัดวิดีโอ) มาในราคา 4.88 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปี 2022 โดยในการทำสัญญาครั้งนี้ Victor Peng อดีตซีอีโอของ Xilinx ได้กลายมาเป็นกรรมการ ผู้จัดการใหญ่และหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ AI ให้กับ AMD

    นอกจาก Nvidia แล้ว AMD ยังต้องเผชิญอุปสรรคใหม่ๆ เช่น ลูกค้าบางรายหันมาพัฒนาชิปของตนเอง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อลดการพึ่งพาบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon ออกแบบชิปเซิร์ฟเวอร์ให้กับธุรกิจ AWS ของตนเองในปี 2018 ขณะที่ Google ใช้เวลาเกือบทศวรรษในการพัฒนาชิป AI ของตนเอง เรียกว่า Tensor Processing Units เพื่อนำมาช่วย “อ่าน” ชื่อป้ายที่บันทึกได้จากกล้อง Street View เคลื่อนที่และป้อนแรงม้าเบื้องหลังแชทบอท Bard แม้กระทั่ง Meta ยังมีแผนที่จะสร้างฮาร์ดแวร์ AI ของตนเอง

    แต่กระนั้น Su ไม่ได้กังวลว่าวันหนึ่งลูกค้าของเธออาจกลายเป็นคู่แข่ง โดย Su กล่าวว่า “เป็นเรื่องธรรมดา” สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการสร้างชิ้นส่วนประกอบของตนเองเพื่อประสิทธิภาพในการ
ดำเนินงาน แต่ Su มองว่าพวกเขามีข้อจำกัดหากขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่ AMD ได้สร้างไว้ตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา “ฉันคิดว่าโอกาสที่ลูกค้าของเราจะเลียนแบบระบบนิเวศได้ทั้งหมดนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้”

    Su อยู่ในสถานการณ์ดีที่จะได้ลองจับตลาดชิป AI แต่เธอเองก็รู้ดีว่าจากการฟื้นสถานการณ์สู่ความล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน ยังมีงานอีกมากมายที่ต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่า AMD จะคง
ยืนหยัดได้ต่อไป “ฉันคิดว่ายังมีก้าวต่อไปสำหรับ AMD ก่อนหน้านี้เราต้องพิสูจน์ว่าเราเป็นบริษัทที่ดี ซึ่งฉันคิดว่าเราทำได้แล้ว ตอนนี้เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเรานั้นเยี่ยมยอดและมีมรดกที่จะฝากไว้กับโลกนี้ไปอีกนานแสนนาน เหล่านี้ต่างหากเป็นปัญหาที่น่าสนใจ”

    

    อ่านเพิ่มเติม : ผศ.นพ.ชลริศ สินรัชตานันท์ ปั้น TRP เลื่่องชื่อด้วยนวัตกรรม

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine