- SMART Economy การเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจและการลงทุน
- SMART Mobility ระบบการขนส่งและการเดินทางที่ทันสมัย
- SMART People การศึกษาที่เข้าถึงทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล
- SMART Living การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
- SMART Governance การพัฒนาระบบข้อมูลและการให้บริการภาครัฐ
- SMART Environment การบริหารจัดการทรัพยากร
- SMART Energy การบริหารจัดการด้านพลังงาน ด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันตัวเองเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค
เจาะเบื้องหลังความพิเศษของ “อาคารแสดงประเทศไทย” พร้อมอวดสายตาชาวโลกในงาน “World Expo 2020 Dubai”
วันนี้แล้วที่นานาประเทศจะได้ยลโฉมและรู้จักประเทศไทยมากขึ้นผ่านอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ในงานแสดงนิทรรศการระดับโลก World Expo 2020 Dubai ที่จะมีขึ้น ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564-31 มีนาคม 2565 ระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน
แม้การจัดงานครั้งนี้ จะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากสถานการณ์โรคระบาด ที่ทำให้ต้องเลื่อนการจัดงานออกไปถึง 1 ปี แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการดำเนินงานก็สามารถข้ามผ่านความท้าทาย ผนึกกำลังกับพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดเตรียมงานอย่างสุดความสามารถ ในการจัดสร้างอาคารแสดงประเทศไทย ที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างไร้ที่ติ สมกับที่อาคารแสดงประเทศไทย มักได้รับความนิยมจากบุคคลสำคัญระดับประเทศ รวมถึงบรรดาผู้เข้าชมงานเป็นอันดับต้นๆ ทุกครั้งของการจัดงานจนเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมจะต้อนรับผู้เข้าชมงานจากทั่วโลก
สำหรับความพิเศษที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้จะมีอะไรบ้าง ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมแล้วที่จะฉายภาพให้เห็น ก่อนที่งาน World Expo 2020 Dubai จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ
หลายคนอาจไม่รู้ว่าประเทศไทยมีโอกาสเข้าร่วมนิทรรศการ World Expo มาแล้วถึง 31 ครั้ง โดยเข้าร่วมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2405 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 และยังเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย ถัดจากจีนและญี่ปุ่นที่ได้เข้าร่วมงาน World Expo ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุก 5 ปี และยังได้รับการบันทึกให้อยู่ในรายชื่อสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก (Bureau of International Exposition - BIE) ในฐานะผู้เข้าร่วมงานที่โดดเด่นต่อเนื่องที่สุดประเทศหนึ่ง
มาถึงครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกปีที่พิเศษไม่น้อย เพราะเป็นครั้งแรกที่งาน World Expo จะจัดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ภายใต้แนวคิดหลัก คือ “Connecting Minds, Creating The Future” หรือ "เชื่อมความคิด สร้างอนาคต” เพื่อสะท้อนถึงการขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้า ด้วยการเชื่อมโยงระหว่างผู้คน องค์กร และประเทศต่างๆ รวมถึงแบ่งปันความรู้ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการร่วมมือกันสร้างสรรค์อนาคตอย่างยั่งยืน โดยจะมี 192 ประเทศที่เข้าร่วม
“นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าภาพอยู่ในตะวันออกกลางแล้ว อีกสิ่งที่แตกต่างจากการจัดงานครั้งก่อนๆ คือ การจัดโซนนิ่งของอาคารจัดแสดง ที่ผ่านมาจะแบ่งตามภูมิภาค เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาอาคารแสดงประเทศไทย จะรวมกลุ่มอยู่กับประเทศในเอเชีย แต่ครั้งนี้ เจ้าภาพเปลี่ยนวิธีการจัดโซนนิ่งใหม่ โดยแบ่งตามหัวข้อที่แต่ละประเทศเลือก มี 3 หัวข้อ ได้แก่ โอกาส (Opportunity) การขับเคลื่อน (Mobility) และความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งประเทศไทยเลือกหัวข้อที่ 2 คือ การขับเคลื่อน เพราะต้องการสร้างความตระหนักและความเชื่อมั่นในศักยภาพการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้ที่เลือกหัวข้อนี้ และทำให้อาคารแสดงประเทศไทยในปีนี้ จะขนาบข้างด้วยประเทศในแถบยุโรป อย่างฝรั่งเศสและเบลเยียม” ดร.ณัฐพล กล่าว
อวดโฉมความเป็นไทยผ่าน Thailand Pavilion
สำหรับแนวคิดในการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย ดร.ณัฐพล ฉายภาพให้เห็นว่า “ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้พื้นที่จัดแสดงใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเข้าร่วมในงาน World Expo (ขนาดพื้นที่ 3,606 ตรม.) โดยได้จัดสร้างอาคารแสดงประเทศไทยภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคต (Creating the Future) อาศัยการต่อยอดจุดเด่นของประเทศไทยที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนสุวรรณภูมิ และวัฒนธรรมอันโดดเด่นแบบสยามเมืองยิ้ม สู่ศูนย์กลางการพัฒนาด้านดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่อทุกคนไปยังทุกที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
แนวคิดดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่านการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทยตั้งแต่ภายนอกอาคาร ที่มีการนำเสน่ห์ของคนไทยมาร้อยเรียงอยู่ในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น ดอกรัก ซึ่งเปรียบเสมือนการต้อนรับ อันอบอุ่นจากคนไทย และยังเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการพัฒนาที่แผ่ขยายในวงกว้าง เปรียบเสมือนเกสรดอกไม้ที่แผ่กระจายและส่งต่อการเจริญเติบโตต่อไป การใช้ “สีทอง” เป็นสีหลัก เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และแหล่งอารยธรรมของประเทศไทยตั้งแต่ครั้งสุวรรณภูมิ และปัจจุบันสีทองยังเป็นสีที่คนไทยนิยมใช้เป็นสีอาคารและเครื่องยอดต่างๆ เพื่อแสดงถึงความสำคัญของอาคารแห่งนั้น
นอกจากนี้ยังเพิ่มความโดดเด่นให้อาคารด้วยลวดลายการถักทอคล้ายม่านดอกไม้ (ดอกรัก) เพื่อสื่อถึงการเชื่อมต่อ (Connecting Minds) ของคนไทยในยุคดิจิทัล ผสานกับศาลาหน้าจั่ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายการไหว้ที่งดงาม และยังสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมตั้งแต่แรกเห็น
เต็มอิ่มกับความเป็นไทยแบบร่วมสมัย
มาถึงภายในอาคารแสดงประเทศไทย ดร.ณัฐพล เผยว่า จัดแบ่งเป็น 4 ห้อง แต่ละห้องมีการนำเทคนิคพิเศษต่างๆ มาเพิ่มความน่าสนใจในการเล่าเรื่อง เริ่มจาก ห้องนิทรรศการที่ 1: Thai Mobility ผ่านความงดงามของศิลปะไทย จัดแสดงในรูปแบบ Walkthrough Exhibition ผู้เข้าชมจะได้พบกับความงดงามตระการตาของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือพระที่นั่งในพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค และราชรถจำลอง ซึ่งเป็นพาหนะในวรรณคดีไทยที่มีความงดงามอย่างยิ่ง
ห้องนิทรรศการที่ 2: Mobility of Life น้ำขับเคลื่อนชีวิตไทย จัดแสดงในรูปแบบ Aquatic Performance สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน ภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ด้วยพระอัจฉริยภาพและโครงการในพระราชดำริ ทำให้ประเทศไทยพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีความพร้อมที่จะต้อนรับนานาประเทศ ไม่ว่าจะมาท่องเที่ยว ลงทุน หรือทำธุรกิจ
ห้องนิทรรศการที่ 3: Mobility for the Future การขับเคลื่อนประเทศในยุคดิจิทัล จัดแสดงในรูปแบบภาพยนตร์แอนิเมชั่น 360 Adventure พาผู้ชมขึ้นโดรน พาหนะแห่งอนาคต เดินทางสู่ภาพอนาคตจำลองของประเทศไทยที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคผ่านมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้ง 7 มิติ ได้แก่
TAGGED ON