ปตท. รุก Net Zero ด้วย “Powering Life with Future Energy and Beyond” - Forbes Thailand

ปตท. รุก Net Zero ด้วย “Powering Life with Future Energy and Beyond”

จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก “Net Zero” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ หลายประเทศวางแผนกำหนดนโยบาย Net Zero ให้เป็นเป้าหมายระดับชาติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักลงทุนและผู้บริโภคจึงตระหนักถึงความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้ และหันมาสนับสนุนธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการคาร์บอนต่ำกันมากขึ้น วันนี้ Forbes Thailand ได้สนทนากับ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ด้านพลังงานที่ได้เปิดเผยมุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมในกระแส Net Zero ว่า ภาคพลังงานและภาคคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า การขนส่ง และการเผาไหม้เชื้อเพลิง ถือเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด รวมทั้งเทคโนโลยีด้านพลังงาน จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะผลักดันให้โลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “กว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้ออกมาประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บางประเทศประกาศตัวจะเป็น Net-Zero Greenhouse Gas Emissions อย่างชัดเจน และมีแผนจะนำมาตรการเกี่ยวกับการลดคาร์บอนมาใช้เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งบริษัทพลังงานระดับโลกมีการปรับพอร์ตการลงทุน โดยเพิ่มสัดส่วนธุรกิจพลังงานสะอาดมากถึง 40%” สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 และการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ในที่ประชุม COP26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 “เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และต้องอาศัยแรงผลักดันทั้งจากนโยบายของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่จะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายนี้” อรรถพล กล่าว ปตท. เตรียมพร้อมสู่ Net Zero ปตท. เล็งเห็นความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงยกระดับการพัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เพียงแค่ของคนไทย แต่ยังรวมถึงสังคมโลก ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” “เราพร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศลดลง 15% ภายใน 10 ปี หรือปี 2563 - 2573 สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)” และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการขับเคลื่อนดังกล่าว ปตท. จึงจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อวางเป้าหมายบรรลุ Net Zero ของ ปตท. ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเป็นเป้าหมายที่เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้ลุล่วง ปตท. ยังพร้อมที่จะผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ด้วยการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน (3P’s Decarbonization Pathways) ได้แก่ (1) Pursuit of Lower Emission หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมาใช้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (2) Portfolio Transformation เป็นการลงทุนพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าใน 10 ปีข้างหน้าจะลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจนอกเหนือจากพลังงาน (Future Energy & Beyond) ให้สูงถึง 30% และในปี 2573 จะต้องพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนที่ 12 GW พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ รวมไปถึงการปรับลดการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน (3) Partnership with Nature มุ่งสู่การเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้ปลูกและดูแลรักษาป่าจำนวน 1.1 ล้านไร่ใน 54 จังหวัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ และสร้างศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต “เมื่อวิถีของโลกเปลี่ยนไป กลุ่ม ปตท. พร้อมปรับตัวเพื่อให้เป็นองค์กรที่ไม่ตกยุค จึงปรับวิสัยทัศน์ขององค์กรสู่ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยจะรุกสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว พร้อมทั้งสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนด้านพลังงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง” อรรถพล กล่าว ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่นี้ ปตท. จะมุ่งดำเนินงานใน 2 ส่วน คือ “Future Energy” และ “Beyond” สำหรับ “Future Energy” จะเน้นการปรับพอร์ตการลงทุนสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Go Green) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Go Electric) และธุรกิจไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่อง (Electricity Value Chain) รวมถึงการศึกษาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจน “ปตท. อยู่ในช่วงการขยายตัวสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยยังคงสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจปิโตรเลียมเดิม ตามพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมกับรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงาน และขยายธุรกิจนอกเหนือจากพลังงาน เพื่อสร้างการเติบโตรองรับอนาคต โดยเราเปิดรับความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจตามแนวคิด Partnership & Platform โดยเฉพาะการขยายไปในธุรกิจที่เราไม่คุ้นเคย” ส่วน “Beyond” หรือการขยายธุรกิจใหม่นอกเหนือจากพลังงาน จะมุ่งเน้นไปที่ 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจ Life Science โดยตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อปลายปี 2563 เพื่อเป็นแกนนำในการลงทุนธุรกิจ ทั้งธุรกิจยา อาหารสุขภาพ อุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ พร้อมผลักดันยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของอาเซียน และเพิ่มโอกาสการลงทุนด้านเทคโนโลยีผลิตยาขั้นสูงจากต่างประเทศในไทยอีกด้วย 2. ธุรกิจด้าน Mobility & Lifestyle โดยดำเนินการผ่านบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่เน้นการลงทุนสู่ธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค 3. ธุรกิจ High Value Business โดยต่อยอดปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรม ผ่านการลงทุนของบริษัทในกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล เข้าซื้อกิจการ Allnex เพื่อประกอบธุรกิจในการผลิต Coating Resins และสาร Additives โดยวางเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายการเติบโตในตลาดต่างประเทศ 4. ธุรกิจ Infrastructure & Logistics ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดย ปตท. ลงทุนผ่านบริษัทลูก บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยร่วมลงทุนกับภาครัฐและเอกชนก่อสร้างท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการแบบอัตโนมัติ เพิ่มขีดความสามารถของระบบโลจิสติกส์ และโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย 5. ธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization ในด้านดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ทั้งในกระบวนการผลิต การดำเนินงาน และพัฒนาเป็นธุรกิจใหม่ โดย ปตท. ได้จัดตั้งธุรกิจต่างๆ ได้แก่ บริษัท เมฆา เทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบ Public Cloud Services หรือระบบการประมวลผลหรือการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานที่ถูกจัดเก็บบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบสาธารณะ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกลุ่มมิตซุย พันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท พีทีที เรส จำกัด เพื่อให้บริการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม บริษัท ที-อีโคซิส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เช่น บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่ได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีโดรน หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ในแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น การซ่อมท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล และคงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะ ปตท. ยังคงมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโต รวมทั้งสร้างศักยภาพในการแข่งขันอยู่เสมอ เพราะไม่เพียงแต่มุ่งหวังจะสร้าง New S-Curve ให้กับองค์กรเท่านั้น แต่ต้องการขับเคลื่อน New S-curve เพื่อรองรับการพัฒนา 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่ Forbes Thailand สังเกตเห็นตลอดการสนทนา คือ ความตั้งใจจริงของ ปตท. ที่จะสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน แต่ก็ยังคงดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero อีกทั้งยังเป็นยักษ์ใหญ่ที่พร้อมขยับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป