“ทะเลเพื่อชีวิต” ภารกิจอนุรักษ์ทะเลที่ทำด้วยใจ ของ ปตท.สผ.
บนเส้นทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. นอกจากพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทยมาโดยตลอดแล้ว
อีกหนึ่งภารกิจที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญไม่เคยเปลี่ยน คือการผนึกกำลังกับพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งชุมชนที่อยู่โดยรอบฝั่ง เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลไทยให้คงคุณค่าและความอุดมสมบูรณ์
แม้จะมีกิจกรรมและโครงการเพื่ออนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน ปตท.สผ. จึงได้มีแนวคิดที่เรียกว่า “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) เพื่อให้การอนุรักษ์ท้องทะเลมีเป้าหมายและกระบวนการที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ปิยะ สุขุมภาณุเมศร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เผยว่า จากการที่ ปตท.สผ. มีธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และมีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ดังนั้นทะเลจึงเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองที่เรา เห็นว่าต้องช่วยกันดูแลรักษาเหมือนบ้านที่เราอยู่มาอย่างยาวนาน จึงที่มาของแนวคิด ”ทะเลเพื่อชีวิต” ซึ่งเรามีแนวทางในการอนุรักษ์ท้องทะเล 3 เรื่องหลัก
“เริ่มจากเราเองเป็นเรื่องแรก ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเรามีการศึกษาและนำนวัตกรรมหลายอย่างมาใช้ในกระบวนการทำงานนอกชายฝั่ง เช่น นำน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตอัดกลับเข้าสู่แหล่งกักเก็บปิโตรเลียมใต้ดินให้ได้ 100% นำ AUV มาใช้ตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์และท่อใต้ทะเล รวมทั้งศึกษาแนวทางที่เหมาะสมต่อการจัดวางปะการังเทียมรูปแบบโครงสร้างเหล็ก (Rig to Reef) จากสิ่งติดตั้งและอุปกรณ์ปิโตรเลียม เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล”
ต่อมาคือการตรวจติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ปตท.สผ. ได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญกับงานด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ เช่นการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลไปศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณไมโครพลาสติก เป็นครั้งแรกในอ่าวไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การวางทุ่นสมุทรศาสตร์ ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การติดตั้งกล้องใต้น้ำที่ขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อติดตามสัตว์ทะเลหายากและจัดทำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และการสำรวจระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทางอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีโดรนจากเออาร์วี บริษัทในเครือฯ ซึ่งพัฒนาโดรนขึ้นมาเพื่อช่วยสำรวจและการเก็บข้อมูล เป็นต้น
“เรามุ่งหวังจะเป็นศูนย์ข้อมูลทางทะเลที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทะเลไทย” ปิยะกล่าว
ส่วนเรื่องสาม คือการฟื้นฟู ดูแล อนุรักษ์ทะเล ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้คนในชุมชนชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เริ่มตั้งแต่การป้องกันมลภาวะจากบนบกลงสู่ทะเล ด้วยการสร้างโมเดลการบริหารจัดการขยะทะเล ซึ่ง ปตท.สผ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นำเทคโนโลยีในการกำจัดและแปรรูปขยะ เข้าไปอบรมให้กับชุมชนเพื่อนำขยะกลับมาใช้ใหม่และสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำพลาสติกเหลือใช้มาทำกระเบื้อง กระถางทุ่นแนวเขตอนุรักษ์ เป็นต้น โดยดำเนินการควบคู่ไปกับสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของท้องทะเล
“ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราได้ดำเนินการมาหลายปีแล้วเพื่อส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้านเชิงอนุรักษ์โดยเรามีเป้าหมายจะจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวใน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ซึ่งจะเป็นแหล่งพบปะถ่ายทอดความรู้ ขยายพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เหมาะสมของแต่พื้นที่ เช่น ปู กุ้ง หอย ปลาหมึก ซึ่งจะสามารถขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง”
ปัจจุบัน ปตท.สผ. จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ไปแล้ว 5 ศูนย์ฯ ในจังหวัดสงขลา ปัตตานี และนครศรีธรรมราช โดยเพาะฟักลูกปูและนำไปปล่อยคืนสู่ทะเลได้กว่า 5,000 ล้านตัว โครงการนี้ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี โดยทำควบคู่ไปกับการวางซั้ง หรือบ้านปลาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว เพื่อเพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ยังสนับสนุนชุมชนในการตั้งกลุ่มอาชีพผลิตและจำหน่ายอาหารทะเล จัดการอบรมและให้คำแนะนำชุมชนในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น และหาช่องทางจัดจำหน่ายรูปแบบออนไลน์เพิ่มส่งเสริมให้ชุมชนมีตลาดสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่กว้างขวางขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะการเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ แต่สัตว์ทะเลหายากอย่าง เต่าทะเล ก็เป็นอีกเรื่องที่ ปตท.สผ. ให้ความสำคัญ โดยได้สนับสนุนศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ ในการอนุบาลเต่า และรักษาเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บ โดยได้ปรับปรุงบ่ออนุบาลสำหรับเต่าในช่วงวัยต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตรารอดของลูกเต่าตั้งแต่ฟักออกจากไข่จนถึงขั้นเจริญวัย ซึ่งมีอัตราการรอดตามธรรมชาติเพียง 1-2 ตัวต่อไข่เต่า 1,000 ฟอง รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเต่าให้กับโรงพยาบาลเต่าทะเลภายในศูนย์ฯ เช่น อุปกรณ์การผ่าตัดเต่า เครื่องเลเซอร์รักษาเต่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเต่าทะเล ก่อนที่จะปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลเต่าสามารถช่วยเหลือเต่าที่ได้รับบาดเจ็บได้กว่า 2,000 ตัว ศูนย์ฯ นี้ ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมอีกด้วย
“เรามีแผนจะขยายการสนับสนุนการอนุรักษ์เต่าทะเลไปศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ทัพเรือ ภาคที่ 2 จังหวัดสงขลา และเกาะมันใน จังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มปริมาณการเพาะพันธุ์ลูกเต่าทะเลให้มากขึ้น และเพิ่มอัตรารอดตายของเต่าทะเลที่บาดเจ็บให้มากขึ้นด้วย”
ปิยะได้กล่าวเสริมถึงการอนุรักษ์แนวปะการังธรรมชาติ ด้วยการนำเรือรบหลวงที่ปลอดประจำการมาจัดทำแนวปะการังเทียม และแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเล ซึ่ง ปตท.สผ. ดำเนินการมาแล้ว 10 ปี
เราได้ร่วมกับกองทัพเรือ หน่วยงานราชการ และชุมชนในท้องที่ วางเรือรบหลวงปราบที่เกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร และเรือหลวงสัตกูตที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้เป็นบ้านหลังใหม่ของปะการังและสัตว์น้ำ มาถึงปัจจุบัน เรือทั้ง 2 ลำ กลายเป็นบ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับสัตว์ทะเล มีชนิดของปลาเพิ่มขึ้น 60-70 ชนิด รวมทั้งสัตว์น้ำ ปะการัง และสัตว์เกาะติดอื่นๆ นักดำน้ำหลายคนเล่าว่าเจอ “ฉลามวาฬ” อยู่บ่อยๆ ที่นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงามมีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ให้บริการโรงแรมได้ ที่พัก และกิจกรรมดำน้ำด้วย ในสถานการณ์ปกติ สามารถสร้างรายได้ถึงปีละกว่า 59 ล้านบาท”
“ทุกโครงการที่ ปตท.สผ. ทำ นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในระยะยาวแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม”
ถามว่าอะไรคือจุดแข็งที่ปิยะ มองว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ความมุ่งมั่นของ ปตท.สผ. สัมฤทธิผล
ปิยะสรุปเป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การมีพันธมิตรที่ดี จะเห็นว่าแทบทุกโครงการของ ปตท.สผ. ไม่ได้เกิดจากการทำงานเพียงลำพัง แต่หลายโครงการที่ประสบความสำเร็จ เพราะอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ชุมชน หน่วยงานราชการ และหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งสถาบันการศึกษา
ถัดมาคือความได้เปรียบจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว มาประยุกต์ใช้ในภารกิจอนุรักษ์ทะเล
สุดท้ายคือ จุดแข็งจากการที่ ปตท.สผ. เป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่มีแท่นขุดเจาะกลางทะเล ทำให้สามารถเก็บข้อมูล เพื่อนำมาเชื่อมต่อกับข้อมูลของภาครัฐ พัฒนาคลาวด์ แพลตฟอร์ม เพื่อต่อยอดการศึกษาเกี่ยวกับทะเลไทยได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
“ทะเลเพื่อชีวิต” มีเป้าหมายดำเนินการในระยะยาว 10 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าภารกิจดูแลรักษาทะเลไทยให้อยู่คู่คนไทยจะสามารถไปสู่เส้นชัยที่วางไว้ได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG 14 Lite Below Water การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
ปิยะทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า การอนุรักษ์ทะเลไทยเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน และ ปตท.สผ. เองยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่สนใจจะเข้ามาร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลไทยให้อุดมสมบูรณ์ไปอีกนานแสนนาน