BLANCPAIN วิจิตรศิลป์แห่งสุดยอดเรือนเวลาชั้นสูง - Forbes Thailand

BLANCPAIN วิจิตรศิลป์แห่งสุดยอดเรือนเวลาชั้นสูง

Blancpain คือสุดยอดเรือนเวลาชั้นสูงจาก Le Brassus ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สืบทอดองค์ความรู้    เชิงช่างและความชำนาญในการสร้างสรรค์กลไกสลับซับซ้อนอันเที่ยงตรงแม่นยำมากว่า 280 ปี นับตั้งแต่  ก่อกำเนิดใน ค.ศ. 1735 ซึ่งหนึ่งในความโดดเด่นของ Blancpain คือการนำศิลปะชั้นยอดที่ต้องใช้ความชำนาญ และความประณีตบรรจงสูงสุดมาผสานเข้ากับการรังสรรค์เรือนเวลาแต่ละขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน เรือนเวลาจึงมิได้เป็นเพียงเครื่องบ่งเวลา ทว่าเป็นงานวิจิตรศิลป์ระดับมาสเตอร์พีซที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ท่ามกลางทัศนียภาพงดงามของ Le Brassus คือที่ตั้งของ “La Ferme” ชื่อเล่นฟาร์มเฮาส์เก่าแก่ สถานที่กำเนิดเรือนเวลาชั้นสูงของ Blancpain ที่นี่เองที่เหล่าช่างศิลป์ฝีมือฉกาจจะสร้างสรรค์ความงดงามอย่าง  ชำนิชำนาญผ่านลวดลายบนผิวสัมผัสต่างๆ ทั้งในจุดที่อวดโฉมต่อผู้ชม ไปจนถึงจุดที่เร้นกายจากสายตา     “La Ferme” จึงเป็นทั้งสถานที่รวบรวมนวัตกรรมชั้นเยี่ยมในการประดิษฐ์เรือนเวลาและเป็นศูนย์รวมสรรพศิลป์อันเพียบพร้อมทั้งหมดเพื่อเสกสรรค์ความคิดและความปรารถนาของลูกค้า Blancpain ให้จับต้องได้และเป็นผลงานศิลปะล้ำค่าเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ที่ผู้ครอบครองภาคภูมิใจ ศิลปะแขนงต่างๆ ที่ Blancpain รักษาขนบกรรมวิธีการทำไว้อย่างเคร่งครัด ควบคู่กับดีไซน์ใหม่ๆ และจินตนาการอันไร้ขีดจำกัดมีด้วยกัน 5 แขนง ได้แก่งานเคลือบลงยาการทำทองนากแบบ ShakudŌ (ชาคูโด) งานคร่ำ การตกแต่งถ่านไม้ BinchŌtan (บินโชตัน) และงานแกะสลัก ซึ่งศิลปะแต่ละแขนงสามารถนำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อก่อเกิดเป็นผลงานศิลปะชิ้นเอกได้อย่างลงตัว “Enameling” หรือศิลปะการเคลือบลงยาเป็นเทคนิคที่สืบทอดความรู้ต่อกันมากว่า 600 ปี กว่าหนึ่งศตวรรษต่อมาจึงมีการนำศิลปะแขนงนี้ มาใช้กับการประดิษฐ์นาฬิกา ช่างเคลือบลงยาของ Blancpain ที่ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญสูง ณ สตูดิโอ Métiers d’Art ที่ Le Brassus จะเริ่มจากการตระเตรียมพื้นผิวของหน้าปัด โดยนำชิ้นทองคำแท้มาเป็นเบส จากนั้นบรรจงเคลือบลงยาชิ้นทองคำทีละชั้น ทั้ง 2 ด้าน เมื่อเคลือบแต่ละชั้นเสร็จ จะต้องนำไปเผาในเตาแบบเฉพาะที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส แล้วนำชิ้นทองคำไปขัดจนเงางามไร้ที่ติ ปราศจากรอยแตกหรือรอยตำหนิใดๆ แม้เพียงนิด สำหรับภาพสเก็ตช์งานออกแบบช่างเคลือบลงยาต้องมั่นใจก่อนว่าภาพที่ออกแบบและส่วนประกอบต่างๆ บนหน้าปัดจะมีความสมดุลกัน จากนั้นถึงจะใช้เทคนิคการทำสีลงยาเช่นเดียวกับช่างสมัยโบราณ คือ การผสมผงสีชั้นดีกับเมทัลลิคออกไซด์และน้ำมันสน แล้วใช้พู่กันขนาดจิ๋วจุ่มสีวาดผ่านกล้องขยาย เมื่อวาดเสร็จแต่ละส่วนก็ต้องนำไปเผาทีละครั้ง การลงยาด้วยวิธีนี้ จึงให้สีสันงดงาม คมชัด และคงทนตราบนานเท่านาน ซึ่งนอกจากช่างศิลป์ของ Blancpain จะฝึกฝนการทำลวดลายแบบโบราณจนเชี่ยวชาญแล้วพวกเขายังสามารถนำเทคนิคโบราณมาผสมผสานกับดีไซน์ใหม่ๆ ได้อย่างอิสระเสรีอีกด้วย
เทคนิค ShakudŌ
“ShakudŌ หรือศิลปะการทำทองนากแบบชาคูโด คือศิลปะญี่ปุ่นเก่าแก่หลายร้อยปีที่เหล่าซามูไรนิยมใช้ตกแต่งดาบซามูไร แม้อยู่ต่างซีกโลก ทว่าศิลปะคือภาษาสากลที่นำพา ShakudÕ มายัง Le Brassus      สวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้ช่างศิลป์ของ Blancpain ถ่ายทอดจินตนาการอันปราศจากขีดจำกัดใดๆ ด้วยศิลปะแขนงนี้ลงบนหน้าปัดเรือนเวลา พร้อมเฉดสีอันงามสง่าที่สะกดทุกสายตามิรู้ลืม ShakudŌ คือเทคนิคการเปลี่ยนสีธรรมชาติของทองคำหรือทองแดงผสมอัลลอยด์ จากสีเหลือง สีส้ม หรือ  สีทองแดง ให้เป็นสีโทนดำหรือเทาหม่น ช่างศิลป์ของ Blancpain จะใช้วิธีโบราณขัดผิวโลหะเหล่านี้ เพื่อให้ได้เนื้อสีดำหรือเทาและผิวสัมผัสที่แตกต่าง จากนั้นนำอัลลอยด์ ซึ่งหากเป็นหน้าปัดนาฬิกาจะเป็นแผ่นกลม ไปชุบสารละลาย RokushŌ (โรคูโช) อุ่นๆ โดยช่างฝีมือต้องคีบชิ้นหน้าปัดออกมาเป็นระยะ เพื่อล้างและตรวจสอบโทนสีกระทั่งได้โทนสีที่ต้องการ ถึงอย่างนั้น ชิ้นงานหนึ่งๆ ยังผ่านกระบวนการ ShakudŌ ซ้ำหลายครั้งในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้เกิดสีสันและมิติที่แตกต่างบนหน้าปัด รวมทั้งนำไปผสมผสานกับศิลปะแขนงอื่น อาทิ การแกะสลัก งานคร่ำการตอกลาย เพื่อสร้างสรรค์เรือนเวลาที่มีอัตลักษณ์ติดตรึงใจ
เทคนิค Damascening และ ShakudŌ
ศิลปะอีกแขนงที่ Blancpain ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด คือ “Damascening” หรืองานคร่ำ ซึ่งปรากฏในงานสำริดราว 1,600 ปี ก่อนคริสตกาล โดยช่างศิลป์ของ Blancpain ณ Le Brassus เป็นช่างกลุ่มแรกที่นำงานคร่ำมาสู่โลกแห่งการประดิษฐ์เรือนเวลาชั้นสูงทั้ง Blancpain ยังเป็นแบรนด์เดียวเท่านั้นในโลกแห่งเวลา ที่มีความสามารถอันเอกอุในการสร้างสรรค์เรือนเวลาด้วยศิลปะแขนงนี้ มรดกศิลป์เลอค่าได้รับการสืบทอดผ่านความเชี่ยวชาญในงานหัตถศิลป์ของช่างฝีมือ Blancpain เริ่มจากการแกะร่องเพื่อสร้างลายจากนั้นใช้เส้นโลหะเนื้ออ่อนซึ่งมักเป็นโลหะมีค่า เช่น ทองคำหรือเงิน ตอกลงไปในร่องลายแล้วขัดผิวทับให้เรียบ โดยโลหะมีค่าสำหรับตกแต่งนั้นจะถูกยึดตรึงกับที่ ด้วยการใช้โลหะที่มีมวลหนาแน่นกว่ามาทับบนพื้นผิว และด้วยฝีมืองานคร่ำของ Blancpain นี้เอง ที่ก่อเกิดหน้าปัดรุ่นพิเศษซึ่งตกแต่งด้วยเทคนิคนี้โดยเฉพาะ รวมถึงมีการนำงานคร่ำไปผสานกับงานแกะสลักแสนประณีตด้วยเช่นกัน
เทคนิค BinchŌtan
นอกจากนี้ ยังมี “BinchŌtan” หรือศิลปะจากถ่านไม้บินโชตัน ซึ่งมีต้นรากจากประเทศญี่ปุ่น การทำ  ถ่านไม้ BinchŌtan ต้องใช้ไม้โอ๊คพิเศษพันธุ์ Ubamegashi (อูบาเมกาชิ) นำไปเผาในเตาดินที่อุณหภูมิ 1,000-1,300 องศาเซลเซียส ความร้อนจะทำให้ไม้กลายเป็นถ่านเนื้อแข็งมากๆ จนสามารถตัดเป็นชิ้นบางๆ เพื่อนำมาทำหน้าปัดนาฬิกา แล้วนำมายึดกับฐานรอง เกิดเป็นหน้าปัดสีดำขลับที่มาพร้อมพื้นผิวอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งถูกเคลือบให้เงางามด้วย Urushi (อูรูชิ)
แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมในวัดอรุณ Exclusive สั่งทำโดยลูกค้าชาวไทย
Blancpain ยังหลอมรวมเทคนิคนี้เข้ากับศิลปะแขนงอื่น เช่น การแกะสลัก เพื่อให้ได้หน้าปัดนาฬิกาอันงดงาม รวมทั้งยังมีการใช้สารเคลือบเงาผสมสี หรือผสมผงทองคำวาดลวดลายลงบนถ่านไม้ BinchŌtan โดยตรงด้วย และเช่นเดียวกับงานคร่ำ Blancpain คือ ผู้สังสรรค์เรือนเวลาชั้นสูง เพียงรายเดียว ที่สามารถทำชิ้นงานจากถ่านไม้ BinchŌ ได้ สุดท้ายคือ “Engraving” ศิลปะการแกะสลัก อันเป็นหัตถศิลป์การตกแต่งเรือนเวลาที่มีมาช้านาน ช่างแกะสลักชั้นครูของ Blancpain ในสตูดิโอ Métiers d’Art ยังคงสืบสานขนบการแกะสลักเรือนเวลาส่วนต่างๆ ทั้ง หน้าปัด บริดจ์ ตุ้มเหวี่ยง ฝาปิดด้านหลังรวมถึงกลไก ให้มีลวดลายอันงดงาม ช่างฝีมือจะเริ่มต้นจากการวาดภาพสเก็ตช์ของหน้าปัดที่ลงรายละเอียดทั้งรูปทรงและตำแหน่งการวางลวดลาย เมื่อสรุปแบบได้แล้ว ช่างจะค่อยๆ บรรจงแกะสลักผิวโลหะด้วยเหล็กปลายแหลมหลากรูปแบบที่เรียกว่า “Burins” (บยูรินส์) อันเป็นเครื่องมือที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคโรมันโบราณ ช่างศิลป์ที่มีชั้นเชิงความชำนาญสูงจะสามารถใช้ Burins แกะสลักเส้นขนาดบางมากๆ รวมถึงออกแบบลวดลายต่างๆ บนพื้นผิวด้วยจินตนาการไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นรูปคน สรรพสัตว์ ตัวเลข พืชพรรณ ทิวทัศน์ บ้านเมือง ฯลฯ ทั้งหมดคือเรือนเวลาชั้นสูงของ Blancpain ที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมแห่งกลไกสลับซับซ้อน และล้ำค่าด้วยการรังสรรค์ผลงานศิลปะชั้นยอดที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกเพื่ออุทิศแก่ความต้องการอันเป็นเอกลักษณ์แห่งรสนิยมในแบบคุณเท่านั้น   ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.blancpain.com