กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ปลุกปั้น Bitazza โบรกเกอร์คริปโตรายแรกในไทย กับเป้าหมายสู่วอลุ่มเทรดทะลุ 2 แสนล้านบาทในปีนี้ - Forbes Thailand

กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ปลุกปั้น Bitazza โบรกเกอร์คริปโตรายแรกในไทย กับเป้าหมายสู่วอลุ่มเทรดทะลุ 2 แสนล้านบาทในปีนี้

จากโปรแกรมเมอร์นักวิเคราะห์สูตรในการเทรดหุ้น Wall Street ที่ครั้งหนึ่งคิดอยากจะตั้งธนาคารเองในไทย สู่ทางแยกระหว่างเส้นทางเทรดเดอร์ประจำตลาดหุ้น New York ที่เห็นอนาคตอันมั่นคงและแน่นอน กับการบุกเบิกโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับคริปโตเคอร์เรนซีในไทยในยุคที่ตลาดคริปโตรู้จักกันในวงแคบมากๆ แม้ กวิน จะไม่ได้ตั้งธนาคารดิจิทัลอย่างที่ฝันไว้ แต่วันนี้เขาไปไกลกว่าที่ฝัน กับการบุกเบิกโบรกเกอร์คริปโตภายใต้ชื่อ Bitazza ที่สร้างวอลุ่มเทรดแตะ 1 แสนล้านบาทมาแล้ว หลังจากเปิดตัวได้เพียง 2 ปี “ตอนนั้นประมาณปี 2559 ผมมีความคิดอยากจะตั้งธนาคารขึ้นใหม่ เพราะอยากโอนเงินไปต่างประเทศ เพื่อลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นขั้นตอนการโอนจากไทยยากมาก มีกฎระเบียบเต็มไปหมดและค่าใช้จ่ายในการโอนก็สูงมาก จึงเข้าไปที่แบงค์ชาติและหารือว่า หากจะตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นใหม่โดยเริ่มจากศูนย์ จะต้องเริ่มอย่างไร แต่หลังจากศึกษากฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงพบว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แถมยังต้องมีเงินทุนอีกเป็นหมื่นล้านบาท” ไอเดียการเปิดธนาคารใหม่ของกวินในวันนั้น คือ การเปิดเป็นธนาคารดิจิทัลในรูปแบบโอเพ่นแบงกิ้ง เป็นธนาคารประเภทใหม่ที่เปิดมาแล้ว lean มาก คือ ไม่มีสาขา เป็น digital first ใช้ต้นทุนต่ำ ใช้พนักงานไม่กี่คน และทำ API (Application Programming Interface หรือการเชื่อมต่อจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง เพื่อให้ซอฟต์แวร์ภายนอกเข้าถึงและอัพเดทข้อมูลนั้นๆ ได้ แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่ถูกกำหนดไว้) ดีๆ ให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เข้ามาพัฒนานวตกรรมร่วมกัน แม้จะมีแนวคิดว่าธนาคารของเขาจะไม่ปล่อยกู้ เพื่อไม่มีความเสี่ยงใดๆ แต่ด้วยกฎระเบียบที่จะต้องใช้เงินทุนเป็นหมื่นล้าน แผนการนี้จึงพับลงไปโดยปริยาย “ช่วงนั้นกระแสคริปโตเริ่มมาแล้ว ก่อน ICO (Initial Coin Offering หรือการเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้ประชาชนทั่วไป) บูมในปี 2560 ตอนนั้นเจอโจทย์ที่ว่า ต้องผ่านตัวกลางและมีตัวกลางเต็มไปหมด ซึ่งไม่ค่อยสมเหตุสมผล จึงศึกษาเรื่อง alternative structure และเมื่อเห็นบล็อกเชนก็เริ่มสนใจ เพราะมีมากกว่าเรื่องการเก็งกำไร บล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถโอนเงินระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง จึงคิดนำมาต่อยอด โดยเริ่มศึกษาและเริ่มลงทุนในโลกบล็อกเชนตั้งแต่นั้น” หลังจากเริ่มศึกษาและลงทุนด้วยตัวเอง เขาเริ่มสนใจคริปโตและบล็อกเชนมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นเขายังทำงานให้กับ WorldQuant เฮดจ์ฟันด์ที่ Wall Street ที่เป็นที่ทำงานที่แรกหลังจากเรียนจบในปี 2557 โดยบริษัทได้ส่งมาประจำที่สำนักงานในไทย และเสนอให้กวินไปเทรด options derivatives ที่ New York ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีและเป็นความฝันของหลายคน ด้วยเส้นทางอาชีพที่มั่นคง ไปได้ไกลและมองเห็นโอกาสเติบโตในอนาคตที่ชัดเจน ด้วยความสนใจและอยากรู้อยากเห็นเรื่องคริปโต กวินเลือกที่จะหันหลังให้กับข้อเสนอนั้น เพื่อเสี่ยงกับการค้นหาคำตอบในโลกดิจิทัลแอสเซ็ท แม้ในตอนนั้นสำหรับเขา ยังไม่มีอะไรจับต้องได้เลย
กวิน พงษ์พันธ์เดชา CEO Bitazza
“ผมเลือกที่จะเข้าสู่วงการคริปโต เพราะเชื่อว่าจะพบอะไรบางอย่างทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่ แย่ที่สุดหากมันไม่เกิดผมก็แค่กลับไปเรียนต่อ ตอนนั้น ปี 2559 ผมเริ่มจากการเขียนบอทลงทุน แต่ก็พบว่า การลงทุนที่เราเขียนบอทลงทุนเป็นภาพเดิมๆ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว จึงคิดสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาใหม่ ในตอนนั้น แพลตฟอร์มในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในการทำธุรกรรมต่างๆ และเรื่องระบบความปลอดภัยยังไม่มี ตอนนั้นในประเทศไทยมีแค่เว็บเดียว ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์” ในปีต่อมา ตลาดคริปโตในไทยเริ่มคึกคัก และเริ่มเกิด ICO กระทรวงการคลังจึงออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจได้ใน 4 ประเภท คือ 1) Exchange หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 2) Broker นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 3) Dealer ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล และ 4) ICO Portal ด้วยความเชื่อที่ว่า คริปโตจะมาเปลี่ยนโลก บล็อกเชนจะเข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง และจะมาแทนที่ทุกอย่าง กวินจึงตัดสินใจยื่นขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจโบรกเกอร์ดิจิทัลแอสเซท ซึ่งแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาดที่เป็น exchange เขาใช้เวลาเกือบ 2 ปี และเปิดบริษัท Bitazza ในวันคริสต์มาสของปี 2562 จากการลงขันกับเพื่อนๆ ผู้ร่วมก่อตั้งอีก 4 คน ด้วยทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท ก่อนเพิ่มเป็น 45 ล้านบาทในปัจจุบัน “ปี 2560 เป็นปีที่คึกคักมาก และมา crash ในปี 2561 ตลาดในปี 2562 จึงเงียบมาก คนที่อยู่ในวงการ    คริปโตขณะนั้นเป็น true believer เพราะคนที่มาเก็บเกี่ยวกำไรออกจากตลาดไปหมดแล้ว ตลาดในปีที่เราเปิดตัวจึงไม่ค่อยสดใสเท่าไร แต่เรายังมีความเชื่อมั่นในคริปโต เพราะวัฏจักรของคริปโตจะเหมือนกับอินเทอร์เน็ตที่ต้องมี hype cycle มีช่วงเกิด ช่วงพีค ช่วงกระแสตก ช่วงตลาดเข้าใจและช่วงปกติในชีวิตประจำวัน หากมองในระยะยาว คริปโตและบล็อกเชนจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญในอนาคตเหมือนอินเตอร์เน็ต เราต้องทำให้มันเกิดให้ได้” กวิน ซีอีโอ Bitazza กล่าว จุดแตกต่างของ Bitazza ในฐานะโบรกเกอร์คริปโต คือ การส่งคำสั่งซื้อขายของลูกค้าไปยังศูนย์ซื้อขายต่างๆ ทั่วโลกได้ ขณะที่ศูนย์ซื้อขายคริปโตจะจับคู่ซื้อขายได้เฉพาะภายในระบบตัวเอง โดยนอกจากจะคัดเลือกเหรียญเข้ามาให้นักลงทุนซื้อแล้ว Bitazza ยังได้ให้ความรู้เรื่องการลงทุนผ่านคอนเทนต์ต่างๆ ถือเป็นการสร้างชุมชน ตามอย่างชื่อ Bitazza ที่มีแรงบันดาลใจมาจาก Piazza จัตุรัสกลางเมืองชื่อดังในอิตาลีที่เป็นที่พบปะและใช้ชีวิตของผู้คน “หากเปรียบคริปโตเป็นปลา exchange จะเป็นตลาดซื้อขายปลา แต่เราเป็น aggregator เราเลือกปลาจากที่อื่น จากต่างประเทศที่น่าสนใจกว่า ตัวใหญ่กว่า หรือเป็นพันธุ์ที่หายาก มาให้ลูกค้าซื้อ เรานำเข้าและส่งออก เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงปลาในที่ต่างๆ ตัวเลือกจึงมากกว่า มีปลาที่หลากหลายกว่า ถือเป็น business model ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครทำ โลกของคริปโตมีหลาย exchange แต่ไม่ค่อยมีโบรกเกอร์ที่ไปรวบรวมเข้ามาอยู่ที่เดียว” จากการเป็นโบรกเกอร์คริปโตรายแรก จึงทำให้ Bitazza มีวอลุ่มเทรดขยายตัวจากหลักพันล้านบาทในปีแรก คือ ปี 2563 ที่มีลูกค้าประมาณหลักหมื่นราย สู่ 1 แสนล้านบาทในปี 2564 ที่มีลูกค้าเพิ่มเป็น 3-4 แสนราย และ 5 แสนรายในวันนี้ โดย กวิน ตั้งเป้าวอลุ่มเทรดเติบโตอีกเท่าตัวแตะ 2 แสนล้านบาทในปีนี้ “ในอนาคตเราสามารถเป็น exchange เองได้เพราะมีลูกค้าในมือ แต่ตลาดในไทยยังเล็กอยู่ จึงต้อง aggregate มาจากที่อื่นก่อน เพื่อให้ตลาดโต เกิดสภาพคล่องที่ใหญ่ขึ้น เมื่อตลาดขยายตัวใหญ่ขึ้นแล้ว และเรามีลูกค้าอยู่ในมือก็สามารถทำต่อได้ ทิศทางของเราจะเน้นไปที่การใช้งานจริง โดยปีนี้เราจะขยายตลาดไปในหลายๆ ประเทศ หาพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ หาวิธีการทำงานใหม่ๆ และเปิดตัวโพรดักต์ใหม่ๆ เราจะติดตามเทรนด์ตลาดอย่างใกล้ชิด ทีมงานจะต้องหาให้ได้ว่า the next growth อยู่ที่ไหน และสร้างชุมชนที่ยั่งยืน”