ดีอีเอส-ดีป้า เปิดฉาก “อาคารแสดงประเทศไทย” ในงาน ‘World Expo 2020 Dubai’ ภายใต้แนวคิดหลัก “เชื่อมความคิด สร้างอนาคต: Connecting Minds, Creating the Future” ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกและ รมว.ต่างประเทศ ร่วมพิธีเปิด พร้อมด้วยกระทรวงเจ้าภาพที่มี อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะ Commissioner General of Section for Thailand Pavilion
ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังการเปิดตัวงานและเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาว่า การจัดแสดงงาน World Expo Dubai 2020 เป็นงานขนาดใหญ่ ปกติประเทศไทยจัดอาคารแสดงขนาดกลาง แต่การจัดงานในปีนี้เรามาในขนาดใหญ่ และความสำคัญในการมาของปีนี้ ตรงกับความสัมพันธ์ 45 ปี ระหว่างประเทศไทยกับ UAE โดยมี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นแม่งานและเตรียมงานนานพอสมควร ตลอดระยะเวลา 6 เดือนในการแสดง World Expo Dubai 2020 ของประเทศไทย การดึงผู้ชมจาก UAE หรือ กลุ่มประเทศ GCC มาเที่ยวชมถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อนำเสนอประเทศไทยในหลายรูปแบบ ภายในห้องจัดแสดง โดยมีจุดเด่นคือ soft power ของประเทศไทยที่ทำให้ผู้คนหลงใหล ด้วยทำเลของอาคารแสดง ความยิ่งใหญ่ของตัวอาคาร และตั้งอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส เบลเยียม หรือ เกาหลีใต้ ที่ยิ่งดึงดูดผู้ชมเข้าไปชมเนื้อหาประเทศไทยที่ครบครัน โดยเฉพาะการแสดงที่เป็น อินเตอร์แอคทีฟผ่านสองมาสคอต รัก และ มะลิ ดอน ปรมัตถ์วินัย กล่าวต่อว่าความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้อีกหนึ่งอย่างคือความสามารถในการจัดการเรื่องการแพร่กระจายโควิด-19 ของเจ้าภาพ ซึ่งหากเจ้าภาพจัดการงานได้ดีผู้คนจากนานาประเทศจะเดินทางมาเยี่ยมชม ภูมิภาคแห่งนี้และกลุ่มประเทศ GCC เป็นกลุ่มที่มีพลังที่ยิ่งใหญ่ มีความร่วมใจ และความกระตืนรือร้นเป็นอย่างมาก แม้จะอยู่รวมกันอย่างสันติ กลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างมีการแข่งขันกันเองอย่างสร้างสรรค์ นอกจากจัดการ World Expo Dubai กลุ่มประเทศ GCC ยังมีความมุ่งมั่นในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกอื่นๆ และการที่ดูไบเป็นจุดเชื่อมต่อทางการบินที่สำคัญไปยังภูมิภาคอื่นไม่ว่าจะเป็นยุโรป แอฟริกา หรือ เอเชีย เพราะว่า GCC มี Emirates สายการบินประจำชาติที่ลงทุนและขยายอย่างต่อเนื่องแม้เมืองเล็กๆ ที่ไม่น่าจะคุ้มทุนก็มีสายการบิน "เมื่อเห็นการพัฒนาในหลายๆ สิ่งของประเทศนี้ อยากเชิญชวนให้คนไทยมีกำลังใจ มีความรู้สึกตื่นตัวและเดินไปข้างหน้าและเพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่อยู่บนประเทศชาติที่มีความแข็งแกร่ง อนาคตของประเทศจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ และทะเลาะกันไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทอนกำลังให้ประเทศของเราอ่อนแอและไม่มีทางพัฒนาประเทศตามชาติอื่นๆ ได้ทัน" ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกและรมว.ต่างประเทศ กล่าวโดยสรุป ด้าน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมในฐานะการเป็นกระทรวงเจ้าภาพในการจัดงาน ซึ่งหลังจากดูไบประกาศธีมการจัดการงาน กระทรวงดิจิทัล เริ่มต้นการทำงานในปี 2561 เสนองบประมาณราว 1,600 ล้านบาท แต่ในที่สุดถูกปรับลดงบประมาณราว 900 ล้านบาท ซึ่งการเสนองบประมาณจำนวน 1,6oo ล้านบาท เป็นไปเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่การจัดงานขนาดใหญ่ราว 3,600 ตร.ม. "แต่เดิมการจัดงานประเทศไทยจะเลือกขนาดกลางที่พื้นที่ราว 2,400 ตร.ม. อย่างการเข้าร่วมงาน World Expo เมื่อ 5 ปีที่แล้วที่ประเทศอิตาลี ได้งบประมาณราว 800 กว่าล้านบาท ขณะที่การจัดงานที่ดูไบขนาดใหญ่กว่าแต่งบประมาณใกล้เคียงกันมาก นั่นคือความยากในช่วงเริ่มต้น" อัจฉรินทร์ กล่าว การทำงานกระทรวงดิจิทัลเองในฐานะเจ้าภาพการจัดงานได้เชิญชวนพันธมิตรเข้ามาช่วยในการทำงาน ผ่านการตั้งคณะกรรมการทำงาน โดยมี อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย เป็นประธานคณะทำงานและได้เชิญคณะกรรมการทั้งระดับกระทรวง และ กรม อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย กล่าวต่อด้วยว่า ความยุ่งยาก 2 สิ่งในการจัดงานที่สำคัญคือมาตรการของการจัดงานของเจ้าภาพดูไบและสถานการณ์โควิด-19 โดยเจ้าภาพ ดูไบ วางตำแหน่งประเทศของตนเองบนการทำงานในมาตรฐานสูง ทำให้กฎระเบียบต่างๆ ของประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ว่าการก่อสร้างโครงสร้างอาคาร ความปลอดภัยต่างๆ จะอยู่ในระดับสูงสุด เพราะดูไบเองตั้งเป้านำตัวเองจากมาตรฐานการจัดงานครั้งนี้ เสนอตัวเองเป็นเจ้าภาพในมหกรรมระดับนานาชาติอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของประเทศ สำหรับด้านสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากสำหรับงานก่อสร้างของแต่ละประเทศ แต่ประเทศไทยหลังได้รับอนุมัติการก่อสร้างเร่งสร้างโครงอาคารอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางเจ้าภาพดูไบยังนำวิดีโอการก่อสร้างของไทยไปเป็นตัวอย่างของการสร้างการก่อสร้างให้กับประเทศอื่นๆ และการเลื่อนจัดแสดงออกไปเพื่อดูสถานการณ์โควิดก็ต้องดูแลบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย "เรามาแสดงความยิ่งใหญ่ของประเทศด้วยงบประมาณที่น้อยมากมาถ้าเทียบกับ world Expo ครั้งก่อนๆ ซึ่งในเวทีโลก ประเทศไทยเป็นประเทศไทยมีชื่อเสียงและมีศักยภาพ ความพร้อม ในการจัดการจัดแสดง นี่คือความภาคภูมิใจของเรา ซึ่งการนำเสนอในปีนี้ เรานำเสนอเรื่องราวประเทศร้อยเรียงจากความอุดมสมบูรณ์ในอดีต การเป็นเจ้าบ้านและการดูแลต้อนรับแขกที่ดี นอกจากนี้ความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล พร้อมที่จะต่อยอดให้กับธุรกิจ เหล่านี้คือการนำเสนอเนื้อหาภายในงานเพื่อนำไปสู่การค้าเจรจา การลงทุนและการเข้าไปทำธุรกิจและพักผ่อนในประเทศไทย" อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัล กล่าวโดยสรุป World Expo 2020 Dubai ซึ่งเป็นมหกรรมใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก สำหรับอาคารแสดงประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) นำเสนอนโยบายการขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ 4 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องที่ 1: Thai Mobility ผ่านความงดงามของศิลปะไทย จัดแสดงในรูปแบบ Walkthrough Exhibition ผู้เข้าชมจะได้พบกับความงดงามตระการตาของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง และราชรถจำลองให้ความรู้เกี่ยวกับการเดินทางของคนไทยในอดีต ห้องที่ 2: Mobility of Life น้ำขับเคลื่อนชีวิตไทย จัดแสดงในรูปแบบ Aquatic Performance สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตจากอดีตสู่ปัจจุบัน ห้องที่ 3: Mobility of the Future นำเสนอภาพยนตร์แอนิเมชัน 360 องศา เพื่อแสดงภาพในอนาคตของประเทศไทยที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลผ่านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค ห้องที่ 4: Heart of Mobility นำเสนอภาพยนตร์สั้น โดยใช้เทคนิค Pyramid Motion Picture บอกเล่าเรื่องราวเสน่ห์ของประเทศไทยในหลากหลายมิติ ที่สร้างความประทับใจให้ชาวต่างชาติเดินทางมาเยี่ยมเยือน ทำธุรกิจ หรือใช้ชีวิตในประเทศไทย โดยยังมีส่วนของร้านอาหารไทย ‘The Taste of Thai’ ให้ผู้เข้าชมงานได้ลิ้มรสความอร่อยของอาหารไทยแท้ และร้านของที่ระลึก ‘Thai Souk’ ที่คัดสรรสินค้าดีมีคุณภาพจากประเทศไทยมาร่วมสร้างความประทับใจ ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีเวทีกิจกรรมจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “Thai iconic: ความเป็นไทยสู่สายตานานาชาติ” รวมทั้งยังมีนิทรรศการ และกิจกรรมพิเศษต่างๆ ตลอด 6 เดือนของการแสดง อ่านเพิ่มเติม: ผู้ว่า ธปท. ชี้ 7 ทางรอดสังคมไทยไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine