ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ประกาศความพร้อมเติบโตรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเทรนด์สุขอนามัยทั่วโลกในยุค New Normal เดินหน้าขยายกำลังการผลิตตามแผนควบคู่การพัฒนานวัตกรรมถุงมือยางธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้โปรตีน
จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า แม้อนาคตจะมีการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้เป็นผลสำเร็จ แต่บริษัทยังมั่นใจในการเติบโตและความต้องการใช้ถุงมือยางที่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาของการฉีดวัคซีน รวมถึงความต้องการใช้ถุงมือในอุตสาหกรรมต่างๆอย่างแพร่หลายในระยะยาว ไม่เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเพื่อสุขอนามัยที่ดีในยุค New Normal ที่คนทั่วโลกใส่ใจการรักษาความสะอาดยิ่งขึ้น “เรามั่นใจว่าถุงมือยางยังเป็นที่ต้องการจากทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน STGT ยังเดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิต และเดินหน้าขยายการลงทุนตามแผนงานเดิม ดังนั้น จากดีมานด์ที่มีอย่างต่อเนื่องจึงมั่นใจว่าราคาขายเฉลี่ยยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อีกในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อเป้าหมายการเติบโตของบริษัท” จริญญากล่าวถึงการเดินหน้าลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการแจ้งยกเลิกหรือชะลอการรับสินค้า รวมถึงยังได้รับคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะมีความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่งผลให้ระยะเวลาการส่งมอบสินค้ายังคงอยู่ที่ 16 – 30 เดือน ขณะเดียวกัน STGT ยังไม่หยุดนิ่งในการหาโอกาสขยายตลาดและเพิ่มยอดขายสินค้า โดยล่าสุดบริษัทได้ทุ่มงบเร่งวิจัยและพัฒนา (R&D) ถุงมือยางธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้โปรตีน ซึ่งผลิตจากสูตรน้ำยางธรรมชาติและกระบวนการผลิตที่ผ่านการคิดค้นและทดลองจนสามารถป้องกันไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนังได้ โดยเป็นสินค้านวัตกรรมใหม่ที่สามารถสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเพื่อเจาะตลาดเซกเมนต์ใหม่ พร้อมวางเป้าหมายเดินเครื่องผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในช่วงกลางปี 2564 นอกจากนั้น จริญญายังคาดการณ์ว่า สินค้าดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมถุงมือยาง โดยเฉพาะด้านความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นทดแทนการใช้ถุงมือยางไนไตรล์จากปัจจุบันที่ภาพรวมทั่วโลกมีความต้องการการใช้ถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์ (ถุงมือยางสังเคราะห์) ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้งานสำหรับผู้ที่แพ้สารโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้วัตถุดิบจากน้ำยางธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าถุงมือยางไนไตรล์ ด้าน ธนวรรณ เสงี่ยมศักดิ์ ผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน STGT กล่าวถึงภาพรวมคำสั่งซื้อสินค้าที่แข็งแกร่งและราคาขายที่ปรับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสสุดท้ายจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามแผนที่วางไว้ และมีโอกาสทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า หลังจากผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้มีรายได้รวม 1.68 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 89.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนในปี 2564 บริษัทวางเป้าหมายเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ภาพรวมความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกยังมีอัตราเติบโตอย่างน้อย 12% ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินงานของบริษัท ประกอบกับ STGT อยู่ระหว่างการลงทุนขยายกำลังการผลิต โดยในปีหน้าจะมีโรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จอีก 4 แห่ง จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3.59 หมื่นล้านชิ้นต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 3.26 หมื่นล้านชิ้นต่อปี “ในปีหน้าบริษัทจะเริ่มเดินเครื่องจักรโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ใช้งบลงทุนรวมกว่า 9.9 พันล้านบาท โดยในปี 2567 วางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นกว่า 8.26 หมื่นล้านชิ้น และในปี 2569 จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 แสนล้านชิ้นต่อปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า” ธนวรรณ กล่าว ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจถุงมือยางไทย โดย วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย หรือ The Thai Rubber Glove Manufacturers Association (TRGMA) ได้เปิดเผยแผนเพิ่มศักยภาพและความแข็งแกร่งสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย ได้แก่การประสานงานกับภาครัฐเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ รองรับการลงทุนขยายกำลังการผลิต และการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านการผลิตและส่งเสริมผู้ประกอบการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาล เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขยายกำลังการผลิตและตลาดส่งออกในทุกภูมิภาคทั่วโลก ขณะเดียวกันสมาคมยังกำหนดนโยบายผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยให้ขยายการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทุกด้าน เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกรองรับความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ด้วยเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งเป็น 20% จากปัจจุบัน 15% พร้อมยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก หลังจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เช่น มาเลเซียและจีนได้ขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะจีนสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกในระดับใกล้เคียงกับประเทศไทยจากปัจจุบันที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกถุงมือยางมีส่วนแบ่งตลาด (จากปริมาณการขาย) เป็นอันดับ 2 ของโลก “สมาคมฯ พร้อมเป็นหน่วยงานเพื่อประสานกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพเพื่อขยายกำลังการผลิตให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งยังมีข้อจำกัด เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน กฎระเบียบผังเมือง การขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน” วีรสิทธิ์ กล่าว อ่านเพิ่มเติม: ไทยเบฟฯ สร้างชื่อ “ความยั่งยืน” ระดับโลกไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine