SSP ดึงทุนหนุนพลังงานต่อยอดหัวแถวแห่งเอเชีย - Forbes Thailand

SSP ดึงทุนหนุนพลังงานต่อยอดหัวแถวแห่งเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
15 Jul 2017 | 08:31 PM
READ 4311

เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทลงทุนกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วางแผนระดมทุนจากตลาดหุ้น mai ในปีนี้ มุ่งเพิ่มกำลังการผลิตแหล่งพลังงานหมุนเวียนในไทยและภูมิภาคเอเชียเป็น 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563

วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เสริมสร้างพาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) กล่าวว่า ธุรกิจของกลุ่มบริษัทจำแนกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น โดยธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบ่งออกเป็น 2 ธุรกิจย่อย คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยประกอบด้วย โครงการที่เปbด ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 1 โครงการปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา 40 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี 2558 มีอายุสัญญา 5 ปี สามารถต่ออายุสัญญาได้คราวละ 5 ปีเมื่อครบอายุสัญญา ซึ่งได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอัตรา 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นระยะเวลา10 ปีจากวันเริ่มต้นเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 โครงการ ตั้งอยู่ที่เมือง Hidaka จังหวัด Hokkaido ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา 17 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสแรกของปี 2661 โดยทำสัญญาซื้อขายกับ Hokkaido Electric Power Company Ltd ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าเอกชนที่ Hokkaido ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีอายุสัญญา 20 ปี และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FIT) ที่ 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล รองประธานบริหาร แห่ง SSP กล่าวว่า “ความเข้มแสงแดดที่ญี่ปุ่นอาจไม่ดีเท่าไทย แต่มีความคุ้มค่ามากกว่าเพราะค่าไฟสูงกว่า นอกจากนี้ อัตราส่วนการกู้ยืมที่ญี่ปุ่นสูงกว่าไทย คือ 4:1 หรือกู้เงินได้ถึง 80% ใช้เงินลงทุนของตัวเอง 20% มีระยะเวลากู้ยืมนานประมาณ 18 ปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวถูกกว่าการกู้ยืมในประเทศไทย” ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นเป็นการลงทุนผ่านบริษัทย่อยที่ฮ่องกงซึ่งจัดตั้งไว้เพื่อพัฒนาโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเนื่องจากบริษัทตั้งเป้าหมายการผลิตพลังงานรวมไว้ที่ 200 เมกะวัตต์ใน 3 ปีข้างหน้า จาก 40 เมกะวัตต์ในปี 2560 และ 57 เมกะวัตต์ในปี 2561 ซึ่งการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็เพื่อขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยการขยายตัวใน 3 ปีแรกจะเน้นการเติบโตจากภายใน (organic growth) และหลังจากนั้นอาจมีการเติบโตจากภายนอกขึ้นกับสถานการณ์ในอนาคตเธอกล่าวว่า กลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อยู่หลายโครงการในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (solar rooftop) ด้วย วรุตม์ออกตัวว่า เขาไม่ต้องการเปรียบเทียบตัวเองกับใครเพราะมีผู้เล่นค่อนข้างมากแต่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือเล็กวิสัยทัศน์ที่เขาตั้งไว้ คือ ก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำในเอเชียด้านพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) “ความท้าทายประการแรกนับตั้งแต่ผมเข้ามา คือ เราจะทำอย่างไรให้โครงการเดินต่อไปได้เพราะทางครอบครัวไม่เคยทำธุรกิจนี้มาก่อน ในขณะที่ตัวผมเองอยู่ในธุรกิจนี้มาตลอดนับตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ดังนั้นเราต้องสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับบริษัทเพื่อให้มีการต่อยอดในรุ่นถัดไป”
ภาพโครงการเสริมสร้างโซลาร์ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา 40 เมกะวัตต์ ที่ ต.ขอนขว้าง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี
วรุตม์กล่าวว่า จุดเด่นของกลุ่มบริษัทอยู่ที่การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ทีมงานคนรุ่นใหม่ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเขาเรียกว่า FAIR ประกอบด้วย F คือความรวดเร็ว (fast) และความยืดหยุ่น (flexibility),  A คือ ตั้งเป้าหมายสูง (aim high target), I คือ นวัตกรรม (innovation) และการพัฒนาตนเอง (improvement) ตลอดเวลา, R คือ ความรับผิดชอบ (responsibility) ในการตัดสินใจทุกอย่าง ดังนั้นการตัดสินใจต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและมองถึงผลลัพธ์ (result) เป็นสำคัญ “เสริมสร้างฯ เป็นบริษัทขนาดกลาง เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยพลังงาน มุ่งมั่น เป็นคนรุ่นใหม่ที่พร้อมก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลายุคสมัยนี้ใครเร็วกว่าคนนั้นชนะ ทีมงานอาศัยความมุ่งมั่น บริหารจัดการทุกอย่างอย่างมีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น ปรับตัว เมื่อมีตลาดใหม่เกิดขึ้นเราก็เข้าไปให้ได้เร็วที่สุด” เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่าน "SSP ดึงทุนหนุนพลังงานต่อยอดหัวแถวแห่งเอเชีย" ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine