“ฮาราลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม นักอนุรักษ์หัวใจไทย มุ่งมั่นพิทักษ์ “เสือโคร่ง”
ในธรรมชาติ บทบาทของเสือโคร่งคือผู้ล่าที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของห่วงโซ่อาหารที่มีอาณาเขตออกล่าในรัศมีเกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อเสาะหาอาหารและผสมพันธุ์จำนวนประชากรเสือโคร่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความ อุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของผืนป่า และเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ต้องได้รับการอนุรักษ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์การจะเพิ่มจำนวนประชากรของเสือโคร่ง จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือด้วยความสมดุลเช่นนี้เองจะบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าตามธรรมชาติ
ในวันนี้สัตว์ป่าหลายชนิดกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์จากระบบนิเวศน์ เพราะที่อยู่อาศัยของมันถูกทำลาย มนุษย์ใช้แหล่งทรัพยากรเดียวกับสัตว์อีกหลายล้านสายพันธุ์ ความหลากหลาย ทางชีวภาพของสรรพชีวิตในผืนป่าได้ช่วยเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์แก่ธรรมชาติได้อย่างไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตามทุกวันนี้สัตว์ป่าต้องพบกับการคุกคาม และถูกล่าอย่างผิดกฎหมายจึงทำให้จำนวนประชากรของพวกมันลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี บางชนิดก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในอนาคตอันใกล้นี้
ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม ผู้ห่วงใยต่อชีวิตของสัตว์ป่าในประเทศ และได้มีส่วนสำคัญในการปกป้องประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย ทั้งจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง และจากคนที่ล่าเพื่อการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน
“เป็นข่าวร้ายที่จำนวนเสือโคร่งในป่าของประเทศไทยลดลงอย่างมาก จนเหลือน้อยกว่าเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยง ปัจจุบันประเทศไทยมีเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ ประมาณ 200 ตัว เราตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนประชากร เสือโคร่งให้ได้ถึง 300 ตัวในอนาคต” คุณลิงค์กล่าว
“ประเทศไทยคือหนึ่งในไม่กี่ประเทศ และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติมากเพียงพอต่อการฟื้นฟูจำนวนประชากร เราตระหนักดีว่า หากเสือโคร่งซึ่งอยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศถูกทำลาย จะส่งต่อสภาพแวดล้อมทางชีวภาพทั้งหมดอย่างไร และเป็นการยากแค่ไหนที่จะรักษาสมดุลธรรมชาติให้กลับคืนมาได้อีกครั้ง แต่สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ ถือว่าเรายังมีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนเสือ”
“เราทุกคนต่างเชื่อมโยงกันหมด ถ้าสัตว์อยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ โควิด-19 คือเครื่องเตือนความจำอันแสนเจ็บปวด ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสัตว์ป่าไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง การอนุรักษ์เสือโคร่งและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่แต่เฉพาะเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์เสือโคร่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติอีกด้วย” มร.ลิงค์กล่าวทิ้งท้าย
WWF ผนึก บี.กริม และกรมอุทยานฯ เปิด “ศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา” โครงการต้นแบบปลูกจิตสำนึกเด็ก เยาวชน เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า
ศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา (Tiger Learning Center) เป็นห้องการเรียนรู้เรื่องเสือโคร่งและสัตว์ป่าสำหรับเด็กนักเรียนและผู้สนใจทั่วไป มีการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรด้านงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงบูรณาการเนื้อหาการอนุรักษ์สัตว์ป่าเข้าไปกับวิชาต่างๆ ตามหลักสูตรต่างๆ เป้าหมายเพื่อสร้างเป็นศูนย์ต้นแบบในการปลูกจิตสำนึกให้เด็ก เยาวชน ตลอดจนบุคคลในพื้นที่ ในการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่า โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 2 และโรงเรียนอนุบาลคลองลาน
ศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา เปรียบเสมือนศูนย์ตั้งต้นในการเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่าสร้างให้เด็กเกิดความรู้สึกผูกพันกับสัตว์ป่า และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ซึ่งอนาคตมีแผนเปิดศูนย์เรียนรู้ ส.เสือวิทยา ในพื้นที่ใกล้เขตอุทยานแม่วงก์เพิ่มเติม รวมถึงขยายไปยังพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้เขตอุทยานแห่งชาติต่างๆ เพื่อสร้าง เครือข่ายการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง และปลูกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อเยาวชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ เยาวชนเหล่านี้จะสื่อสารไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทำให้ชุมชนในพื้นที่หันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตสัตว์ป่ามากขึ้น อันเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้งานอนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวนสัตว์ป่าประสบความสำเร็จ