Rolex Perpetual Planet Initative ร่วมกับ Mission Blue พลักดันพื้นที่อนุรักษ์ Hope Spot ณ หมู่เกาะแกป ประเทศกัมพูชา - Forbes Thailand

Rolex Perpetual Planet Initative ร่วมกับ Mission Blue พลักดันพื้นที่อนุรักษ์ Hope Spot ณ หมู่เกาะแกป ประเทศกัมพูชา

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Sep 2024 | 10:30 AM
READ 524

ทีม KEP ARCHIPELAGO HOPE SPOT คว้าโอกาสสำคัญในการร่วมฟื้นฟูชายฝั่งทะเลของกัมพูชา

ด้วยการสนับสนุนจาก Rolex Perpetual Planet Initiative ร่วมกับโครงการพันธมิตรอย่าง Mission Blue องค์กรอนุรักษ์ท้องถิ่นแห่งหนึ่งกำลังทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินพืชเป็นอาหารขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอย่างพะยูน กลับคืนสู่ทุ่งหญ้าทะเลที่ได้รับการฟื้นฟูแห่งน่านน้ำกัมพูชา

จากข้อมูลของรัชนา ถาป (Rachana Thap) นักต่อสู้ผู้ร่วมดำเนินโครงการ Mission Blue Hope Spot ระบุว่า หญ้าทะเลคือ "ซูเปอร์ฮีโร่ในมหาสมุทร" เพราะมันไม่เพียงสร้างพื้นฐานให้กับระบบนิเวศซึ่งมีความสำคัญต่อสายพันธุ์สัตว์ทะเลหลายร้อยชนิด แต่ยังสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าใดๆ บนพื้นดินอีกด้วย"

น่านน้ำของหมู่เกาะแกปเคยอุดมไปด้วยหญ้าทะเลและสิ่งมีชีวิตมากมาย แต่การทำประมงอุตสาหกรรมและการลากอวนติดพื้นทะเลเป็นเวลาหลายปีได้ทำลายทุ่งหญ้าทะเลและแนวปะการังไปเป็นบริเวณกว้าง

เรื่องราวอาจจะจบลงตรงนั้น แต่ไม่ใช่สำหรับพอล เฟอร์เบอร์ (Paul Ferber) อดีตตำรวจจากอังกฤษ ผู้ซึ่งเดินทางมาถึงกัมพูชาในปี 2006 เพื่อสอนดำน้ำ เมื่อเห็นถึงความจำเป็นในการอนุรักษ์น่านน้ำอันงดงามนี้ เขาจึงได้ก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์ทางทะเลกัมพูชา (Marine Conservation Cambodia หรือ MCC) ขึ้นในปี 2008

​รัชนา ถาป (Rachana Thap) ผู้อำนวยการบริหาร องค์กรอนุรักษ์ทางทะเลกัมพูชา (Marine Conservation Cambodia) 
พร้อมด้วย พู จอช (Pu Jorch) หัวหน้าชุมชน Uk Sovannarith และกัปตันเรือ กำลังกรอกปฏิทินบันทึกการพบเจอพะยูน
ในน่านน้ำเปรกตนอต (Preak Tnot) จังหวัดกำปอด
ทีมอนุรักษ์ทางทะเลกัมพูชา (Marine Conservation Cambodia หรือ MCC) 
กำลังดำเนินการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลในน่านน้ำเปรกตนอต จังหวัดกำปอด

ในปี 2013 หลังจากการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลมาเป็นเวลาหลายปี MCC ได้รับเชิญจากรัฐบาลกัมพูชาให้จัดตั้งฐานที่ตั้งถาวรบนเกาะ Ach Seh ในหมู่เกาะแกป ในเวลานั้น ถาป นักศึกษามหาวิทยาลัย กำลังฝึกงานระยะเวลา 6 เดือนอยู่ที่ MCC เธอกำลังทำวิทยานิพนธ์ด้านชีววิทยาทางทะเลเกี่ยวกับแนวปะการังเทียม และไม่นานเธอก็ได้รับการแต่งตั้งจากเฟอร์เบอร์ให้เป็นผู้นำโครงการสร้างแนวปะการังเทียมในหมู่เกาะแกป


ม้าน้ำในน่านน้ำตื้นของหมู่เกาะแกป กำลังเกาะอยู่กับใบหญ้าทะเลที่ก้นทะเล 
และเหล่าปลาเล็กปลาน้อย มักจะพบได้ในน่านน้ำตื้นที่มีที่กำบัง

แนวปะการังเทียมมีโครงสร้างที่ประกอบด้วยบล็อกคอนกรีตขนาดสองตัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งปราการป้องกันการลากอวนและเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เมื่อแนวปะการังเทียมเริ่มเติบโต สิ่งมีชีวิตจึงเริ่มกลับเข้ามาในพื้นที่ รวมถึงโลมาอิรวดีและเต่าตนุ เมื่อเห็นสิ่งมีชีวิตทางทะเลในหมู่เกาะแกปเพิ่มขึ้น ชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดกำปอด จึงขอให้ MCC สร้างแนวปะการังเทียมตามชายฝั่งของพวกเขาด้วย "และพวกเขาบอกว่าปลาโลมามีจานวนเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากสร้างแนวปะการังเทียมเสร็จ" ถาป กล่าว เฟอร์เบอร์รู้สึกประทับใจกับความสำเร็จของโครงการมาก เขาจึงแต่งตั้งถาปให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง กรรมการบริหารของ MCC

เมื่อเห็นความสำเร็จจากการทำงานของ MCC ในปี 2016 รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศพื้นที่จัดการประมงทะเลแห่งที่สองของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 11,600 เฮกตาร์ หรือราว 116 ตารางกิโลเมตร รอบหมู่เกาะแกป รวมถึง 12 เกาะ ที่เน้นการทำประมงอย่างยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น

ด้วยชีวิตที่ต่อสู้อยู่ท่ามกลางแนวปะการังเทียม ถาปเริ่มสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำพะยูน ซึ่งไม่ได้พบเห็นในน่านน้ำของกัมพูชามาหลายปีแล้วกลับคืนมา เธอจึงติดต่อ Mission Blue องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนการอนุรักษ์มหาสมุทร ก่อตั้งโดยซิลเวีย เอิร์ล (Sylvia Earle) นักชีววิทยาทางทะเลชื่อดัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่ม Rolex Perpetual Planet Initiative ในการยกระดับความร่วมมือ และช่วยพลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

องค์กรอนุรักษ์ทางทะเลกัมพูชาดำเนินโครงการตามแนวชายฝั่ง ช่วยเหลือชาวบ้านในท้องถิ่น
ให้เปลี่ยนไปทำฟาร์มหอยนางรมแบบยั่งยืน โดยการใช้แพไม้ไผ่สำหรับเพาะเลี้ยงหอย

ในปี 2019 Mission Blue ได้ประกาศให้หมู่เกาะแกปเป็น Hope Spot แห่งใหม่ "การได้รับการยอมรับจาก Mission Blue เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก" ถาป กล่าว "มันเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรา ที่ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง แต่เรามีแรงสนับสนุนจากนานาชาติ"

ถาปสามารถขยายแนวปะการังเทียมได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 300 แห่ง และภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี ก็สามารถฟื้นฟูพื้นที่หญ้าทะเลในหมู่เกาะแกปได้ถึง 1,000 เฮกตาร์ หรือราว 10 ตารางกิโลเมตร และในปี 2022 ก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง นั่นคือ พบพะยูนและลูกของมันในน่านน้ำของหมู่เกาะ "มันปรากฏอยู่ห่างจากเกาะของเราเพียง 300 เมตร" ถาป ยังจาได้ดี "มันทำให้ฉันเกือบจะร้องไห้ เราใช้เวลาหลายชั่วโมงในการเฝ้ามองมัน ฉันไม่สามารถบรรยายความรู้สึกได้ แต่มันแสดงให้เราเห็นว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การพบเห็นพะยูนในทุ่งหญ้าทะเลที่กำลังฟื้นฟูได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

โครงการ Rolex Perpetual Planet Initiative และ Mission Blue ต่างเชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นในการอนุรักษ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หมู่เกาะแกป เป็นตัวอย่างของ Hope Spot ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น MCC ต้องการให้มั่นใจว่างานอนุรักษ์จะช่วยธำรงวิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น

"เราทำงานกับชุมชนเพราะนี่คือบ้านของพวกเขา" ถาปกล่าว ชาวบ้านดีใจที่เห็นปริมาณปลาที่จับได้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ระบบนิเวศฟื้นตัวจากการปกป้องของ MCC "ชุมชนท้องถิ่นรักแนวปะการังเทียมและขอให้เราสร้างมันเพิ่มอีก"

การขยายแนวปะการังให้มากขึ้นตรงกับสิ่งที่ถาปตั้งใจที่จะทำ หลังจากที่เพิ่งได้สัญญาว่าจ้างจากรัฐบาลกัมพูชาให้สร้างแนวปะการังเทียม 5,000 แห่งตามแนวชายฝั่งกัมพูชาในช่วงเวลาห้าปีครึ่ง "มันจะเปลี่ยนจังหวัดชายฝั่งของกัมพูชาทั้งหมด" เธอกล่าว "ความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูและนำสัตว์ทะเลกลับมานั้นมีมหาศาล"

แม้ว่าเธอจะทำงานกับ MCC มาเจ็ดปีแล้ว แต่ถาปรู้สึกว่างานของเธอนั้นเพิ่งเริ่มต้น "สำหรับฉัน นี่ไม่ใช่เรื่องของห้าหรือสิบปี แต่เป็นความรับผิดชอบตลอดชีวิต" ด้วยการสนับสนุนและการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ โดย Rolex และ Mission Blue เธอกำลังเผยแพร่งานของเธอและผลลัพธ์ของมันให้คนได้รับรู้ ซึ่งไม่เพียงแค่สำหรับหมู่เกาะแกป หรือกัมพูชา แต่เป็นโลกที่กว้างกว่านั้น "นี่ไม่ใช่แค่โครงการระดับชาติ แต่เป็นโครงการระดับโลก"

​ทีมงานขององค์กรอนุรักษ์ทางทะเลกัมพูชาใช้โดรนสำรวจน่านน้ำของหมู่เกาะแกปจากมุมสูง 
ช่วยให้พวกเขาระบุตำแหน่งและติดตามเฝ้าดูทุ่งหญ้าทะเล

เกี่ยวกับโครงการ PERPETUAL PLANET INITIATIVE

เป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษที่ Rolex ให้การสนับสนุนนักสำรวจผู้บุกเบิกและผลักดันขีดความสามารถเพื่อก้าวข้ามขอบเขตความพยายามของมนุษย์ บริษัทฯ ได้ต่อยอดจากการสนับสนุนการสำรวจเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ สู่การค้นหาแนวทางเพื่อปกป้องโลก พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนบุคคลและองค์กรในระยะยาว โดยใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความเข้าใจและแสวงหาวิธีแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

​การมีส่วนร่วมนี้สะท้อนชัดผ่านการเปิดตัวโครงการ Perpetual Planet Initiative อันเป็นแนวคิดริเริ่มในปี 2019 ซึ่งในช่วงแรกมุ่งเน้นไปที่การมอบรางวัล Rolex Awards for Enterprise รวมถึงความร่วมมือระยะยาวกับ Mission Blue และ National Geographic Society

ปัจจุบัน โครงการฯ ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ กว่า 20 ราย อันได้แก่ คริสตินา มิตเตอร์ไมเออร์ และพอล นิกเลน, โครงการ Rewilding Argentina และ Rewilding Chile ซึ่งเป็นองค์กรในเครือของ Tompkins Conservation โครงการสำรวจ Under The Pole, โครงการ Monaco Blue และโครงการ Coral Gardeners

Rolex ยังสนับสนุนนักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ด้วยการมอบทุนการศึกษาและให้ทุนสนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ อาทิ Our World-Underwater Scholarship Society และ The Rolex Explorers Club Grants

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ได้ที่ rolex.org