RISC โดย MQDC เปิดตัวต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง "ฟ้าใส" สู้วิกฤตฝุ่นจิ๋ว - Forbes Thailand

RISC โดย MQDC เปิดตัวต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง "ฟ้าใส" สู้วิกฤตฝุ่นจิ๋ว

RISC ศูนย์วิจัยโดย MQDC เปิดตัวต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง “ฟ้าใส” บรรเทาภัยฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เผยงบวิจัยพัฒนากว่า 10 ล้านบาท

วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC เปิดเผยว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลภาวะทางอากาศ PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ปัญหานี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้หายขาด จึงมีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือบ้านเมืองได้บ้าง RISC จึงพัฒนาและเปิดตัว ต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง ภายใต้ชื่อ “ฟ้าใส” ด้วยเทคโนโลยีหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower)

“MQDC มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผ่าน RISC หรือศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และเมื่อเราอยากเป็นองค์กรหนึ่งในการเข้ามาช่วยเหลือสังคม พร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืน งานวิจัยของเราจึงไม่จำกัดการใช้เฉพาะภายในองค์กร แต่คือการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณชนด้วย การเปิดตัวหอฟอกอากาศครั้งนี้จึงเป็นความตั้งใจให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนด้วย ไม่ใช่แต่เพียงลูกบ้านของ MQDC เท่านั้น ทั้งนี้ เราถือเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายแรกในไทยที่ดำเนินงานในเรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ” วิสิษฐ์ กล่าว

ต้นแบบหอฟอกอากศระดับเมืองภายใต้ชื่อ "ฟ้าใส" ติดตั้งที่โครงการ 101 True Digital Park บริเวณหน้าอาคารวิสซ์ดอม เอสเซ้นส์ สุขุมวิท

ด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center หรือ RISC) กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนมากมาย ซึ่งเราพยายามเสาะหานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาแก้ไข อย่างไรก็ตาม PM 2.5 ไม่ได้มาจากประเทศไทยอย่างเดียว แต่ยังไม่จากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ดังนั้น หอฟอกอากาศนี้คงแก้ปัญหา PM 2.5 ไม่ได้ แต่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงในพื้นที่ที่มีปัญหาได้

“เราพัฒนาหอฟอกอากาศตัวนี้เป็นตัวต้นแบบ ซึ่งนอกจากจะสามารถดูแลคนได้ระดับหนึ่งแล้ว ฝุ่นที่เก็บได้เราจะนำมาศึกษาว่า PM 2.5 ที่พบนั้นเป็นฝุ่นที่มาจากภาคการเกษตรหรือภาคส่วนอื่นๆ เพื่อหานโยบายในการแก้ไขที่ถูกต้องต่อไป”

รศ.ดร.สิงห์ กล่าวอีกว่า สำหรับต้นแบบหอฟอกอากศระดับเมือง “ฟ้าใส” เป็นผลงานการคิดและพัฒนาร่วมกันระหว่าง RISC และบริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด เป็นหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) สามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้ในอัตราสูงสุด 1.2 แสนลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ติดตั้งที่โครงการ 101 True Digital Park บริเวณหน้าอาคารวิสซ์ดอม เอสเซ้นส์ สุขุมวิท ตลอดทั้งปี 2563

หอฟอกอากาศนี้จะมีหน้าจอบอกระดับคุณภาพอากาศด้วย

สำหรับหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริดนี้ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 3,850 วัตต์ ร่วมกับระบบแบตเตอรี่ จึงช่วยลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากภายนอก ส่วนหลักการทำงานเริ่มต้นจากการใช้ใบพัดความเร็วสูงดึงอากาศเข้าไปในระบบ จากนั้นแยกฝุ่นขนาดใหญ่และเล็กด้วยความเร็วลมและการปล่อยละอองน้ำเพื่อดักจับฝุ่น 3 ชั้น ต่อเนื่องด้วยระบบ Jet Venturi Scrubber โดยระบบทั้งหมดใช้น้ำ 50-70 ลิตร จากนั้นน้ำจะถูกฆ่าเชื้อด้วยโอโซนแล้วถูกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ โดยจะมีการเติมน้ำเข้าไปเสริมในทุก 3-4 วันเพื่อชดเชยน้ำที่ระเหยออกไป

หอฟอกอากาศนี้ยังใช้ระบบอัจฉริยะควบคุมการทำงานของมอเตอร์ใบพัดให้สอดคล้องกับปริมาณความเข้มข้นความฝุ่นละออง คือ หากมีฝุ่นมากใบพัดก็จะหมุนเร็ว และหมุนช้าลงเมื่อปริมาณฝุ่นน้อยลง ทั้งนี้ รศ.ดร.สิงห์ ประเมินว่าหอฟอกอากาศดังกล่าวสามารถปรับคุณภาพอากาศให้พื้นที่ใกล้เคียงในรัศมี 1 กิโลเมตรให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับกระแสลมด้วย

(จากซ้าย) ไกรพิชิต เมืองวงษ์, รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต และ วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์

รศ.ดร.สิงห์ ระบุว่า หอฟอกอากาศนี้ใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนากว่า 10 ล้านบาท ขณะที่เฉพาะตัวหอฟอกอากาศ (ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบเป็นหอฟอกอากาศ) อยู่ที่ราว 2-3 ล้านบาท ซึ่งหากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ สนใจ ศูนย์วิจัยฯ ก็พร้อมจะให้บริการในราคาที่อาจไม่เห็นกำไร เพื่อสร้างความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คน บนความหวังว่าการทดสอบครั้งนี้จะขยายไปสู่การช่วยเหลือชุมชนได้

ขณะที่ ไกรพิชิต เมืองวงษ์ ผู้บริหาร บริษัท เนสเทค ประเทศไทย จำกัด (NESTECH) และประธานกลุ่มจิตอาสาเพื่อการจัดการภัยพิบัติ (ERIG) กล่าวว่า เนสเทค ประเทศไทย ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพัฒนากับ RISC และ MQDC ในการสร้างหอฟอกอากาศต้นแบบนี้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ฟ้าใส” จะเป็นต้นแบบของหอฟอกอากาศระดับเมืองที่เป็นกลไกสนับสนุนการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

  อ่านเพิ่มเติม  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine