บมจ.พริมา มารีน หรือ PRM ผู้ให้บริการธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เตรียมขายหุ้น IPO ระดมทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเรือใหม่ทดแทนเรือเดิมและขยายกองเรือเพิ่ม ตั้งเป้าเป็นองค์กรชั้นนำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีทางทะเล
ชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ. พริมา มารีน (PRM) กล่าวว่า บริษัทเริ่มธุรกิจเรือขนส่งในปี 2530 จากการให้บริการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมันสำเร็จรูปให้แก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมัน ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันกึ่งสำเร็จรูป และปิโตรเคมีอย่างครบวงจรในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน บริษัทมี 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
- ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมี (ธุรกิจเรือขนส่งฯ)
- ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป (ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU)
- ธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (ธุรกิจเรือ Offshore)
- ธุรกิจบริหารจัดการเรือ
ซึ่ง
ธุรกิจเรือขนส่งฯ สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มถึง 34.7% เป็นอันดับ 2 ของรายได้จากการให้บริการรวม มีเรือขนส่งที่ให้บริการจำนวน 22 ลำ มีขนาดน้ำหนักบรรทุกรวม 2.71 แสนเดทเวทตัน (DWT) โดยมีเส้นทางการขนส่งในประเทศและระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“ธุรกิจเรือขนส่งยังเติบโตได้อีกมากโดยเฉพาะทางแถบภาคใต้และทะเลฝั่งอันดามัน เนื่องด้วยปริมาณการใช้น้ำมันสำหรับเครื่องบินเติบโตต่อเนื่องปีละกว่า 4% ทุกปี จากการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในภาคใต้ และการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยในอนาคต จึงต้องเตรียมการรองรับล่วงหน้า ตั้งแต่การวางแผนการออกแบบจัดหาเรือที่เหมาะสม การจัดหาลูกค้าและการขยายเครือข่ายโบรกเกอร์ที่ช่วยให้การใช้เรือมีประสิทธิภาพสูงสุด”
ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU สร้างรายได้ให้กลุ่มมากที่สุด 47.1% ของรายได้จากการให้บริการรวม มีเรือให้บริการจำนวน 6 ลำ ที่มีถังเก็บสินค้าขนาดใหญ่ 7-17 ถังต่อลำ รวมขนาดน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 1.776 ล้าน DWT เพื่อให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันแบบคลังลอยน้ำตามปริมาณและระยะเวลาที่ลูกค้ากำหนด
โดยปัจจุบัน เรือ FSU ของบริษัทจอดอยู่ในทำเลที่ดีมาก ณ
ท่าเรือ Tanjung Pelepas บริเวณระหว่างน่านน้ำสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจซื้อขายน้ำมันของภูมิภาค
เอเชียถือเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณการใช้น้ำมันสูงที่สุดในโลกถึง 34.7% ของปริมาณการบริโภคน้ำมันทั่วโลก มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปี นับจาก 2554-2558 ท่าเรือนี้ยังอยู่ในเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่วิ่งระหว่างทวีปอีกด้วย
ชาญวิทย์เสริมว่า เรือ FSU ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับการขนส่งและจัดเก็บในอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเลียมมีข้อได้เปรียบกว่าการจัดเก็บที่คลังบนบก (terminal tank) ทั้งด้านการลงทุนที่ต่ำกว่า ความยุ่งยากในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เพิ่มความยืดหยุ่นให้ลูกค้าในการสร้างกำไรเพิ่มจากการผสมน้ำมัน
สำหรับ
ธุรกิจเรือ Offshore สร้างรายได้ร้อยละ 12.2 ของรายได้รวมบริษัท โดยมีธุรกิจที่ให้บริการ ได้แก่ เรือขนส่ง และจัดเก็บน้ำมันดิบสำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Floating Storage and Offloading Unit หรือ FSO) เรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียม (Accommodation Work Barge หรือ AWB) และเรือสนับสนุนลากจูง และจัดการสมอ (Anchor Handling Tugs หรือ AHTs) ซึ่งบริษัทมีเรือ FSO จำนวน 2 ลำ ขนาดบรรทุกสูงสุด 1.917 แสน DWT และมีเรือขนส่งและที่พักอาศัยสำหรับพนักงานประจำแท่นขุดเจาะน้ำมันปิโตรเลียม (เรือ AWB) อีก 1 ลำรองรับได้ 300 คน
นอกจากนี้ ยังมี
ธุรกิจบริหารจัดการเรือ (Ship Management) ให้บริการบริหารจัดการเรือแก่เรือขนส่งน้ำมัน เรือ FSU เรือ FSO เรือ AWB และเรือรับส่งคนประจำเรือ ที่บริษัททำหน้าที่บริหารจัดการด้านเทคนิคและการบริหารงานเพื่อความปลอดภัยแก่คนประจำเรือ สินค้าและตัวเรือโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก รายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้มีสัดส่วน 6.5% ของรายได้รวม
“เราเป็นผู้ให้บริการเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันและปิโตรเลียมอย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของไทย …ทำให้เรามีขีดความสามารถแข่งขันในด้านการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ โรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทั้ง ปตท. บางจาก Shell, Chevron, Exxon ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้บริษัทมีศักยภาพการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียแปฟิกที่เพิ่มขึ้น”
ชาญวิทย์ กล่าวว่า บริษัทตั้งวิสัยทัศน์เป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจขนส่งทางทะเล สนับสนุนกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอย่างครบวงจรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้การดำเนินงานของบริษัทจะเน้นกลยุทธ์ด้านการให้บริการที่ให้บริการแบบ one-stop service การคงความเป็นผู้นำด้านการขนส่งในประเทศ การเพิ่มศักยภาพเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU ในธุรกิจต่างประเทศด้วยการตั้งบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าน้ำมันของภูมิภาคเอเชีย และการดูแลลูกค้าในลักษณะคู่ค้าธุรกิจระยะยาว
สำหรับกลยุทธ์ด้านการตลาด จะมุ่งเน้นที่การรักษาเครือข่ายนายหน้า (broker) ผู้ทำหน้าที่จัดหาเรือหรือสินค้าที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทจะมีการติดต่อประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การตลาด รวมถึงจัดหาเรือหางานสำหรับให้บริการกับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เรือและศักยภาพในการแข่งขัน
“เรามุ่งหวังว่า เมื่อต้องการใช้บริการขนส่งน้ำมัน ลูกค้าจะนึกถึงเราเป็นคนแรก ดังนั้น การสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการทั้งก่อนและระหว่างการขนส่ง ตลอดจนความพอใจหลังการขนส่งสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ”
ชาญวิทย์กล่าวว่า เพื่อมุ่งสู่ความเป็นองค์กรชั้นนำ บริษัทจึงวางแผนเข้าจดทะเบียนใน SET ภายในปีนี้ โดยเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 625 ล้านหุ้น (25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด) ประกอบด้วยหุ้นเพิ่มสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม 125 ล้านหุ้น
“เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์หลักของกลุ่มบริษัท จะใช้ลงทุนเรือลำใหม่เพื่อทดแทนเรือเก่าที่จะปลดระวาง 10 ลำเป็นอย่างน้อย และขยายกองเรือในธุรกิจเรือขนส่งฯ ธุรกิจเรือขนส่งและการจัดเก็บ FSU ธุรกิจเรือ Offshore เพิ่มอีก 26 ลำภายในเวลา 3 ปี นอกจากนั้นยังมีแผนพัฒนากองเรือเพิ่มเติมอีกในอนาคตเพื่อความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล เป็นบริษัทชั้นนำที่ชำนาญพิเศษด้านการขนส่งน้ำมันในเอเชียแปซิฟิก”
เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่าน "PRM สบโอกาสขนส่งทางเรือพุ่ง เข้า SET หนุนสู่ผู้นำเอเชียแปซิฟิก" ฉบับเต็ม ได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine