Spyce ร้านอาหารแห่งอนาคต ที่ทลายความเหน็ดเหนื่อยของงานครัว - Forbes Thailand

Spyce ร้านอาหารแห่งอนาคต ที่ทลายความเหน็ดเหนื่อยของงานครัว

มิถุนายน 2015 นักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกล 4 คน แห่ง Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT มาพบกันที่ห้องใต้ดินบ้านพี่น้องของพวกเขา นั่งลงบนถังสีที่คว่ำอยู่ และตัดสินใจที่จะแก้ปัญหาปัญหาหนึ่ง

นักศึกษาทั้ง 4 คนผู้ซึ่งอยู่ทีมโปโลน้ำด้วยกัน เบื่อหน่ายเหลือเกินกับการต้องจ่ายเงิน 10-14 เหรียญ ซื้ออาหารจากร้านใกล้มหาวิทยาลัยของพวกเขาที่ตั้งอยู่ใน Cambridge รัฐ Massachusetts มาทาน พวกเขามานั่งคิดว่า จะต้องมีวิธีที่ทำให้ร้านอาหารทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และทำให้อาหารราคาถูกลงและยังมีคุณภาพ และนั่นเป็นที่มาของ ร้านอาหารแห่งอนาคต อย่าง Spyce

ในเดือนพฤษภาคม 2018 Michael Farid, Kale Rogers, Luke Schlueter และ Brady Knight ได้เปิดร้าน Spyce แห่งแรกใน Downtown Boston ซึ่งครัวของร้าน Spyce จะใช้หุ่นยนต์ในการทำทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร ที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะใส่หรือไม่ใส่วัตถุดิบตัวไหน ไปจนถึงการเก็บล้างทำความสะอาด

Spyce ร้านอาหารแห่งอนาคต Photo Credit : Charles Krupa / AP

โดยอาหารที่จำหน่ายในร้าน Spyce มีราคาอยู่ที่ 7.5 เหรียญ สำหรับเมนู Korean bowl (ในเมนูนี้ประกอบไปด้วยไก่ย่าง, ข้าวกล้อง และกิมจิ) ซึ่งราคานี้เท่ากับเมนู Roma bowl (ในเมนูนี้ประกอบไปด้วยไก่ย่าง, เส้นพาสต้า และมะเขือเทศ)

ไอเดียของพวกเขาน่าสนใจจนสามารถระดมเงินทุนมูลค่า 24.8 ล้านเหรียญจาก Maveron and Collaborative Fund มาได้ และยังทำให้เชฟดาวมิชลินอย่าง Daniel Boulud เข้ามาเป็นนักลงทุนและที่ปรึกษา และล่าสุด พวกเขาก็ติดอันดับสุดยอดหนุ่มสาววัยไม่เกิน 30 ปี “30 Under 30 2019” โดย Forbes ด้วย

(จากซ้าย) Brady Knight, Kale Rogers, Luke Schlueter และ Michael Farid ภาพจาก THE BOSTON GLOBE

ตอนนี้ Spyce ดีขึ้นกว่าวันแรกมาก พวกเราทุกคนตื่นเต้นกับการเปิดร้านอาหาร มากกว่าการที่พวกเราเป็นบริษัทเทคโนโลยีเสียอีก” Michael Farid ซีอีโอวัย 27 ปีแห่ง Spyce กล่าว

 

นวัตกรรมนำมาสู่ "ร้านอาหารแห่งอนาคต"

แทนที่จะต้องสั่งอาหารกับแคชเชียร์ ลูกค้าของ ร้านอาหารแห่งอนาคต แห่งนี้ ต้องสั่งอาหารที่ kiosk ซึ่งลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบเองได้ตามความต้องการ โดยมีอาหารให้เลือกหลายสัญชาติ เช่น เลบานอน, อินเดีย, ละติน และไทย

เมื่อลูกค้าสั่งอาหารแล้ว ครัวอัตโนมัติก็จะเริ่มทำงาน โดยลูกค้าสามารถดูหุ่นยนต์ใส่ส่วนผสมลงในกระทะและปรุงอาหาร ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที เมื่อเสร็จแล้ว พนักงานของร้าน Spyce (ซึ่งเป็นคนจริงๆ) จะตกแต่งจานเพิ่มเติม และมอบอาหารให้กับลูกค้า

Photo Credit : ARAM BOGHOSIAN FOR THE BOSTON GLOBE

เราสามารถให้บริการคุณได้อย่างดี และอาหารแต่ละมื้อยังมีความคิดสร้างสรรค์ อาหารของคุณถูกปรุงขึ้นต่อหน้าคุณ ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม” Kale Rogers ผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ระบุ

ทั้งนี้ พวกเขาติดต่อเชฟ Boulud หลังจากเดาอีเมล์ของเชฟ ซึ่งคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจของพวกเขาทำให้ไม่กี่สัปดาห์ถัดมา เชฟ Boulud ตอบตกลงที่จะชิมเมนูอาหารจากพวกเขา โดยเป็นเมนูที่ประกอบด้วยไก่ มันฝรั่งหวานผสมเบคอน และซัลซ่ามะเขือเทศ ซึ่งใช้หุ่นยนต์ในการปรุง

หนึ่งสิ่งที่เชฟสะท้อนมา คือ พวกเราสนใจเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานของพนักงานของเรามากเท่าไหร่ เพราะเขารู้ดีกว่าใครว่าการทำงานในครัวนั้นยากแค่ไหน Farid กล่าว

Photo Credit : Business Insider

เป้าหมายของ Farid คือ การให้หุ่นยนต์ทำงานที่น่าเบื่อ, เหนื่อย และบางครั้งก็อันตรายสำหรับมนุษย์ เช่น การล้างจาน หรือการยืนหน้าเตาตลอดเวลา โดย Spyce มีพนักงานกะละ 2-5 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าร้านอาหารแบบ fast-casual ทั่วไป

ปัจจุบันร้าน Spyce ใน Boston มีลูกค้าประมาณ 500 คน/วัน และมีนักลงทุนรายใหม่ให้ความสนใจลงทุนเพิ่ม ได้แก่ Khosla Ventures, Maveron และ Collaborative Fund ซึ่ง Farid วางแผนว่าในปีหน้าจะเปิดสาขาเพิ่มในเมืองอื่นๆ

สิ่งสำคัญที่สุดคืออาหารและคุณภาพของอาหาร เราไม่ได้จะพยายามทำให้ราคาถูกกว่า แต่เราพยายามที่จะทำอาหารที่ดีที่สุดที่ลูกค้าสามารถมากินได้ในบรรยากาศแบบ fast-casual ในราคาที่ไม่แพงเกินไป Rogers กล่าวทิ้งท้าย

  กนกวรรณ มากเมฆ Online Content Creator แปลและเรียบเรียงจาก Rise Of The Robochef: How 4 Young Entrepreneurs Built A $25M Futuristic Restaurant Startup เผยแพร่ครั้งแรกที่ forbes.com