ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส
ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส
รัตนา สถิรมน รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจต่างประเทศ บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน)
การขึ้นบริหารงานร่วมกับพี่น้อง 5 คน ของ รัตนา สถิรมน ในฐานะรุ่นที่ 3 ความท้าทายแรกคือการลบคำสบประมาทที่ว่าจะเป็นการบริหารรุ่นสุดท้ายของสามมิตร จากความความกดดันกลายเป็นกลจักรสำคัญที่นำพาบริษัทสามมิตรมอเตอร์สผลิตชิ้น ส่วนรถยนต์ รถบรรทุก และรถหัวลาก จนกระทั่งเป็นเบอร์ 1 ใน ประชาคม AEC และนำพาองค์กรก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร พลังงาน รวมไปถึงก๊าซธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการก้าวไปสู่ระดับโลก
สิ่งหนึ่งจากคำสอนของรุ่นก่อนที่ รัตนา นำมาเป็นหนึ่งแนวทางการทำงานคือความสำคัญในการพัฒนาและการวิจัย “เห็นคุณปู่และคุณพ่อพูดถึงการทำงานในเรื่องของการพัฒนาและการวิจัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดมันไม่ใช่แค่เรื่องของวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ต้องมองไป 5-10 ปี ข้างหน้า เป็นเรื่องโชคดีที่ประเทศไทยเป็น hub ในเรื่องของ automotive งานที่ได้จากลูกค้าจึงเป็นในลักษณะ long-term ซึ่งนั่นทำให้องค์กรหยุดพัฒนาไม่ได้”
ด้วยเป้าหมายและภารกิจการก้าวสู่ระดับโลกเป็นแรงขับเคลื่อนให้ รัตนา และพี่น้องร่วมกันทำงานอย่างทุ่มเทด้วยความรักและสายใยในครอบครัวโดยเธอได้กล่าวไว้บางช่วงของงานว่า “สิ่งที่เราทำ มันไม่ได้ถูกบังคับ เรายินดีที่จะทำ เพราะเรารู้ว่าคนก่อนหน้าเราเค้าเหนื่อย ไม่ใช่แค่เค้าพูดว่าเค้าเหนื่อยนะ แต่เราเห็นเค้าทำจริงๆ แล้วเค้าเหนื่อย....แล้วเราได้โตมาถึงวันนี้ได้เนี่ย เป็นเพราะว่าพ่อแม่เราเหนื่อย อันนี้คือเรื่องของความรัก”
ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มอิตัลไทย
ยุทธชัย จรณะจิตต์ ทายาทหนุ่มแห่งกลุ่มธุรกิจอิตัลไทย ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งในอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านที่ทำธุรกิจหลากหลาย ด้วยเริ่มต้นทำงานด้วยอายุเพียง 24 ต้นๆ ก่อนดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปัจจุบัน
"ตัวผมเองถูกจับใส่เข้าไปในบริษัท ณ ตอนนั้น มันไม่มีสูตรสำเร็จ มันมีคำเดียวก็คือ ต้องทำให้ได้ ซึ่งเราเข้าไปตอนนั้น เราก็ต้องไปเรียนรู้ ไปรู้จักคน ว่าเขาทำยังไงคิดยังไง และเราจะได้ใจเขายังไง ซึ่งมันใช้เวลา และปีนี้เป็นปีที่ 21 แล้วที่ผมนั่งอยู่ในบริษัทนี้” ยุทธชัย กล่าวย้อนถึงการเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่ในวัย 24 ปี
โดย ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอิตัลไทย มีธุรกิจหลากหลาย อาทิ กลุ่มธุรกิจเครื่องจักรกล, กลุ่มธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม, กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมบริการและอสังหาริมทรัพย์ และ กลุ่มธุรกิจอาหารและธุรกิจค้าปลีก ที่มีความหลากหลายโดย ยุทธชัย กล่าวถึงการทำงานไว้ว่า “ธุรกิจเรามันขึ้นอยู่กับคน เพราะมันเป็น service industry เรามีหลายธุรกิจ บางธุรกิจแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ด้วยกันได้ ตัวผมเองจึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาในการปรับเปลี่ยนแผนของธุรกิจให้มันไป ด้วยกันได้ ซึ่งการที่จะ run องค์กรที่ใหญ่และหลากหลายขยนาดนี้ มันต้องใช้ dynamic มากพอสมควร ไม่ใช่เราให้งานเขาไปแล้วทำอยู่ 12 เดือน แล้วค่อยมาคุยกัน ผมมองว่าทุกธุรกิจโดยเฉพาะ service จะ sensitive มากต่อการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันและคู่แข่งก็มีสูงมาก ซึ่งคำที่ผมจะตอบคือ มันไม่มีสูตรสำเร็จ มันมีคำเดียว คือต้องทำให้ได้”
รุ่งฉัตร บุญรัตน์ กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่ สายการขายและการตลาด บมจ.มาลีสามพราน
รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ผู้บริหารที่อายุน้อยที่สุดบนเวที จากกลุ่มมาลีสามพราน ผู้บริหารซึ่งอายุน้อยที่สุดบนเวทีแต่มีเป้าหมายแบบทางการเงินแบบคูณสองกับ โจทย์ การสร้างยอดขาย ที่ 5,000 ล้านต่อปี สู่ 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
การนั่งบริหารงานต่อจากรุ่นก่อน ความสำเร็จด่านแรกของคือบริหารงานบริษัทด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์ที่เริ่มต้น “การใช้หลักการและเหตุผล” จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและมิตรภาพของการทำงานได้ดี
“ต้องบอกว่าความเป็นผู้หญิงในตอนที่เข้ามานั้นได้เปรียบ เราเข้าไปแบบนักทูต เรายกมือไหว้พนักงานทุกคน ทุกคนมีประสบการณ์มากๆ แต่ละคนอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี เราเข้าไปตอนนั้น เกือบจะเด็กที่สุดในบริษัท ทั้งบริษัทมีเด็กกว่าเราแค่ 2 คน เราเข้าไปแบบไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกใช้เหตุและผล ในการพูดกับพนักงาน ใช้วิธีการตั้งคำถาม บางอย่างที่พนักงานทำอะไรที่เราคิดว่ามันไม่เหมาะสม เราจะใช้วิธีตั้งคำถาม ว่าเพราะอะไรถึงทำแบบนี้ แล้วเราก็จะให้ alternative ให้เขาเห็นว่ามันก็ยังมีอีกหลาย way นะที่สามารถทำได้ และพนักงานในบริษัท 50% อยู่กับบริษัทมาเกิน 20 ปี เขาก็อาจจะยึดติดกับสิ่งที่เขาเคยทำ และเป็นสิ่งที่เขาทำแล้วเคยประสบความสำเร็จ อย่างตอนที่เราเข้ามา ยอดขาย 3,000 ล้านบาท”
ซึ่งภายในหลังจากการบริหารงาน รุ่งฉัตรได้ปรับภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์มาลีให้เป็นสาวสุขภาพ และเป็นการปรับภาพลักษณ์จากแก่นขององค์กร โดยมีการเปิดรับทุกความคิดของพนักงาน และหลังจากที่เธอเข้ามาบริหารงาน ยอดขายได้เพิ่มขึ้นจาก 3,000 ล้านบาท มาเป็น 5,000 ล้านบาทต่อปี
ธนรัชต์ พสวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จํากัด
ธนรัชต์ พสวงศ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อด้วยวัย 30 ต้นๆ ด้วยความท้าทายเพราะในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจทองมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก “ผมเข้ามาเป็น generation 3 ถูกท้าทายโดยทฤษฎีอยู่แล้วว่าถ้าทำพังก็รุ่นเรา” ธนรัชต์ กล่าว
การเข้ามารับช่วงต่อของเขาเหมือนเป็นการเริ่มนับ 1 เพราะครอบครัวไม่เคยบังคับว่าจะต้องมาสืบสานกิจการต่อ หลังเรียนจบปริญญาโทเขาจึงต้องเริ่มเรียนรู้ธุรกิจของครอบครัวอย่างจริงจัง โดยมีโจทย์ใหญ่คือ “ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค” ที่ทำให้คนในองค์กรทำงานร่วมกันและปรับตัวร่วมกันกับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค
“ปัจจุบัน 70% ของการซื้อขายอยู่บนแพลตฟอร์มโมบายและแท็บเล็ต เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การพัฒนาองค์กรและการระมัดระวังความปลอดภัยก็ เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่ต้องระวังคนที่จะมาโกงในเรื่องของผลิตภัณฑ์ ผมก็ต้องมาระวังในเรื่องของระบบไอที เรื่องของแฮ็กเกอร์ และผู้ที่พยายามจะเอาชนะระบบอยู่ตลอดเวลา” ธนรัชต์ กล่าวย้ำถึงการเปลี่ยนแปลง
และ เมื่อธุรกิจทองคำไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปิดร้านทองอยู่ในเยาวราชอีกต่อไป Gold Futures และระบบออนไลน์ ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจทองคำไปตลอดกาลซึ่งเป็นความท้าทาย และเป็นความยากอย่างยิ่งที่คนในกลุ่มธุรกิจนี้ต้องปรับตัว
นี่คือความท้าทายที่ The Next Tycoons ทั้ง 4 มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์จากเวที Forbes Thailand Forum 2015 : The Next Tycoons ร่วมไขเคล็ดลับการบริหารธุรกิจจากกูรูตัวจริงของเมืองไทย Panel 2: Enhancing A Fortune | ติดตาม รายงานพิเศษฉบับเต็ม Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2558