DHL คาดตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตได้อีก 5 เท่า รุกจัดส่งถึงมือลูกค้าภูมิภาคภายในวันถัดไป
DHL เดินตามกลยุทธ์บุกตลาดโลจิสติกส์เพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั่วโลก เชื่อค้าออนไลน์ไทยเติบโตได้อีก 5 เท่า เร่งขยายเครือข่ายสร้างจุดแข็งจัดส่งพัสดุถึงมือลูกค้าต่างจังหวัดภายในวันรุ่งขึ้น
Charles Brewer ประธานกรรมการบริหาร DHL eCommerce ในเครือ Deutsch Post DHL Group จากเยอรมนี เปิดเผยว่า หลัง DHL วางกลยุทธ์บริษัทเมื่อปี 2557 หนึ่งในกลยุทธ์หลักคือการเปิดบริการใหม่ DHL Post-eCommerce-Parcel ในประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อตอบรับการเติบโตของการค้าออนไลน์ที่ต้องการบริการจัดส่งพัสดุแบบ B2C ทั่วโลกซึ่งพบว่ามีการเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี
นอกจากสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ซึ่งเป็นประเทศหลักที่มีการค้าออนไลน์และโลจิสติกส์สูง ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการเติบโตโดดเด่น ทำให้บริษัทตัดสินใจเปิดดำเนินการ DHL eCommerce ในไทยเมื่อเดือนมกราคม 2559 ซึ่งปัจจุบัน DHL มีความสามารถในการจัดส่งได้ 15 ล้านชิ้นต่อปี
ด้านเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ DHL eCommerce ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2559 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมีมูลค่า 1.4 พันล้านยูโร (ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท) โดยปกติแล้วค่าบริการจัดส่งจะอยู่ที่10% ของมูลค่าการสั่งซื้อ เท่ากับมูลค่าตลาดโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซคาดว่ามีประมาณ 5.2 พันล้านบาท
เกียรติชัยมองว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังเติบโตได้อีกมาก คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 3.6 พันล้านยูโร (ประมาณ 1.34 แสนล้านบาท) ภายในปี 2563 ด้วยการเติบโตเฉลี่ย 22-25% ต่อปี เนื่องจากไทยมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2.7 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้มีการทำการค้าออนไลน์เพียง 3-4 หมื่นรายในปี 2559 จึงน่าจะมีผู้ค้าอีกมากที่หันมาใช้ระบบอีคอมเมิร์ซ
รวมถึงปัจจุบันมูลค่าค้าปลีกผ่านช่องทางออนไลน์ยังคิดเป็นเพียง 1.7% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีน การค้าออนไลน์คิดเป็น 10% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด การค้าออนไลน์ของไทยจึงอาจเติบโตได้อีก 5 เท่า โดยมีปัจจัยส่งเสริมคือการผลักดันระบบ e-Payment ของรัฐบาลไทย
สำหรับ DHL eCommerce ในไทย หลังเริ่มต้นธุรกิจเป็นเวลา 1 ปี ได้รับผลตอบรับที่น่าพอใจ และปี 2560 จะพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น ด้วยกลยุทธ์คือ 1.ส่งสินค้าสู่ผู้รับในต่างจังหวัดภายในวันถัดไป จากเดิมที่ DHL สามารถจัดส่งได้ใน 3 วัน โดยจะขยายเครือข่ายกระจายสินค้าในต่างจังหวัดที่ห่างไกลมากขึ้น เพราะพบว่าตลาดต่างจังหวัดเติบโต 30-35% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ และผู้เล่นในตลาดต่างจังหวัดมีน้อยรายกว่า
2.พัฒนาบริการเพื่อลูกค้า B2C และ C2C ได้แก่ บริการเก็บเงินปลายทาง (COD), ระบบ SMS Tracking และการจัดส่งไปต่างประเทศในราคาที่เอื้อมถึงได้ 3.ดึงดูดลูกค้ากลุ่ม B2B นำเสนอทางเลือกให้ DHL เป็นผู้จัดส่งแทน ซึ่งประหยัดต้นทุนให้กับบริษัทได้มากกว่า
“การค้าออนไลน์มีปัจจัยเพิ่มอีกหนึ่งอย่างจากการค้าแบบปกติ เพราะการจบการซื้อขายไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนจ่ายเงินแล้วเดินออกจากร้าน แต่จะต้องมีการจัดส่งเป็นส่วนสุดท้าย และประสิทธิภาพหรือคุณภาพของการจัดส่งเป็นส่วนสำคัญมากต่อประสบการณ์การซื้อของลูกค้า” เกียรติชัยกล่าว
......................................
Forbes in Detail
ทั้งสองผู้บริหารจาก DHL eCommerce ยังแบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซประเทศไทยเพิ่มเติม อาทิ
- บริษัทโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่มีไม่เกิน 10 ราย
- การจัดส่งพัสดุในไทยปัจจุบันมี 2 แสนชิ้นต่อวัน
- 90% ของผู้ขายอยู่ในกรุงเทพฯ
- 60% ของผู้ซื้ออยู่ในต่างจังหวัด
- มูลค่าเฉลี่ยต่อการสั่งซื้อหนึ่งครั้งอยู่ที่ 900 บาท
- 60% ของผู้ซื้อเลือกวิธีชำระเงินปลายทาง
- ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกให้จัดส่งวันธรรมดาที่บ้านหรือออฟฟิศ