BREXIT : จะอยู่หรือไปผลต่อเศรษฐกิจโลกและการลงทุนไทย - Forbes Thailand

BREXIT : จะอยู่หรือไปผลต่อเศรษฐกิจโลกและการลงทุนไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jul 2016 | 12:33 PM
READ 3946

23 มิถุนายน 2559 วันที่ประวัติศาสตร์โลกต้องบันทึกอีกครั้งเนื่องจากเป็นวันที่สหราชอาณาจักรจะลงประชามติว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่

เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 1975 เมื่อจัดประชามติในช่วงวิกฤตน้ำมันโลกครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นอียูยังเป็นเพียง European Common Market ผลการลงประชามติในครั้งนั้น 67.2% ของประชาชนต้องการอยู่ และเพียง 32.8% ต้องการออกจากอียูวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ทำให้เศรษฐกิจอียูซบเซาอย่างหนัก อัตราว่างงานของอียูจาก 7% ในปี 2008 แตะขึ้นไปที่10% ในปี 2013 นายกรัฐมนตรี David Cameron ซึ่งเป็นผู้นำของพรรคอนุรักษ์นิยมในขณะนั้น จึงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วยการสัญญาว่าจะจัดการทำประชามติให้ชาวสหราชอาณาจักรมีสิทธิออกเสียงเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกของอียูอีกครั้งหากเขาได้รับเลือกตั้ง เพื่อให้ชาวสหราชอาณาจักรได้รับข้อตกลงที่เป็นธรรมมากขึ้น เช่น การเรียกร้องให้เงินปอนด์ได้รับการยกย่องเป็นสกุลเงินสำคัญในอียูนอกเหนือจากเงินยูโร การลดสวัสดิการที่มอบให้ชาวยุโรปที่อพยพเข้ามาอาศัยในสหราชอาณาจักรเป็นเวลาน้อยกว่า 4 ปี และสิทธิในการคัดค้านกฏหมายของอียู ดังนั้น พรรคอนุรักษ์นิยมจึงต้องจัดการทำประชามติดังกล่าวที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน


ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานับว่าอียูเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมืองหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอพยพของชาวซีเรียสู่ประเทศเยอรมัน และการวางระเบิด ณ กรุง Brussels ซึ่งล้วนทำให้การออกจากอียูมีน้ำหนักมากขึ้น จึงทำให้ทั่วโลกจับตาการทำประชามติครั้งนี้ ทั้งนี้ ผลการสำรวจจากสถาบัน YouGov สะท้อนว่าการลงคะแนนจะเป็นไปอย่างดุเดือด โดยสัดส่วนคนที่ต้องการอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปอยู่ที่ 40% ขณะที่คนที่อยากออกอยู่ที่ 39% ส่วน 21% ยังไม่ตัดสินใจ ผลกระทบจากการทำประชามติจะไม่รุนแรงจนเกิดความเสี่ยงต่อเงินยูโรเหมือนการทำประชามติของกรีซ แต่จะทำให้มีความเสี่ยงทางการเมือง เนื่องจากการก่อตั้งอียูเกิดจากความต้องการสมานฉันท์ประเทศสมาชิก เพื่อป้องกันสงคราม ดังนั้น นักลงทุนจึงขายเงินปอนด์ล่วงหน้าเพื่อปิดความเสี่ยงนี้ โดยมูลค่าการเข้าทำสัญญาขายเงินปอนด์และเข้าซื้อเงินดอลลาร์ล่วงหน้าในตลาดสัญญาฟิวเจอร์สเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2015 มาที่มูลค่าถึง 3.2 พันล้านปอนด์ดังนั้น หาก Brexit ไม่เกิดขึ้น เราจึงมองว่าเงินปอนด์จะกลับมาแข็งค่าตามความกังวลที่ลดลง และอาจหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่ลดลงจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) สามารถเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างเสรีมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องกังวลถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการเหตุการณ์ Brexit ซึ่งนั่นหมายความว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยและอีซีบีสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้
 


รวมกันเราอยู่ แยกกันเราพินาศ

หากเหตุการณ์ Brexit เกิดขึ้น ผลเสียต่อเศรษฐกิจจะกระจายเป็นวงกว้าง เนื่องจากอียู มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่2 ของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถผลิตเพียงสินค้าที่ตนชำนาญ แต่ Brexit จะส่งผลให้อุปสรรคทางการค้าเพิ่มขึ้นและเป็นการสนับสนุนการกีดกันทางการค้า ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต Great Depression ในปี 1930

การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูจะลดลง เนื่องจากจะต้องมีการเจรจาข้อตกลงทางการค้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษีการค้า มาตรฐานคุณภาพสินค้า และการเดินทางข้ามประเทศระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของอียู เนื่องจากสหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของอียูและมีความสำคัญใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐฯ และจีน โดยมียอดส่งออกเฉลี่ยถึง 2.9% ของจีดีพีในช่วงปี 2010-2014


รวมถึงอียูยังได้เปรียบทางการค้ากว่า เห็นได้จากการเกินดุลการค้ากับสหราชอาณาจักรถึง 0.6% ต่อจีดีพี การเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่อาจใช้เวลานาน ดังเช่นการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างอียูและแคนาดาที่เริ่มในปี 2009 จนแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2014 แต่ขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้นการให้สัตยาบันทางกฎหมาย ดังนั้น Brexit อาจยืดเยื้อยาวนานกว่าช่วงเวลาที่ประเมินไว้เบื้องต้นที่ 2 ปีและส่งผลลบต่อการค้าในระยะยาวความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นจะส่งผลลบต่อการลงทุนทางการเงินเช่นกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการเข้าลงทุนในสินทรัพย์การเงินของชาวยุโรปในสหราช-อาณาจักรเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินจากชาวอเมริกันที่เพิ่มขึ้นเพียง 2 เท่า และมากกว่าปริมาณการเข้าไปลงทุนของชาวเอเชียถึง 7 เท่า ทำให้ชาวยุโรปเป็นสัญชาติที่ถือครองสินทรัพย์ในสหราชอาณาจักรมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัญชาติอื่นๆ

นอกจากนี้ ปริมาณการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) ระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจทั้งสองอาจลดลงอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาอียูถือเป็นแหล่งลงทุนอันดับแรกของชาวอังกฤษเลยก็ว่าได้ ดังนั้น หากพิจารณาถึงผลกระทบทางการลงทุนแล้ว สหราชอาณาจักรจะได้รับผลเสียมากกว่า เนื่องจากสหราช-อาณาจักรเป็นประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการคลังสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศเนื่องจากประเทศใช้จ่ายเงินมากกว่าที่สามารถหารายได้ได้ และจะกดดันแนวโน้มเงินปอนด์ในระยะต่อไปขณะที่การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ จะเปลี่ยนไปเช่นกัน เนื่องจากการค้ากับสหราชอาณาจักรจะไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์เดียวกับอียูได้อีกแล้ว ดังนั้น การค้าที่ลดลงจะกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน ซึ่งอาจส่งผลลบต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งพันธบัตร หุ้น และค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งสินทรัพย์ไทยและเงินบาท


อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อประเทศไทยในเชิงการค้าอาจอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการค้าของไทยกับอียูลดลงจาก 16% ในปี 1999 มาที่ 9.6% เท่านั้น ส่วนการค้ากับสหราชอาณาจักรลดลงจาก 3% มาที่ 1.5% ในช่วงเดียวกัน แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านการส่งออกของไทยไปจีนผลกระทบจาก Brexit ต่อไทยจะเป็นด้านการลงทุน เนื่องจากอียูและสหราชอาณาจักรเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของไทย โดยในปี 2015 อียูเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (FDI) ของไทยเป็นอันดับ 2 (16%) รองจากญี่ปุ่น (35%) และเท่ากับปริมาณเม็ดเงินลงทุนที่มาจากกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย ซึ่งในจำนวนการเข้ามาลงทุนของอียูนั้น สหราชอาณาจักรถือเป็นประเทศที่2 ที่ขนเม็ดเงินเข้ามามากที่สุด รองจากเนเธอร์แลนด์


Brexit อาจทำให้ลอนดอนเสียตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางทางการเงินอีกด้วย บริษัทให้คำปรึกษา Z/Yen จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของศูนย์กลางการเงินต่างๆ เป็นดัชนี Global Financial Center Index (GFCI) โดยใช้เกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่ ความสะดวกในการทำธุรกิจ การพัฒนาของตลาดเงิน โครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถของบุคลากร ชื่อเสียง และปัจจัยอื่นๆ โดยผลการจัดอันดับสะท้อนว่าลอนดอนยังเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญ แต่ถ้าลอนดอนลดความสำคัญทางการเงินลง อาจทำให้องค์กร IMF ปลดเงินปอนด์ออกจากตะกร้าสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศอีกด้วย ซึ่งในขณะนี้ เงินปอนด์มีสัดส่วน 4.7% ของเงินสำรองที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครองอยู่

ถ้าชาวอังกฤษลงคะแนนออกจากอียูจริง อาจทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองด้วยเนื่องจากประชาชนชาวสก็อตบางส่วนต้องการคงอยู่กับอียู ในปี 2014 ชาวสก๊อต 55% ลงประชามติคงอยู่ในสหราชอาณาจักร ขณะที่ 45% ต้องการแยกตัวออกมา ทำให้ผู้นำสก็อตแลนด์ (Nicola Sturgeon) กล่าวว่าการทำประชามติในเดือนมิถุนายนนี้อาจทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป

หากใช้ประวัติศาสตร์เป็นตัวทำนาย เราเชื่อว่าชาวอังกฤษจะลงมติอยู่กับอียูต่อไปเช่นเดียวกับชาวกรีซในประชามติปี 2015 ซึ่งในสถานการณ์ของกรีซ นาย Alexis Tsipras จัดการทำประชามติเพื่อให้ชาวกรีซมีอำนาจต่อรองกับอียูมากขึ้นเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งชาวกรีซกว่า 61.3% ลงคะแนนไม่ยอมรับข้อตกลงของอียูและลงมติที่จะอยู่ในอียูต่อไป ทำให้กรีซได้รับข้อตกลงที่ผ่อนปรนมากขึ้น หาก Brexit ส่งผลเสียต่อทั้งสหราชอาณาจักรและอียู Brit-stay จะส่งผลดีพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษที่จะได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นหากสหราชอาณาจักรสามารถปรับเปลี่ยนข้อตกลงทางเศรษฐกิจ การค้า และการเมือง โดยที่สามารถรักษาความเป็นสมาชิกอียูได้เหมือนเดิม


ธิติ ตันติกุลานันท์
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)


คลิ๊กอ่านบทความทางธุรกิจและแนวการทำงานได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ June 2016 ในรูปแบบ E-Magazine