50 ซีอีโอ มองเศรษฐกิจไทยฟื้น เร่งลงทุนคนรับมืออนาคต - Forbes Thailand

50 ซีอีโอ มองเศรษฐกิจไทยฟื้น เร่งลงทุนคนรับมืออนาคต

สลิงชอท กรุ๊ป เผยผลสำรวจ 50 ซีอีโอไทย ไตรมาสแรก มองแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เร่งลงทุนคน เทคโนโลยี ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง สร้างทักษะ “Power Skills” นำพาองค์กรไปสู่อนาคต

สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสลิงชอท กรุ๊ป เปิดเผยว่า สลิงชอท กรุ๊ป ได้สำรวจความคิดเห็น 50 CEOs ชั้นนำของประเทศไทยที่อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน ธนาคาร ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ พบ 7 เทรนด์สำคัญที่น่าสนใจ เทรนด์แรก ร้อยละ 51 มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะกลับมาฟื้นตัว โดยร้อยละ 30 มองว่าจะเห็นการฟื้นตัวในไตรมาส 3 เป็นต้นไป เนื่องจากการเข้าถึงวัคซีนของคนไทยที่มีมากขึ้น รวมถึงการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น และนโยบายการเปิดประเทศ ทำให้ซีอีโอเริ่มวางแผนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการทักษะแรงงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องมีทักษะในเชิงลึก และกว้างที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง ซึ่งหากแต่ละองค์กรเตรียมคนไม่ทัน จะเกิดการแย่งชิงแรงงานข้ามอุตสาหกรรม “มุมมองของซีอีโอที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด คือการเปลี่ยนมายด์เซ็ท เรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน แม้จะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเจอกับความท้าทายจากปัจจัยด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ทำให้มองคนเป็นศูนย์กลาง และยังคงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีในการช่วยขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต”

ต้องทรานส์ฟอร์มให้สำเร็จ

เทรนด์ที่ 2 คือผู้นำให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การทรานส์ฟอร์มองค์กรให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งร้อยละ 47 ของซีอีโอ ได้วางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้องค์กร มี 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การทรานส์ฟอร์มระดับองค์กร การทรานส์ฟอร์มกระบวนการทำงาน การทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยี และ การทรานส์ฟอร์มคนและวัฒนธรรมองค์กร “การทรานส์ฟอร์มคนและวัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นเรื่องที่ซีอีโอให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะการทรานส์ฟอร์มด้านอื่น ๆ จะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าคนไม่เปลี่ยนมายด์เซ็ทที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน โดยร้อยละ 30 มองว่าการสรรหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและมีทักษะที่จำเป็นต้องอนาคตขององค์กรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรประสบความสำเร็จ” สุทธิโสพรรณระบุ เทรนด์ที่ 3 การทำงานแบบไฮบริดจะเป็นกลายเป็นวิธีการทำงานหลักขององค์กร ซึ่งร้อยละ 100 ของซีอีโอมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานแบบไฮบริด เช่น การอัพเดทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยให้การทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ซีอีโอยังคาดหวังให้คนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเพื่อต้องการการมีส่วนร่วม ความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 10 ของซีอีโอที่มองว่า Metaverse จะมีบทบาทสำคัญในการทำงานยุคใหม่ แตกต่างจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการนำ Metaverse มาใช้ในการทำงานหลายรูปแบบ เช่น การบริหารคน ประชุม การรับสมัครงานต่างๆ

กลยุทธ์เรื่องคนจะถูกทบทวนครั้งใหญ่

เทรนด์ที่ 4 การสร้างประสบการณ์ให้พนักงาน การสร้างคุณค่าให้กับการทำงาน โดยร้อยละ 33 ของซีอีโอมองว่าการเห็นคุณค่าของงานที่ทำ จะเป็นสิ่งที่สร้างประสบการณ์ที่สำคัญให้กับพนักงาน การสร้างการทำงานที่มีคุณค่า คือต้องทำให้พนักงานมองเห็นอุดมการณ์ หรือเป้าหมายร่วมกันในการทำงาน มีอิสระในการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน การมีทีมงานที่ทำงานสอดประสานและทำงานได้รวดเร็ว “โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดที่ซีอีโอมอง ไม่ใช่แค่การเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรม หรือในธุรกิจ แต่เป้าหมายของการทำงานอย่างมีคุณค่า คือการที่องค์กรได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับพนักงาน ธุรกิจ และสังคมมากกว่า” เทรนด์ที่ 5 กลยุทธ์เรื่องคนจะถูกทบทวนครั้งใหญ่ โดยร้อยละ 74 ของซีอีโอ มองว่าเรื่องคนต้องมาก่อน และคนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงโควิด การที่องค์กรตั้งเป้าหมายระยะสั้น ทำให้พนักงานลาออก ไม่ไปต่อ โดยร้อยละ 60 ของผู้นำองค์กรที่ซีอีโออยากได้มี 3 เรื่อง ArtiCulate ผู้นำที่ดีจะต้องสื่อสารและอธิบายเป้าหมายและกลยุทธ์ให้ทุกคนเข้าใจและเห็นภาพร่วมกัน Connect ผู้นำที่มีแนวทางการบริหาร ที่เน้นการมีส่วนร่วม การร่วมมือทั้งแนวตั้ง คือจากบนลงล่างและแนวนอน คือระหว่างเพื่อนร่วมงานและแผนกต่าง ๆ และ Trust ผู้นำที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบไว้เนื้อเชื่อใจ มอบหมายหน้าที่และอำนาจการตัดสินใจให้ และพนักงานมีความเชื่อมั่น สุทธิโสพรรณ กล่าวว่า ซีอีโอมองว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว อยากให้คนกลับมาอยู่ในเรือลำเดียวกัน เพื่อเตรียมวางรากฐานในอนาคต โดยผู้นำที่ดีต้องมาประสานความร่วมมือ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากในช่วงโควิดที่ซีอีโอมุ่งหาดินแดนใหม่ แต่ครั้งนี้มองว่าการอยู่ที่เดิมก็อยู่รอดได้ แต่ต้องมีผู้นำที่มีไอเดีย สร้างความแตกต่างได้ และต้องประสานความร่วมมือกับพนักงานเพื่อนำองค์กรไปสู่เป้าหมาย เทรนด์ที่ 6 People Analytic จะถูกใช้ในทุกแง่มุมของธุรกิจ ซีอีโอจะมีการลงทุนด้าน People Analytic มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาข้อมูลด้านคนยังมีความล้าหลังในการนำมาใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์และตัดสินใจ และคาดหวังว่าแผนก HR จะสามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อวางแผนขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต เทรนด์ที่ 7 Diversity and Inclusion ยังเป็นจุดบอดขององค์กรและสังคมไทย จากการสำรวจ พบว่า ซีอีโอ 49 ใน 50 คน เชื่อว่าองค์กรของตัวเองมีความหลากหลาย เท่าเทียม และการมีส่วนร่วมในองค์กรเป็นอย่างดี แต่ในความจริงข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าร้อยละ 98 ของซีอีโอกลับตอบว่าองค์กรทำเรื่องนี้แบบผิวๆ เท่านั้น ขณะที่จากการสำรวจความคิดเห็นระดับพนักงาน กลับมองว่าองค์กรยังทำเรื่องนี้ได้ไม่ดีนัก ทั้งการล่วงละเมิดด้วยวาจากับเพศที่สาม การเปิดรับความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชั่น ถือเป็นช่องว่างที่สำคัญในองค์กร หากสามารถปิดช่องว่างนี้ได้ จะทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ผลสรุปจากการสำรวจความเห็นซีอีโอครั้งนี้ คือคน และเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปในการทรานส์ฟอร์มองค์กร ถึงเวลาที่จะต้องนำ Data มาใช้ในการทบทวนกลยุทธ์เรื่องคน คนที่ใช่ในวันนี้เพื่อองค์กรในอนาคต และทักษะความเป็นผู้นำ และ Power Skills จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น” สุทธิโสพรรณกล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: บี.กริม เพาเวอร์ เผยผลประกอบการไตรมาส 1 รายได้เพิ่ม 41%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine