25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 2 - Forbes Thailand

25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 2

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Jun 2016 | 01:47 PM
READ 5515
ทุกบริษัทที่เราเลือกเข้ามาอยู่ในทำเนียบ Best Small Companies ของเราต่างก็มีโอกาสที่จะขยายกิจการให้ใหญ่โตมหาศาลด้วยความรวดเร็ว ถึงแม้การเติบโตจะเป็นเรื่องดี แต่ผู้นำของกิจการเหล่านี้กลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นที่นอก เหนือจากขนาดและผลตอบแทนทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการทำให้ธุรกิจของพวกเขาอยู่ในระดับดีเยี่ยม การมีบรรยากาศการทำงานที่ดี การพัฒนาบริการที่เยี่ยมยอดให้กับผู้บริโภค การตอบแทนสังคม รวมทั้งการแสวงหาวิธีที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งความร่ำรวยที่เกิดขึ้นจากธุรกิจของพวกเขานั้น ถึงแม้จะมีมูลค่าสูงลิ่ว แต่ก็ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จากความสำเร็จในด้านอื่นๆ ที่พวกเขาให้ความสำคัญมากกว่า

การเลือกบริษัทเข้ามาอยู่ในทำเนียบ เราใช้วิธีเดียวกับที่ใช้เมื่อสิบปีก่อนตอนที่คัดเลือกบริษัทเข้ามาใส่ใน หนังสือที่ชื่อว่า Small Giants นั่นคือบริษัทพวกนั้นจำต้อง:
  • ได้รับการยกย่องให้เป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการ
  • เป็น บริษัทที่มีโอกาสเติบโตเร็วกว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก แต่ผู้นำองค์กรเลือกให้น้ำหนักกับความเป็นเลิศของธุรกิจมากกว่าที่จะขยาย ขนาดของกิจการให้ใหญ่ยักษ์
  • ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นองค์กรที่ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน
  • สามารถ รักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินเอาไว้ได้อย่างน้อย 10 ปีติดต่อกัน ด้วยการมีโมเดลธุรกิจที่แข็งแรง มีงบดุลที่แข็งแกร่ง และอัตรากำไรที่ค่อนข้างนิ่ง
  • เป็นบริษัทนอกตลาดที่มีการถือครองหุ้นโดยผู้ถือหุ้นในวงจำกัด
  • เป็น บริษัทที่จัดอยู่ในระดับ human scale ซึ่งหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยังมีโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้ บริหารระดับสูงของบริษัท
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งประการที่ เรียกว่า “เสน่ห์” (mojo) ซึ่งในทางธุรกิจอาจจะพอเทียบได้กับคำว่าบารมี (charisma) นั่นคือถ้าผู้นำองค์กรคนไหนที่มีบารมีก็จะสามารถทำให้ลูกน้องรู้สึกอยากทำ ตามแนวทางของผู้นำคนนั้น เช่นเดียวกัน ถ้าหากบริษัทไหนมีเสน่ห์ ทุกคนก็อยากที่จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขายของ ซื้อของ หรือทำงานให้กับบริษัทนั้น แต่เรื่องเสน่ห์นี้เป็นเรื่องที่พูดยาก เหมือนกับวลีเด็ดของ Potter Stewart ผู้พิพากษาของสหรัฐฯ ที่พูดถึงภาพอนาจารว่า มันเป็นสิ่งที่กำหนดนิยามยาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณเห็นคุณก็จะรู้เอง


New Belgium Brewing
ที่ตั้ง: มณฑล Fort Collins รัฐ Colorado
ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง: Kim Jordan
รายได้: 225 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 685 คน

ในปัจจุบันหุ้นทั้งหมดของ New Belgium เป็นของพนักงานบริษัทจากแผน stock-ownership สำหรับพนักงาน ซึ่งถือกันว่าเป็นกรณีศึกษาของการบริหารแบบ progressive management ทั้งนี้บริษัทได้ผ่านการรับรองจาก B Corporation และได้คะแนนสูงลิ่วในแง่ของความยั่งยืน โดยโรงเบียร์ที่ Fort Collins ผลิตไฟฟ้าใช้เองถึง 18% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ต้องใช้ นอกจากนี้บริษัทยังกวาดรางวัลมาอีกเพียบจากวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท ยิ่งไปกว่านั้น New Belgium ก็ยังบริจาคเงินก้อนใหญ่ให้กับองค์กรที่สนับสนุนการใช้จักรยาน และการพัฒนาระบบนิเวศ

Jordan ซึ่งเป็นอดีตนักสงคมสงเคราะห์และอดีตสามีของเธอร่วมกันก่อตั้งกิจการ New Belgium ขึ้นมาในปี 1991 โดยเธอบอกว่าเธอมองกิจการซึ่งเริ่มต้นจากใต้ถุนบ้านของเธอนี้ว่าเป็นเหมือน ห้องทดลองการเรียนรู้ ซึ่งเธอสามารถที่จะทำการทดลองเรื่องของการแบ่งปันหุ้นกับพนักงาน การร่วมมือกับโรงเบียร์ท้องถิ่นอื่นๆ และการใช้กำไรที่ได้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่เธอก็รู้ดีว่าการจะทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ได้นั้น แรกสุดเลยคือบริษัทจะต้องมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงก่อน

ในช่วงแรก New Belgium ใช้หลักการบริหารแบบ open-book management สอนให้พนักงานรู้จักอ่านและแปลความหมายของงบการเงินของธุรกิจ “ถ้าคุณจะขอให้คนคิดและทำเหมือนกับเป็นเจ้าของกิจการ คุณก็ต้องทำให้พวกเขาเข้าใจว่าธุรกิจเดินหน้าได้อย่างไร” Christine Perich ซึ่งเข้ามารับตำแหน่ง CEO แทนในปี 2015 บอก “ซึ่ง มันเป็นสิ่งที่มีพลังอย่างมาก ถ้าหากคุณสามารถสอนให้คนรู้ว่าอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ คุณก็จะสามารถทำให้ทุกคนมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน แทนที่จะต่างคนต่างเดาสุ่มไป”



 
Cue Ball Group
ที่ตั้ง: รัฐ Boston
CEO: Tony Tjan
สินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการ: 200 ล้านเหรียญโดยประมาณ
จำนวนพนักงาน: 12 คน

Cue Ball พยายามที่จะนำเสนอรูปแบบใหม่ของการลงทุนแบบ venture capital ด้วยการไม่พยายามทำกำไรอย่างรวดเร็วให้กับนักลงทุน แต่ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบซื้อและถือยาวแบบ Warren Buffett โดย แทนที่จะหวังว่าการลงทุนสักหนึ่งหรือสองตัวจากสิบตัวจะประสบความสำเร็จ บริษัทกลับตั้งเป้าที่จะให้การลงทุนทั้งสิบตัวประสบความสำเร็จหมดทุกตัว

Cue Ball - A Compilation from Cue Ball on Vimeo.



Abt Electronics
ที่ตั้ง: รัฐ Chicago
คณะประธานร่วม: Jon, Michael, Billy และ Ricky Abt
รายได้: 400 ล้านเหรียญ (ประมาณการ)
จำนวนพนักงาน: 1,404 คน

Abt Electronics เป็นหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจที่แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้วแต่ยังเหลือรอดอยู่ คือเป็นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำธุรกิจแบบครอบ ครัว และไม่มีสาขา John Abt ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่พี่น้องตระกูล Abt ที่บริหารกิจการ บอกว่า สาเหตุที่กิจการของ Abt ยังไม่ล้มหายตายจากไปจากการรุกเข้ามาของห้างยักษ์ใหญ่อย่าง Best Buy และ Amazon ก็คือการให้บริการที่เยี่ยมยอดแก่ลูกค้า นอกจากนี้ Abt ยังจัดร้านอย่างใหญ่โตสวยงาม โดยมีพื้นที่รวมถึง 70,000 ตารางฟุต ซึ่งจัดวางสินค้ามากมายให้เลือกสรร




Fresno First Bank
ที่ตั้ง: มณฑล Fresno รัฐ California
CEO และ ประธานกรรมการ: Steve Miller
รายได้: 12 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 33 คน

ธนาคาร Fresno First Bank ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2005 เพื่อให้บริการด้านการธนาคารแก่ธุรกิจขนาดเล็ก และเลือกที่จะดำเนินธุรกิจอยู่ในที่แห่งเดียวโดยไม่ขยายสาขาออกไป ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ธนาคารสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี แต่ยังช่วยให้ธนาคารยังคงรักษาโครงสร้างองค์กรแนวราบได้ ซึ่งทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ พนักงานก็ยังได้แรงจูงใจเสริมอีกด้วยการจัดสรรเงินประมาณ 8% ของเงินเดือนไปใส่ในโครงการ stock option ของพนักงาน
 



Askinosie Chocolate
ที่ตั้ง: เมือง Springfield รัฐ Missouri
CEO และ ผู้ก่อตั้ง: Shawn Askinosie
รายได้: 1.8 ล้านเหรียญ
จำนวนพนักงาน: 17 คน

Shawn Askinosie อัยการฝ่ายแก้ต่างให้กับอาชญากรที่มีอายุงานนานถึง 20 ปี ได้เปลี่ยนอาชีพมาทำช็อคโกแลตขายในปี 2005 สิ่งที่ทำให้ Askinosie Chocolate ต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็คือวิธีการทำงานร่วมกับเกษตรกรในเอควาดอร์ แทนซาเนีย ฮอนดูรัส และฟิลิปปินส์ ซึ่งผลิตเมล็ดโกโก้มาป้อนให้เขาใช้ผลิตช็อคโกแลต Askinosie มองว่าเกษตรกรเหล่านี้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และนำพวกเขาเข้ามาอยู่ในโครงการปันส่วนกำไรซึ่งสูงถึง 10% ของกำไรของบริษัท และเนื่องจากเขาไม่ได้นำช็อคโกแลตจากผู้ผลิตแต่ละรายมาผสมกัน

ดังนั้น ช็อคโกแลตที่ผลิตออกมาแต่ละล็อตจึงมาจากแหล่งผลิตแหล่งเดียวเท่านั้น การทำเช่นนี้ทำให้ Askinosie สามารถวางระบบที่จะทำให้เกษตรกรได้รับส่วนแบ่งกำไรเป็นร้อยละจากยอดขาย ช็อคโกแลตของพวกเขา ทุกปีเขาจะเดินทางไปตามแหล่งผลิตต่างๆ เพื่อนำเอางบการเงินของบริษัทที่แปลเป็นภาษาท้องถิ่นแล้วไปให้กับ supplier ของเขา ทั้งนี้ ในแทนซาเนียซึ่งผลิตเมล็ดโกโก้เป็นสินค้าที่หาได้ทั่วไป แต่เกษตรกรที่ปลูกโกโก้ไม่เคยได้ลองลิ้มชิมรสช็อคโกแลตมาก่อนเลยในชีวิต



25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 1



25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 3



25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 4



25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies ตอนที่ 5




คลิ๊กอ่าน "25 บริษัทจิ๋วแจ๋ว Best Small Companies" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 รูปแบบ E-Magaizne