สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานงานเฉลิมฉลองครบรอบการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยปีที่ 145 ของ บี.กริม องค์กรที่อยู่เคียงคู่สังคมไทย จากรากฐานปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่อ “บี.กริม 145 ปี แห่งการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี รับใช้และเติบโตเคียงข้างกับประเทศไทย” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ “145 ปี บี.กริม” ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อช่วงค่ำวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 โดยมี “ฮาราลด์ ลิงค์” และคณะผู้บริหาร บี.กริม ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ
นิทรรศการ “145 ปี บี.กริม” ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ บี.กริม องค์กรหกแผ่นดินที่ยึดมั่นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อประชาสังคม โดยพาทุกคนย้อนอดีตในปี พ.ศ.2421 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางมายังประเทศไทยของเภสัชกรชาวเยอรมัน แบร์นฮาร์ด กริม และหุ้นส่วนชาวออสเตรีย แอร์วิน มุลเลอร์ เพื่อก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้นที่ซอยโรงแรมโอเรียนเต็ล ถนนเจริญกรุง ในชื่อ “สยามดิสเป็นซารี่” ซึ่งเป็นร้านปรุงยาตำรับตะวันตกแห่งแรกในสยาม และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นร้านยาหลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ในช่วงเวลาเดียวกัน บี.กริม ได้ร่วมมือกับตระกูลสนิทวงศ์ในการขุดคลองรังสิต ความยาว 1,500 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ขณะนั้น

บี.กริม เติบโตและขยายกิจการอันหลากหลาย ทั้งเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่การจากไปของเภสัชกรแบร์นฮาร์ด กริม เหตุการณ์ทางการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนมือของหุ้นส่วน และผลกระทบจากสงคราม แต่ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ใด บี.กริม ก็ยังคงยึดมั่นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ ด้วยความโอบอ้อมอารี รับใช้และเติบโตเคียงข้างกับประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน

บี.กริม ภายใต้การบริหารของ "ฮาราลด์ ลิงค์" ทายาทตระกูลลิงค์รุ่นที่ 3 ยังคงสืบทอดแนวคิดการทำงานจากบรรพบุรุษ ด้วย “การดำเนินธุรกิจด้วยความโอมอ้อมอารี” ทุกวันนี้ บี.กริม ที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยมา 145 ปีแล้ว ได้แบ่งสายธุรกิจหลักไว้ 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจด้านพลังงาน ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า, ธุรกิจอุตสาหกรรม ให้บริการโซลูชันในการจัดการพลังงานและเชื่อมต่อระบบภายในอาคารและภาคอุตสาหกรรม (กลุ่มผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและโซลูชันสำหรับอาคาร กลุ่มระบบทำความเย็น เครื่องปรับอากาศ กลุ่มอุปกรณ์พลังงาน และกลุ่มคมนาคม), ธุรกิจสุขภาพ จัดหาเวชภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และบริการทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง, ธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล นำเสนอเทคโนโลยี่ที่ล้ำสมัย เสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าและการบริการในตลาด, ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เป็นตัวแทนสินค้าแฟชั่นหลายกลุ่ม และ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ภายในงาน มีการจัดนิทรรศการ “145 ปี บี.กริม” รายล้อมรอบบริเวณพระปรางค์วัดอรุณ บอกเล่าประวัติความเป็นมา ร้อยเรียงเรื่องราวของบี.กริมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน อีกทั้งยังมีซุ้มนำเสนออาหารประจำแต่ละรัชสมัย อาทิ สมัยรัชกาลที่ 5 นำเสนอเมนูอาหารเลิศรส อาทิ หมี่กรอบ, ฝอยทอง, ข้าวขวัญ และเมนูกระเช้าสีดา สมัยรัชกาลที่ 6 นำเสนอเมนู ข้าวตังหน้าตั้ง และมะกรูดแช่อิ่ม

สมัยรัชกาลที่ 7 นำเสนอเมนูก๋วยเตี๋ยวผัดไทย, ดาราทอง ส่วนสมัยรัชกาลที่ 8 ประกอบด้วยเมนู นกกระจาบแตกรัง (ดอกแคสอดไส้หมูสับปรุงรส), ขนมนึ่ง สมัยรัชกาลที่ 9 นำเสนอเมนูที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรด อาทิ ไข่พระอาทิตย์, กล้วยหักมุกเชื่อม, ส้มตำไทย ส้มตำลาว และเมนูไข่ สมัยรัชกาลที่ 10 ประกอบด้วยเมนูยอดนิยมของประเทศไทย ข้าวเหนียวมะม่วง, ปลากุเลาแดดเดียว (ทอด ยำ ต้มส้ม) และ ต้มข่าไก่ เป็นต้น

นอกจากความวิจิตรงดงามของสถานที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารแล้ว ภายในงานยังมีการแสดงโขน “เรื่องรามเกียรติ์” ตอนศึกแสงอาทิตย์ โดยคุณพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินไทยร่วมสมัย แสดงควบคู่กับเพลงคลาสสิกร่วมสมัย ซึ่งประพันธ์โดย ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ศิลปินแห่งชาติ และบรรเลงโดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra (RBSO) ควบคุมวงดนตรีโดยวาทยกรชื่อดัง ดร.วานิช โปตะวนิช

โดยการแสดงโขน เรื่องราวรามเกียรติ์ ตอนศึกแสงอาทิตย์ เป็นการแสดงโดยคณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของแสงอาทิตย์ ยักษ์ที่มีอาวุธวิเศษเป็นแว่นแก้วสุรกานต์ ส่องผู้ใดผู้นั้นจะต้องตาย ทศกัณฐ์ออกคำสั่งให้แสงอาทิตย์ยกทัพไปรบกับพระรามพร้อมกับจิตรไพรีผู้เป็นพี่เลี้ยง พิเภกรู้ว่าแว่นแก้วสุรกานต์นั้นเก็บอยู่ที่พระพรหม จึงทูลพระรามว่า เมื่อแสงอาทิตย์มารบก็จะให้จิตรไพรีขึ้นไปเอาแว่นมาใช้ พระรามจึงได้สั่งให้องคตแปลงเป็นจิตรไพรีไปเอาแว่นมาเก็บไว้ก่อน
เมื่อแสงอาทิตย์รบกับพระราม จนเพลี่ยงพล้ำและคิดว่าอาวุธทั้งหลายคงใช้ไม่ได้ จึงสั่งให้จิตรไพรีขึ้นไปเอาแว่นวิเศษจากพระพรหม เมื่อจิตไพรีไปพบพระพรหมเพื่อขอแว่นแก้วสุรกานต์ก็พบว่าถูกกลจากพระรามหลอกเอาแว่นไปเสียแล้ว แสงอาทิตย์จึงรู้ว่าเสียทีแก่ศัตรูแล้ว และในที่สุดแสงอาทิตย์ก็ต้องศรพรหมาสตร์ของพระรามจนถึงแก่ความตาย
“145 ปี บี.กริม” ครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการถ่ายทอดประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า และเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษในฐานะที่ บี.กริมได้ร่วมทำกิจการรับใช้ประเทศเสมอมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 145 ปี



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 10 อันดับ มหาเศรษฐีจีนประจำปี 2023
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine