แม้เศรษฐกิจโลกโดยรวมอาจดูซบเซา แต่เหล่าเศรษฐีทั่วโลกโดยเฉพาะจากทวีปเอเชีย ผู้พิสมัยวัตถุโบราณเช่นผลงานศิลปะหรือชิ้นงานระดับลักชัวรี่ต่างๆ กลับไม่หวั่น สะท้อนจากข้อมูลของ Christie’s สถาบันประมูลชั้นนำระดับโลกของอังกฤษซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 250 ปี ที่เผยว่าปีที่ผ่านมา Christie’s มียอดขาย (รวมการประมูลและการขาย) ทั้งสิ้น 5.1 พันล้านปอนด์ (ราว 2.3 แสนล้านบาท) สูงกว่าปี 2016 ถึง 26%
ประภาวดี โสภณพนิช ผู้จัดการทั่วไป
Christie’s ประเทศไทย เผยรายละเอียดว่า ส่วนหนึ่งของยอดขายรวมที่สูงขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากการเปิดประมูลภาพเขียน
“Salvator Mundi” ฝีมือ
Leonardo da Vinci ที่มีผู้ประมูลไปด้วยมูลค่า 342.2 ล้านปอนด์ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่ง
การประมูล ยังคงเป็นประเภทหลักของยอดขาย โดยอยู่ที่ 4.6 พันล้านปอนด์ สูงขึ้น 38% จากปี 2016 ส่วนยอดขายจาก
ไพรเวท เซลส์ อยู่ที่ 472.4 ล้านปอนด์ ลดลง 32% จากปี 2016
ด้านผู้ซื้อใหม่ของ
Christie’s มีจำนวนเพิ่มขึ้น 31% ซึ่ง
ออนไลน์ เป็นช่องทางที่ผู้ซื้อใหม่ใช้ถึง 37% หากพิจารณาช่องทางการประมูลแบบเดิมและช่องทางการประมูลออนไลน์พบว่า งานศิลปะ 2 ประเภทหลักที่ดึงดูดผู้ซื้อใหม่ได้คือ
ชิ้นงานลักชัวรี่ (จิวเวลรี่ นาฬิกา ฯลฯ) 28% และ
ชิ้นงานศิลปะตกแต่ง 18% และหากแบ่งผู้ซื้อใหม่ตามภูมิภาคพบว่า
ทวีปอเมริกา มีผู้ซื้อใหม่มากสุดที่ 40% รองลงมาคือ
ยุโรปและตะวันออกกลาง 38% และ
เอเชีย 22%
ผู้จัดการทั่วไป
Christie’s ประเทศไทย เผยด้วยว่า เอเชียเป็นทวีปที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากยอดขายรวมในปี 2017 ที่
Christie’s มียอดขายจากทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นเป็น 31% จากปี 2008 ปี 2011 และปี 2015 ซึ่งอยู่ที่ 12% 22% และ 29% ตามลำดับ
“มีเศรษฐีชาวไทยหลายคนสนใจประมูลชิ้นงานศิลปะของ Christie’s ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และปีนี้เราจะมีกิจกรรมในไทยหลายครั้ง อย่าง Geneva Watches Preview ก็จะมีรอบ Bangkok Preview ในปลายเดือนมีนาคมนี้ หรือ Hong Kong Jewelry and Watches Preview เราก็จะจัด Bangkok Preview ราวๆ กลางเดือนพฤษภาคม”
ประภาวดี เผย พร้อมบอกด้วยว่า
Christie’s พร้อมจะสนับสนุนผลงานของศิลปินชาวไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก อย่างไรก็ดียังคงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น