“เมดอินไทยแลนด์” อินไซด์ธุรกิจส่งออกไทย–อเมริกา จาก “ทูตพาณิชย์อเมริกา” - Forbes Thailand

“เมดอินไทยแลนด์” อินไซด์ธุรกิจส่งออกไทย–อเมริกา จาก “ทูตพาณิชย์อเมริกา”

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Sep 2020 | 11:02 AM
READ 3576

ทูตพาณิชย์อเมริกา ชวนจับตาวิกฤตการค้าระหว่างประเทศไทย - อเมริกา พร้อมชวนเจาะกลยุทธ์การตีตลาดสหรัฐภายใต้สถานการณ์ระบาดโควิด - 19

เป็นที่ทราบกันดีว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 นั้น ได้สร้างวิกฤตให้กับโลกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน จนกระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ยกให้วิกฤตครั้งนี้เป็น “ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic)” โดยประเทศหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนก็คือ สหรัฐอเมริกา สหรัฐฯ มีทั้งระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรจำนวนมาก และยังมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยหลากหลายประการโดยเฉพาะด้านการค้า ที่ถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด และภาคธุรกิจของไทยจำเป็นต้องพึ่งตลาดสหรัฐฯ ในการกระจายสินค้าและบริการหลากหลายประเภท ซึ่งในวันนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายในด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยและคู่ค้าพันธมิตรอื่นๆ ในลักษณะโดมิโน่ และเป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะมีทางออกและการฟื้นตัวได้อย่างไร นพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหลักสูตร “เปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ Export Clinic” ที่จัดขึ้นเป็นประจำของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์การค้าในสหรัฐอเมริกา และแนวโน้มของสินค้าไทยที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งได้แนะนำทริคให้กับผู้ประกอบการที่มีความต้องการจะผลักดันสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ โดยได้เผยว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมามหานครนิวยอร์ก ถือเป็น ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก (Effect Center) แต่ก็ยังคงรักษาระดับการควบคุมความร้ายแรงและการระบาดไว้ได้ดี การเกิดขึ้นดังกล่าวมีสิ่งที่กระทบกับไทยที่ชัดเจนคือ การจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการและธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถเดินทางเพื่อหาคู่ค้า หรือแสดงสินค้าไทยได้
นพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ
แต่สุดท้ายสินค้าไทยก็ยังคงได้รับความนิยมเนื่องจากการเตรียมตัวรับมือของผู้ประกอบการที่สามารถทำได้ดี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับรูปแบบของการส่งเสริมช่องทางการค้าที่ผลักดันให้ไปสู่ตลาดออนไลน์ รวมถึงปรับรูปแบบการจัดงานต่างๆ ให้เป็น Virtual Exhibition หรือการจัดกิจกรรมแสดงสินค้าเสมือนจริงในช่องทางดิจิทัลเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยยังมีจุดแข็งจากการที่มีทูตพาณิชย์ที่กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ เพื่อรายงานข้อมูลความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ ตลอดจนผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสทำ Business Matching กับนักลงทุนของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง นพดล กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤตก็ยังคงมีโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าและธุรกิจประเภทอาหาร เนื่องจากความต้องการของตลาดและผู้บริโภคสหรัฐ ยังคงต้องดำรงชีพและอาศัยปัจจัยสี่โดยมีอาหารเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าวคือ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารประเภทพร้อมทาน (Ready to eat หรือ Ready to cook) ที่สามารถรับประทานได้ง่ายในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ กลุ่มสินค้าประเภทอาหารออแกนิก และอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากกำลังเป็นเทรนด์ของตลาดสหรัฐในปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐมากกว่า 5,000 ร้าน และยังคงดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเป็นอีกสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าธุรกิจอาหารไทยยังคงเติบโตได้ และคาดว่ากระแสความนิยมจะยังคงรักษาระดับที่ดีเช่นนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ “ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่แต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกาได้เร่งเครื่องในการช่วยผลักดันและประชาสัมพันธ์ให้กับสินค้าไทย เสมือนเป็นนักขายด่านแรกให้กับนักธุรกิจชาวสหรัฐ ประกอบกับ ความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพของสินค้าไทยที่ผู้บริโภคยังคงมีความชื่นชอบและมั่นใจในสินค้าไทยเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ สินค้าอาหารไทยยังถูกประชาสัมพันธ์และมีกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วยการเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะ Niche Market ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวที่ดีในช่วงที่การค้าระหว่างประเทศผันผวนเช่นนี้” นพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า การตระหนักถึง Country Brand โดยเฉพาะคำว่า Made In Thailand คือสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกๆ ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่หวังจะทำการค้าในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นจุดแข็งที่สามารถนำไปใช้แข่งขันกับประเทศคู่แข่งทั้งระดับภูมิภาคเดียวกัน หรือประเทศอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าในแต่ละประเภท รวมถึงเป็นแต้มต่อที่ดีอยู่แล้วที่ไทยต้องรักษาเสถียรภาพด้านคุณภาพของตนเองเอาไว้ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กับผู้บริโภคสหรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าอาหาร สินค้าเกษตร หรือแม้แต่กระทั่งสินค้าเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ สิ่งที่จะเป็นอาวุธสำคัญให้กับผู้ประกอบการไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ “เทคนิคในการเจรจากับคู่ค้า” ด้วยการอาศัยอัธยาศัยที่เป็นมิตร น่าเชื่อถือ และมีความจริงใจซึ่งเป็นจุดเด่นดั้งเดิมของผู้ประกอบการไทยและยังต้องเปิดใจให้กับการพัฒนาตนเองในด้านดิจิทัล เช่น การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา การติดตามสถานการณ์จากประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง รวมถึงการเรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ที่มีอย่างมากมายในช่องทาง Streaming ในปัจจุบัน “แม้หลายคนจะมีความกังวลว่าเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย หรือแม้แต่อินโดนีเซียจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญ บวกกับเรื่องวัตถุดิบบางประเภทที่ไทยอาจจะมีน้อยลง ตลอดจนการแข่งขันด้านราคาจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้สินค้าของไทยขายในสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ และไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลนัก เนื่องจากในตลาดสหรัฐฯ ผู้บริโภคยังคงยอมจ่ายในสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยยังคงมีแต้มต่อในเรื่องการผลิตสินค้าที่ดีอยู่  แต่สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเพิ่มเติมคือ สภาพทางวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และวิถีชีวิตของชาวอเมริกาที่จะเป็นตัวแปรให้ผู้ประกอบการมีแนวทางพัฒนาสินค้าให้ได้มากกว่าคู่แข่ง เนื่องจากอเมริกาเป็นดินแดนที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยตีโจทย์แตกก็หมายความว่าการจะรักษาหรือเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป หรือหากต้องการข้อมูลเชิงลึกในแต่ละประเทศมากขึ้น ก็สามารถขอคำปรึกษากับทูตพาณิชย์ได้ในโครงการ เปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ Export Clinic ที่จัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ซึ่งจะเป็นช่องทางที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำแบบครบทุกมิติ”
อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA)
ด้าน อารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ได้จัดทำโครงการ “เปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ หรือ Export Clinic” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกเข้าใจถึงความเป็นไปของบริบทการค้าโลก การแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดข้อจำกัดทางธุรกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการเดินหน้าธุรกิจมากขึ้น โดยโครงการนี้ ยังจะช่วยติดตามและประเมินสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมนำเสนอแผนรองรับที่เหมาะกับแต่ละธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้องค์กร หรือผู้ประกอบการมีแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุม นอกเหนือจากนี้ สิ่งสำคัญที่กรมฯ และทูตพาณิชย์ต้องการจะมุ่งเน้นกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ก็คือ การเตรียมตัวเพื่อรับการแข่งขันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่จะไปทำการค้าในตลาดยุโรป การส่งออกของไทยไปยุโรปและอาเซียน รวมถึงการยกระดับให้สินค้าส่งออกไทยมีความเหนือชั้นกว่าคู่แข่งได้อีกด้วย อ่านเพิ่มเติม: เร่งสปีดทรานส์ฟอร์เมชันด้วยการสร้าง “Trust”