ภาครัฐ-เอกชน ผนึกกำลังขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี หวังดึงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เผยความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง สนามบิน เหนือคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้าน เผยอุตสาหกรรมยานยนต์เล็งลงทุนอีวีคึกคัก ระดมจัดอีเวนต์ Re-design ประเทศไทยดึงนักลงทุนต่างชาติ
ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง และแนวโน้มราคาพลังงานพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนไทยมองว่าวิกฤตเป็นโอกาสในการดึงลงทุนจากต่างชาติผ่านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลสำหรับโครงการอีอีซี เฟส 2 คาดว่าจะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท คณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านการพัฒนาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กล่าวถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคม ขนส่งในอีอีซี ซึ่งมี 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้รัฐสามารถส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนได้ภายในปี 2565 และเอกชนจะเริ่มลงทุนก่อสร้างในต้นปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 คืบหน้าแล้วประมาณ 15% ขณะที่สนามบินอู่ตะเภา ล่าสุดได้ทำข้อตกลงการใช้พื้นที่ร่วมกับกองทัพเรือในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินเอกชนได้ ทั้งนี้ โครงการลงทุนในอีอีซี ได้ผ่านระยะที่ 1 โดยมีเงินลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท นอกจากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ยังมีการวางโครงสร้างพื้นฐานระบบ 5 จี โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) การพัฒนาบุคคลากร โดยในระยะที่ 2 อีอีซีต้องบูรณาการความร่วมมือกับเอกชนเพื่อดึงการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท โดยจะจับมือกับภาครัฐและเอกชนจัดงาน EEC FAIR 2024 เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสายตานักลงทุนต่างชาติค่ายรถยนต์เตรียมลงทุนอีวีคึกคัก

ระดมเมกะอีเวนต์บูมอีอีซีแฟร์
จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้ทีเส็บเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมและนิทรรศการมหกรรมระดับนานาชาติในประเทศไทยเพื่อดึงการจัดงานระดับเมกะ อีเวนต์เข้ามาในพื้นที่อีอีซี โดยใช้กลไกของไมซ์ (MICE) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทั้งภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี ก่อนจะนำไปสู่การจัดงานใหญ่อีอีซี แฟร์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ในปี 2566 ทีเส็บ วางโรดแมปการจัดงานอีเวนต์และแสดงสินค้าในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 25 งาน ระหว่างปี 2566-2570 ก่อนเข้าสู่การจัดงานอินเตอร์เนชันแนลแอร์โชว์ในปี 2570 ซึ่งเป็นงานใหญ่ในพื้นที่อีอีซี และมีการใช้เงินลงทุนมากถึง 2,599 ล้านบาท โดยจะช่วยสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ 4,777 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 18,760 ล้านบาท “ขณะที่งานอีอีซีแฟร์ จะเป็นหนึ่งในอีเวนต์สำคัญที่เราจะสร้างขึ้นเอง เหมือนบีโอไอแฟร์ ที่เคยจัดเมื่อปี 1995 ความร่วมมือกับภาคเอกชนในครั้งนี้ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกันของภาครัฐและเอกชน และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้ใน 2 – 5 ปีข้างหน้า” จิรุตถ์กล่าว ขณะที่ สุวรรณา โดตี้ ประธานเขตพื้นที่ภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่อีอีซี มีศักยภาพสูงในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ก่อนโควิดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีประมาณ 12 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 400,000 ล้านบาท โดยอีอีซี เหมาะจะเป็นต้นแบบการรีดีไซน์ใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ให้เข้าสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ทั้งการแพทย์ กีฬา อาหาร และการท่องเที่ยวในเชิงรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไปหลังโควิด อ่านเพิ่มเติม: ถอดกลยุทธ์ค้าปลีก เฟรเซอร์สฯ 3 ปี หนุนโต “สามย่าน มิตรทาวน์”ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine