เถ้าแก่ คือ พระเอกหรือผู้ร้าย ในศตวรรษที่ 21 - Forbes Thailand

เถ้าแก่ คือ พระเอกหรือผู้ร้าย ในศตวรรษที่ 21

FORBES THAILAND / ADMIN
29 Apr 2015 | 12:08 PM
READ 5159
หลายปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่หันมาเป็น “เถ้าแก่” หรือ ผู้ประกอบการเองเพิ่มสูงมากขึ้น การเป็นเจ้าของกิจการ ( entrepreneur) เหมือนเป็น “ยาวิเศษ” ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่อง ผู้ประกอบการถูกมองว่าเป็น ผู้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างธุรกิจให้เติบใหญ่ และ ได้กลายเป็นถ้อยคำคุ้นหูที่ใช้บ่อยสำหรับในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษา สื่อสารมวลชนต่างก็ให้ความสำคัญในการเสนอข่าวหรือเรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จของการเป็นเจ้าของธุรกิจหรือการจัดตั้งธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง

อาชีพนักพัฒนาแอพพลิเคชันซอร์ฟแวร์ และอาชีพวิศวกรออกแบบเซิร์ชเอนจิน ได้กลายเป็นอาชีพที่ผู้คนใฝ่ฝันเป็นอันดับต้นๆ แทนที่อาชีพนักบินอวกาศ คนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้มีชื่อเสียงที่ประกอบอาชีพในย่าน Silicon Valley ยังคงเพิ่มจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ บุคคลอย่าง Mark Zuckerberg และ Elon Musk ต่างได้รับการยอมรับในความสำคัญและความมีชื่อเสียงเทียบเท่านักกีฬาและนักดนตรีที่โดดเด่นเลยทีเดียว
 
เราอาจจะลืมนึกไปว่าในวงการสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้ชม เช่นภาพยนตร์นั้น มักจะไม่ได้ยกย่องผู้ประกอบการว่าเป็นซูเปอร์ฮีโร่เท่าไรนัก ตัวอย่างเช่น Clark Kent หรือ ซูเปอร์แมน ได้ถูกสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นคนธรรมดาที่ทำงานเป็นผู้เขียนข่าวหนังสือพิมพ์ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายคนหนึ่ง ในขณะที่คนที่มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการตัวจริงในเรื่องราวกลับเป็น Lex Luther นักประดิษฐ์ มหาเศรษฐีพันล้าน ผู้เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของซูเปอร์แมน

อีกทั้ง Scrooge McDuck ตัวละครของ Disney และ Mr. Burns จาก Simpsons ล้วนเป็นผู้ประกอบการที่มีภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีนัก การรับรู้ของสังคมเปลื่ยนไปพร้อมกับบุคคลที่เป็นขวัญใจในแต่ละยุคของพวกเขา ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในสมัยใหม่ ดูจะไม่มีความเกี่ยวข้องหรือทำให้ใครๆ

นึกถึง Donald Duck และ Homer Simpson อีกแล้ว เพราะพวกเขาต่างก็ไม่ได้เป็นบุคคลตัวอย่างในยุคสมัยนี้อีกต่อไป ในศตวรรษที่ 21 นี้ ซูเปอร์ฮีโร่จะมีภาพลักษ์ตามพระเอกอย่าง Iron Man เสียมากกว่า ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ผู้สร้างธุรกิจด้วยตนเอง เป็นนักประดิษฐ์ และเป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี
 
จากข้อมูลงานวิจัยล่าสุดของ Global Entrepreneurship Monitor (GEM) พบว่า 77% ของคนไทยมองภาพลักษณ์ผู้ประกอบการที่นำเสนอโดยสื่อต่างๆ ไปในทางบวก โดย GEM ได้เก็บรวบรวมข้อมูลด้านทัศนคติของประชาชนที่มีต่ออาชีพผู้ประกอบการในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) เป็นผู้เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม จะได้รับการสอบถามว่าพวกเขาได้พบเห็นเรื่องราวในสื่อที่เกี่ยวกับธุรกิจใหม่ที่ประสบความสำเร็จบ้างหรือไม่ ซึ่ง 2 ใน 3 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม ตอบว่าได้เคยพบเห็นข่าวหรือเรื่องราวดังกล่าว

ทั้งนี้ ระดับการศึกษาและระดับรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต่างแสดงความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับการรับรู้ของบุคคลต่อเรื่องราวของผู้ประกอบการในสื่อ ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีภูมิลำเนาในเขตเมืองกรุงเทพ จะมองภาพพจน์ผู้ประกอบการไปในทางบวกมากกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณภาคใต้ของประเทศ นอกจากนี้  ที่น่าสนใจมากคือ ในส่วนของผลวิจัยที่พบว่า การรับรู้ข่าวสารจากสื่อมีอิทธิพลโดยตรงต่อทัศนคติของบุคคลในเรื่องการนิยมสร้างธุรกิจของตนเอง    
 
ความตั้งใจของแต่ละบุคคลในการที่จะเริ่มสร้างธุรกิจของตนเองนั้น มักจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ หลายประการ ได้แก่ ความสามารถในการรับรู้ ความสามารถในการมองหาโอกาส เครือข่ายส่วนตัวและในแวดวงวิชาชีพ รวมถึงทัศนคติที่เห็นว่าการเป็นนายตนเองเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝัน ข้อมูลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นความสอดคล้องที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษด้านการรับรู้ข้อมูลจากสื่อในเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการ อยู่ในระดับสูงกว่าการรับรู้เรื่องราวเดียวกันนี้ของกลุ่มชาวยุโรปหรืออเมริกา สามารถกล่าวได้ว่าสื่อมวลชนมีบทบาทสูงทั้งทางอิทธิพลและหน้าที่ความรับผิดชอบในการรายงานข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย
 
ในฐานะนักวิชาการสาขาความเป็นผู้ประกอบการ ผมได้รับรู้ถึงเรื่องเล่าหรือเรื่องราวต่างๆ ที่แวดล้อมเหล่าผู้ประกอบการ ไม่ใช่ว่าเราควรจะสนใจแต่กับเรื่องราวประเภทความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของนักธุรกิจกันเพียงด้านเดียว แต่เราควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงและความถูกต้อง ที่มีหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนประกอบด้วย ผู้ประกอบการไม่เป็นเพียงแค่ตัวพระเอกหรือผู้ร้าย แต่พวกเขาเป็นผู้นำทีม เป็นคนที่ทำงานหนัก เป็นนักแก้ปัญหา และเป็นผู้ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับที่คาดคะเนไว้แล้ว อย่างไรก็ดี อัตราส่วนความล้มเหลวในการสร้างธุรกิจก็ยังสูงถึงกว่า 70% 
 
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นเจ้านายตนเอง มีความมุ่งมั่นต่อการเติบโตของธุรกิจค่อนข้างน้อย ไม่ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์หรือบริการไปยังต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่ค่อยให้ความสนใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อีกด้วย  สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการคือ ความใส่ใจในเรื่องความเป็นผู้ประกอบการและการศึกษาที่มีคุณภาพที่ช่วยผลักดันความตั้งใจนั้น ดังที่เห็นได้จากหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาผู้ประกอบการ โดย BUSEM อย่างไรก็ดี เรายังสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้มากมายจากตัวผู้ประกอบการเองด้วย ทั้งเรื่องราวของความสำเร็จและความล้มเหลว
 
เรื่องราวของผู้ประกอบการมักเป็นหัวข้อที่น่าสนใจในการนำเสนอโดยสื่อ มีบางเรื่องที่อาจเป็นเรื่องราวที่เหมือนจะเกินเลยความเป็นจริงไปบ้าง เช่น เรื่องของผู้คนไม่ว่าชายหรือหญิง ที่พยายามที่จะสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างโดยไม่ใช้ความพยายามใดๆ เรื่องราวลักษณะนี้อาจน่าสนใจและน่าติดตาม และคนไทยเองมักจะตื่นตัวกับเรื่องราวลักษณะนี้มากเป็นพิเศษ แต่การรับรู้เรื่องราวลักษณะนี้ ก็ควรจะใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาหรือเชื่อถือด้วย มายาคติที่สร้างขึ้นสำหรับเรื่องราวความสำเร็จ

การนำเสนอเรื่องราวผู้ประกอบการ (ทางธุรกิจออนไลน์) ที่ดูเกินจริง และความโน้มเอียงที่จะให้เครดิตแก่บุคคลคนเดียวต่อการสร้างความสำเร็จของทั้งองค์กรนั้น อาจทำให้ภาพลักษณ์ของความเป็นผู้ประกอบการดูไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมนัก นอกจากนี้ เราอาจพบเห็นว่าตัวบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการในส่วนผู้ผลิต หรือผู้ทำธุรกิจค้าขายระหว่างบริษัทด้วยกัน (ไม่ใช่การค้าขายแบบ mass หรือ retail) มักไม่ค่อยได้รับความสนใจในการนำเสนอจากสื่อมากนัก หากแต่เรื่องราวความเป็นมาของบุคคลกลุ่มนี้ต่างหาก (ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล) ที่ควรจะได้รับความสนใจบ้าง
 
ผมขอทิ้งท้ายด้วยข้อเท็จจริงบางอย่างเพื่อให้คุณได้นำไปคิดต่อให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้นำไปคิดไกลไปกว่าแค่การนึกถึงเพียงความเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย ซึ่งข้อมูลนี้อาจจะขัดกับสิ่งที่คุณได้รับรู้มาบ้าง นั่นคือ คุณรู้หรือไม่ว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการเริ่มต้นสร้างธุรกิจอย่างจริงจังครั้งแรกในวัยประมาณสามสิบกว่าปี (ไม่ใช่วัยยี่สิบต้นๆ ตามที่พวกเราคิดกัน) พวกเขาแต่งงาน มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท และมีแรงบันดาลใจหลักคือต้องการความเป็นอิสระ ไม่ไช่เรื่องเงินแต่อย่างใด

David Achtzehn อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) สนใจทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโทด้านผู้ประกอบการ ติดต่อที่ busem@bu.ac.th หรือ 0-2350-3500 ต่อ 1795

อ่าน ฉบับเต็ม “เถ้าแก่ คือ พระเอกหรือผู้ร้าย ในศตวรรษที่ 21” จาก Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2015