"เจแอลแอล" เผยผลสำรวจ พนักงานบริษัทเหนื่อยล้าจาก WFH - Forbes Thailand

"เจแอลแอล" เผยผลสำรวจ พนักงานบริษัทเหนื่อยล้าจาก WFH

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Jul 2021 | 06:24 PM
READ 1225

ผลการสำรวจความเห็นโดย "เจแอลแอล" เผยพนักงานบริษัทต่างๆ ส่วนใหญ่ต้องการทำงานอยู่ที่บ้านน้อยวันกว่าการเข้าทำงานที่ออฟฟิศ

รายงานที่มีชื่อว่า Worker Preference Barometer (ดัชนีชี้วัดความต้องการของพนักงาน) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก เจแอลแอล เผยให้เห็นว่า พนักงานของบริษัท/องกรค์ต่างๆ ต้องการความสมดุลในการเลือกใช้สถานที่สำหรับทำงาน โดยส่วนใหญ่ต้องการใช้เวลาทำงานที่ออฟฟิศมากกว่าทำงานอยู่ที่บ้าน เนื่องจากเริ่มรู้สึกว่าการทำงานที่บ้านกลายเป็นเรื่องที่สร้างความเหนื่อยล้ามากขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพของการทำงานลดลงด้วย รายงานฉบับดังกล่าว เป็นการรวบรวมผลสำรวจความเห็นของพนักงานจำนวน 1,500 รายจากบริษัทต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิกในสถานการณ์โควิด โดยพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ต้องการที่จะทำงานในออฟฟิศ 3 วันสลับกับทำงานที่บ้าน 2 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผลจากสำรวจแบบเดียวกันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เผยว่า พนักงานส่วนใหญ่ต้องการทำงานที่บ้าน 3 วันสลับกับการทำงานที่ออฟฟิศเพียง 2 วัน ร้อยละ 68 ของผู้ตอบแบบสำรวจต้องการใช้สถานที่ทำงานแบบไฮบริด คือการทำงานที่ออฟฟิศสลับกับที่บ้านหรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ออฟฟิศของบริษัท ลดลงจากร้อยละ 74 ในผลการสำรวจของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ร้อยละ 60 มองว่าการทำงานที่ออฟฟิศได้ประสิทธิผลของงานมากกว่า ต่างจากปีที่แล้วที่ผู้มีความคิดเห็นเช่นนี้ มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 54 แอนโธนี เคาส์ ซีอีโอ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอลกล่าวว่า “เราสังเกตพบว่า ผู้คนต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมโดยตรงกับเพื่อร่วมงานและบรรยากาศการทำงานที่เป็นกิจลักษณะมากกว่า โดยครึ่งหนึ่งของพนักงานบริษัทคิดถึงบรรยากาศการทำงานในออฟฟิศ รวมไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพรียบพร้อมสำหรับรองรับการทำงานได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ที่นั่งทำงานที่สะดวกสบายกว่า และพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกันเป็นทีม การปรึกษาพูดคุย และการประชุม” “เรายังพบด้วยว่า การทำงานที่บ้านในระยะยาวยังทำให้ผู้คนรู้สึกติดอยู่ในวันที่ยาวนานทั้งในเรื่องของการทำงาน การประชุมทางไกล โดยปราศจากเส้นแบ่งอย่างชัดเจนที่จะช่วยให้ตนสามารถปิดสวิทช์การทำงานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลลบต่อคนบางกลุ่มทั้งในแง่ของสังคมและจิตใจ” รายงานจากเจแอลแอลระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจมีความรู้สึกว่ามีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการทำงานมากเกินกว่าจะรับไหวและรู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ในขณะที่พนักงานที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ราวร้อยละ 60 รู้สึกว่าตัวเองมีเรื่องส่วนตัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบสูงและเริ่มรู้สึกท้อแท้กับการทำงาน เคาส์กล่าวว่า “บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับการมีพลานามัยและสุขภาวะที่ดีของพนักงานมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ จากการที่ 90% ของพนักงานต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้นในการมีสิทธิ์ที่จะเลือกสถานที่และเวลาสำหรับการทำงาน ผลการศึกษาของเราสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบัน ผู้คนให้ความสำคัญกับการมีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว ไม่น้อยไปกว่าเงินเดือน ซึ่งในประเด็นนี้ บริษัทต่างๆ ผู้เป็นนายจ้างต้องให้ความสำคัญ หากต้องการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้กับองค์กร” จากการสำรวจของเจแอลแอล พนักงานร้อยละ 92 ที่บอกว่าพอใจมากกับออฟฟิศของตน ยังบอกด้วยว่าคิดถึงการทำงานในออฟฟิศมาก อย่างไรก็ดี ระดับความพอใจที่มีต่อออฟฟิศกลับลดลง เนื่องจากพนักงานมีความคาดหวังที่สูงขึ้นมากกว่าเดิม ด้าน แคมยา มิกลานี ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยกลุ่มบริการด้านสถานประกอบการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า “นอกจากการมีสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว และประเด็นเรื่องเงินเดือน สถานการณ์โรคระบาดยังส่งผลให้คนทำงานต้องการพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและมีวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน” จากการสำรวจ พบว่า ขณะนี้ พนักงานให้ความสนใจแผนงานขององค์กร ในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลพนักงานมากขึ้น ทั้งด้านพลานามัยและสุขภาวะที่ดี การเรียนรู้และพัฒนา และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายและความเสมอภาค ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ในการตัดสินใจว่า จะเข้ามาร่วมงานหรืออยู่ร่วมงานต่อกับองค์กรนั้นๆ หรือไม่ “ในขณะที่เรากำลังพยามก้าวข้ามวิกฤติการณ์โรคระบาด บริษัทต่างๆ มีโอกาสที่จะปรับปรุงให้ออฟฟิศของตนให้สามารถรองรับความต้องการและสไตล์การทำงานที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปของพนักงาน” มิกลานี กล่าว ไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอลประเทศไทย กล่าวว่า “ออฟฟิศจะยังคงเป็นที่ต้องการของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ ในขณะที่บริษัทจากหลากหลายภาคธุรกิจกำลังเริ่มใช้กลยุทธ์ใหม่เกี่ยวกับสถานที่ทำงานสำหรับพนักงาน กรุงเทพฯ มีศักยภาพสูงที่จะเป็นเมืองระดับแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการสร้างวิถีใหม่ของการทำงาน ทั้งในฝั่งของบริษัทผู้เช่าใช้พื้นที่สำนักงาน และเจ้าของหรือผู้พัฒนาอาคาร” “การที่จะมีอาคารสำนักงานคุณภาพสูงใหม่ๆ สร้างเสร็จเพิ่มมากขึ้นและมีอาคารเก่าหลายอาคารที่จะได้รับการปรับปรุงให้สอดรับกับความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นของผู้เช่า กำลังทำให้บริษัทต่างๆ มีโอกาสความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะสรรสร้างสถานที่ทำงานที่ดีกว่าเดิมและวิถีใหม่ของการทำงานให้กับพนักงานของตน” อ่านเพิ่มเติม: Power Skills: ทักษะที่สร้าง(และเห็นผลลัพธ์) ได้จริงหรือ?
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine