เคซีจี คอร์ปอเรชั่น เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เตรียมความพร้อมเทรนด์อาหารโลก - Forbes Thailand

เคซีจี คอร์ปอเรชั่น เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เตรียมความพร้อมเทรนด์อาหารโลก

3 ผู้บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ KCG เผยผลการดำเนินธุรกิจในช่วง 2 ปีระหว่างเกิดโควิด โชว์แกร่งพอร์ตธุรกิจ พร้อมเดินหน้าทรานส์ฟอร์มกิจการ ผสานการทำงานผู้บริหารมืออาชีพและประสบการณ์อันเชี่ยวชาญของกลุ่มครอบครัว ลงทุนซื้อกิจการด้านเนื้อสัตว์และซีฟู้ดสร้างความหลากหลายธุรกิจ

ตง ธีระนุสรณ์กิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ KCG ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ อิมพีเรียล, อลาวรี่ และสินค้ากว่า 40 แบรนด์ที่คัดสรรจากทั่วโลก เผยถึงธุรกิจของเคซีจีในห้วงเวลาของโควิด-19 ไว้ว่า ไม่ว่าธุรกิจอะไรต่างก็ได้รับผลกระทบกับสถานการณ์โควิด-19 เคซีจี อยู่ในธุรกิจอาหารระดับกลางถึงบนจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้เองและนำเข้า โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้เองมีการเติบโต ส่วนธุรกิจที่นำเข้าเติบโตเพียงระดับหนึ่ง เนื่องจากซัพพลายเชนขาดตอนในช่วงสถานการณ์โควิดที่เข้ามากระทบ สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังเติบโตด้านยอดขายไม่ว่าจะเป็นเนย คุ้กกี้ วัสดุผลิตเบเกอรี่ ซึ่งเคซีจีเป็นผู้นำด้านวัตถุดิบหลักในด้านนี้ นอกจากนี้วัตถุดิบข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นแป้งสาลี ช็อกโกแลต ใส้แยม ใส้คาสตาร์ต หรือยีสเพื่อทำขนมปังยอดขายยังเติบโตได้ดี สำหรับในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เทรนด์ด้านการบริโภคที่เกิดขึ้นคือคุณค่าของอาหารที่ได้บริโภคเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังได้ตอบโจทย์ผู้บริโภค เนื่องจากเคซีจีได้ศึกษาในเรื่องของเทรนด์ที่ผู้บริโภคต้องการมาโดยตลอด “บริโภคแล้วต้องเป็นประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหารและโภชนาการ” ตง กล่าวย้ำและเสริมว่า ที่ผ่านมาเคซีจีออกผลิตภัณฑ์ที่ลดความหวาน ความมัน ความเค็ม ซึ่งเทรนด์เหล่านี้ผู้บริโภคคุ้นเคยกันแล้ว แต่สิ่งที่อนาคตผู้บริโภคมองหาคืออาหารที่มาจากพืชธรรมชาติที่เรียกว่า Plant Base ที่มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์, อาหารที่ส่วนผสมของกัญชง, อาหารที่ทานเข้าไปแล้วไม่สะสมไขมันที่เรียกว่า Medium-chain triglyceride โดยอาหารทั้ง 3 ประเภทนี้เราได้นำเข้ามาและเปิดตัวในงาน จาก ‘THAIFEX-ANUGA ASIA 2022’ ที่ผ่านมาและได้รับรางวัลด้านผลิตภัณฑ์ innovative product ประกอบไปด้วยเนยผสมน้ำมันกัญชง, Plant Base และ ผลิตภัณฑ์ KETO “ผลิตภัณฑ์อินโนเวชั่นของเรามีการพัตนาอย่างต่อเนื่อง เรามีศูนย์ KCG Excellence เป็นศูนย์พัฒนาและค้นคว้าทางด้านนวัตกรรม และเรายังมองไปในอนาคตโดยเรารุกเข้าสู่กลุ่มอาหารเนื้อสัตว์และอาหารทะเล อย่างล็อบสเตอร์เป็นๆ เป็นต้น โดยเราเข้าไปเทคโอเวอร์ อินโดกูนา (ประเทศไทย) บริษัทแห่งนี้ แม้ไม่ใช่บริษัทใหญ่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้เราเริ่มขยับขยายหมวดการเติบโตด้านอาหาร” ตง กล่าวเสริมถึงการบริหารจัดการภายในบริษัทด้วยว่า “บริษัทเราเริ่มต้นมาจากครอบครัว และเดินหน้าธุรกิจครอบครัวโดยนำมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาบริหารมีซีอีโออย่าง ดร.วาทิต ที่เข้ามาทำงานเป็นเวลา 3 ปี รวมไปถึงตำแหน่งระดับบริหารอื่นๆ ทำให้ เคซีจีมีการบริหารที่ผสมผสานจากกลุ่มผู้บริหารมืออาชีพและกลุ่มผู้บริหารของครอบครัวรวมถึงทายาทธุรกิจที่เตรียมเข้ามาบริหารงานตอนนี้บริษัทของเราอยู่ในช่วงทรานส์ฟอร์มองค์กรและกำลังเดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กรในไม่ช้า” จากซ้าย: วาทิต ตมะวิโมกษ์, ตง ธีระนุสรณ์กิจ และ ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ทีผู้บริหารเคซีจี ด้าน วาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่นฯ ให้ข้อมูลว่าเคซีจีอยู่ในธุรกิจอาหารปีนี้เป็นปีที่ 64 เริ่มจากธุรกิจครอบครัว ปัจจุบันธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัวเป็นการบริหารจัดการแบบสากล “ธุรกิจของเราไม่เหมือนใครเราผสมผสมความน่ารักของธุรกิจครอบครัวและเอาส่วนประกอบของการบริหารจัดการแบบสากลมาผสมผสานนำทฤษฎีเข้ามาแล้วนำมาปรับใช้” วาทิต เผยภาพรวมธุรกิจของเคซีจีซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผลิตและจัดจำหน่ายด้วยตราสินค้าของบริษัทโดยมีแบรนด์หลักอยู่ 2 แบรนด์คือ อิมพีเรียลและอลาวรี่ และยังมีแบรนด์แกร่งอื่นๆ อีกมากมาย โดยธุรกิจกลุ่มนี้ทำรายได้ให้ธุรกิจของเราสัดส่วนร้อยละ 70 จากโรงงานการผลิต 3 แห่งที่มี ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่าย Corporate Brands เคซีจี ดูแลโรงงานอยู่ อีกส่วนหนึ่งของกลุ่มเทรดดิ้งหรือการซื้อมาขายไปตามที่เคซีจีได้นำเข้าวัตถุดิบจากทั่วโลกจากการสรรหาแบรนด์คุณภาพเข้ามาจัดจำหน่ายและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ติดป้ายบนสินค้านำเข้า “selected by KCG” ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สำหรับที่ผลิตภัณฑ์ที่เคซีจีจัดจำหน่ายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผลิตภัณฑ์ บิสกิต, แครกเกอร์, เวเฟอร์ และกำลังพัฒนากลุ่มที่เป็นขนมคบเคี้ยวในอนาคต กลุ่มที่สองคือกลุ่ม Dairy Product กลุ่มเนยและชีสซึ่งเป็นความถนัดหลักของ KCG และกลุ่มที่สามคือ กลุ่มวัตดุดิบไม่ว่าจะนำเข้าหรือผลิตได้เอง “เราเป็นบริษัทวัตดุดิบอาหารให้กับหลายๆ บริษัทในประเทศไทย อาทิ ธุรกิจผลิตเบเกอรี่สำเร็จรูป ธุรกิจที่เป็น food service, Horeca ร้านอาหารที่ผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป” วาทิต กล่าว ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายหน่ายเคซีจีแบ่งเป็น 2 ช่องทาง คือ B2B กับ B2C โดย B2B แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้าโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตอาหารและโรงงานผลิตเบเกอรี่ อีกกลุ่มคือ Food Service อันได้แก่ โรงแรม ร้านอาหาร ด้าน B2C จะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านที่เป็นขายส่งและขายปลีกที่อยู่ทั่วประเทศ หลังจากสถานการณ์โควิดบริษัทได้พัฒนาการขายตรงผ่านการขายจากช่องทางออนไลน์ซึ่งสิ่งที่ทำให้การขายออนไลน์ของบริษัทแตกต่างจากบริษัทอื่นการจัดส่งเพราะบริษัทสามารถจัดส่งสินค้าได้แบบปกติและการจัดส่งแบบควบคุมอุณหภูมิซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของธุรกิจ

ปรับกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน

วาทิต กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นโยบายการบริหารของเคซีจี กำลังเดินหน้านโยบายการบริหารเชิงกลยุทธ์ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน “เราบริหารเชิงกลยุทธ์เพราะสร้างความยั่งยืนเชิงธุรกิจและตอบความต้องการผู้บริโภคแต่ในขณะเดียวกันเราต้องคำนึงถึง 3 มิติคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นี่คือนโยบายในการเดินไปข้างหน้า เราจะมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในแต่ละกลยุทธ์เราจะบาลานซ์ตอบโจทย์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของบริษัทที่เป็นอินโนเวทีฟมาจากกลยุทธ์ สร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจของเราเพื่อจะเดินไปข้างหน้าโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคและมองเทรนด์ของอาหารในอนาคตคือพฤติกรรมที่ต้องตอบโจทย์ความสะดวกสบาย ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพ อาทิโปรตีนทางเลือกจากผลิตภัณฑ์ Plant Base, ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์จาก Omega 3, 6, 9 จากน้ำมันกัญชงซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ อย. สิ่งที่เคซีจีกำลังทำต่อไปในเรื่องกลยุทธ์คือพัฒนาอาหารที่ผู้คนต้องการ โดยประชากรทั่วโลกและไทยกำลังย่างเข้าสู่ Aging Society ที่เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ ดังนั้นอาหารที่เราจะทำต้องมีส่วนช่วยเสริมคุณภาพของผู้สูงอายุ “เรากำลังเตรียมการโปรโมตให้คุณค่าทานอาหารเป็นยาจะได้ไม่ต้องไปทานยาเป็นอาหาร โดยอาหารของเราจะทำหน้าเป็นยาและนี้คือไกด์ไลน์ที่เราให้โจทย์กับแผนกที่ผลิตสินค้าใหม่ๆ และจะค่อยๆ ทยอยสินค้าออกมาในอนาคต” วาทิต กล่าวเสริมด้วยว่า “เรามีนักบริหารมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพร่วมกับครอบครัวของผู้ก่อตั้งที่สร้างธุรกิจมากับมือ เราเอารวมกัน มันเป็นการบริหารจัดการที่สนุกมากหาไม่ได้ ผมเป็นมืออาชีพไปอยู่ในธุรกิจที่มีแต่มืออาชีพมันก็ไม่สนุก ทำให้เป็นคำตอบที่ว่าทำไม 4-5 ปีที่ผ่านมาเราถึงโตอย่างต่อเนื่อง”

ขยายพอร์ตสู่ธุรกิจอาหาร

ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่าย Corporate Brands เคซีจี คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยอีกว่าในช่วงโควิด KCG ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 ล้านบาท ในการสร้างมาตรฐานการป้องกันการแพร่กระจายของโควิดกับพนักงานในเครือเพื่อให้การดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เราสร้างที่พักให้พนักงานอยู่ภายในโรงงานราว 3 เดือน สำหรับยอดขายของกลุ่มผลิตจากเนยและชีสในช่วงโควิด-19 มาจากยอดขายของกลุ่ม B2B และ B2C มีอัตราการเติบโตของยอดขายมากกว่าปกติ ขณะที่ส่วนกลุ่ม Food Service ลดลงเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้สัดส่วนการขายโดยภาพรวมยังไม่คงตกลงมากนัก “เมื่อเทียบยอดขายจากปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนการเกิดโควิด-19 ยอดขายรวมปี 2563 ตกลง 13% ขณะที่ปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562 เราตกเพียง 3% ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2564 ยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 7%” ดำรงชัยกล่าว วาทิตกล่าวเสริมด้วยว่ายอดขายปี 2562 รายได้รวมของเคซีจี อยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท เป็นปีที่บริษัททำยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยปี 2563 กลุ่มธุรกิจของเราที่กระทบมากๆ คือ กลุ่ม B2B เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดพฤติกรรมการซื้อของกลับบ้านทำให้กลุ่มธุรกิจ B2C ทำยอดขายเติบโตขึ้นมาทดแทน จากพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เป็นวัตดุดิบ โดยเฉพาะวัตถุดิบเบเกอรี่ โดยปี 2565 เราตั้งเป้ายอดขายที่ราว 6.1 พันล้านบาท สำหรับการซื้อธุรกิจ อินโดกูนา (ประเทศไทย) นั้น วาทิต เสริมว่า “คุณตงเคยพูดกับเราอยู่เรื่อยๆ อะไรที่อยู่บนโต๊ะอาหาร เราจะค่อยๆ นำสู่ผู้บริโภค ในขณะนี้เราไม่มีเนื้อและซีฟู้ด เราเลยมองหาองค์กรที่ถนัดนี้และไปเจอองค์กรนี้และเป็นช่วงที่บริษัทอยากจะเปลี่ยนมือซึ่งเป็นการซื้อ 100% มีผลการซื้อขายกิจการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ทำให้เราเขาไปสู่ธุรกิจเนื้อและซีฟู้ด และจะกลุ่มธุรกิจขาที่ 4 ของบริษัท” วาทิต กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “การทำธุรกิจต้องพึ่งธุรกิจหลายๆ ช่องทางการขาย แต่โชคดีที่เราเป็นผู้ผลิตสินค้าเอง เราสามารถควบคุมการบริหารจัดการสต็อกและวัตถุดิบ เราจึงไม่เกิดผลกระทบเมื่อขาด supply chain จากต่างประเทศที่ไม่ตรงเวลา ขณะที่ธุรกิจเรามีกลุ่มลูกค้าทั้ง B2C และ B2B ที่มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร อุตสาหกรรมเบเกอรี่ อุตสาหกรรมทะเล เพราะตั้งแต่อดีตเรามองไกลว่าเราจะต้องไม่ไปอิงกับลูกค้าช่องทางเดียวเพื่อป้องกันความเสี่ยง นี่คือสิ่งที่เคซีจีได้เรียนรู้จากวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในหลายๆ เหตุการณ์ ส่วนวิกฤตโควิด-19 เราถือว่าเรารับมือได้อยู่” อ่านเพิ่มเติม: 50 Best Restaurants สุดยอดร้านอาหารประจำปี 2022

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine