อาหารค่ำตามสั่ง - Forbes Thailand

อาหารค่ำตามสั่ง

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Jun 2015 | 05:38 PM
READ 6297
เรื่อง: ellen huet เรียบเรียง: วิริยา สังขนิยม

งานของ Munchery บริษัทสตาร์ตอัพที่ทำกิจการอาหารปรุงสำเร็จส่งถึงบ้าน เริ่มต้นเวลาตี 5 ทุกวันทำงาน ซึ่งเป็นเวลาที่เชฟกะแรกเริ่มสับมะเขือเทศและเคี่ยวหมูในครัวของบริษัทฯ ที่ย่าน Outer Mission ใน San Francisco พอนาฬิกาบอกเวลาบ่ายโมง ความวุ่นวายก็ย้ายไปที่สายบรรจุ คนงานเรียงแถวกันนำคูสคูส ขาไก่ และผักบรรจุลงถาด จากนั้นอาหารที่จัดใส่ถาดเรียบร้อยจะถูกส่งไปยังห้องเย็นขนาดมหึมา

ทีมปฏิบัติการในชุดผ้าฟลีซพร้อมหมวกกันหนาวจัดอาหารใส่ถุงตามออร์เดอร์ ส่งให้พนักงานจัดส่งที่พอได้รับถุงก็รีบวิ่งไปขึ้นรถทันที 4 โมงเย็นรถบรรทุกอาหารแช่เย็นเดินทางถึงลานจอดรถใน Rockridge, Burlingame และเมืองอื่นๆ รอบ San Francisco ที่นั่น

พนักงานจัดส่งอีกกลุ่มรอรับอาหารที่ใส่มาในกระเป๋าไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ไปส่งตามบ้านโดยมีแอพฯ ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษเป็นเครื่องนำทาง Tri Tran ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Munchery บอกว่า “ไม่มีการพูดอะไรกันมาก เหมือนส่งยายังไงยังงั้น” Tran คุณพ่อลูกสองกับ Conrad Chu ร่วมกันตั้งบริษัท Munchery เมื่อปี 2010 โดยต่างคนต่างหวังจะหาคำตอบของคำถามยอดฮิตที่ว่า “เย็นนี้มีอะไรกิน” ให้ครอบครัวตัวเอง
 
ในสมรภูมิธุรกิจเทคโนโลยีด้านอาหาร Munchery จัดว่าเป็นบริษัทสตาร์ตอัพที่ทุนหนาที่สุดบริษัทหนึ่งและอยู่มานานที่สุดแต่ถ้าไปขวางทางคู่แข่งอย่าง Sprig, Spoon-Rocket และ Blue Apron เข้าวันใดก็มีสิทธิ์ถูกเขมือบได้เหมือนกัน

Tran วัย 39 สวมเชิร์ตเรียบๆ ธรรมดาสวมแว่นรูปไข่เลนส์เปลี่ยนสีได้อัตโนมัติดูต่างกับผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพหน้าใหม่ส่วนใหญ่ และเขาก็รู้จักใช้ภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครให้เป็นประโยชน์เสียด้วย เดือนเมษายนปีที่แล้ว Munchery ระดมทุน 28 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแทนที่จะเอาบริษัทฯ เป็นจุดขายเหมือนสตาร์ตอัพทั่วไป Tran กลับเล่าเรื่องราววัยเด็กของตัวเองให้นักลงทุนฟัง เด็กชาย Tri Tran วัย 11 ขวบ หนีออกจากเวียดนามโดยทางเรือพร้อมย่าและพี่ชายตั้งแต่อายุ 11 ไปอาศัยป้าและลุงอยู่ที่ San Jose โดยไม่ได้พบหน้าพ่อแม่อีกเลยจนกระทั่ง เรียนจบจาก MIT เขาบอกผู้สนใจจะลงทุนว่า เพราะผ่านชีวิตมาอย่างนี้ พอมาตั้งบริษัทเองจึงไม่รู้สึกว่ายากเท่าใดนัก (ส่วน Conrad Chu โตที่สหรัฐฯ)

Shervin Pishevar ผู้บริหารบริษัทร่วมลงทุนที่ควักเงินให้ Uber ตั้งแต่สมัยเป็นบริการรถเช่าพร้อมคนขับที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ก็เชื่อมั่นใน Munchery และ Tran ถึงขั้นนำเงินจากกองทุนใหม่ของเขา คือ Sherpa Ventures มาร่วมลงทุนถึง 25 ล้านเหรียญนับเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ที่สุดของ Sherpa ในขณะนี้ Pishevar บอกว่า Travis Kalanick, CEO ของ Uber เป็นผู้นำที่ “ไม่มีคำว่าระย่อ” ส่วน Tran นั้นมีเสน่ห์ที่ “ความเป็นผู้นำแบบเงียบๆ” “เวลาเขาเข้าประชุม จะไม่รู้หรอกว่าเขาเป็น CEO” สักวัน Munchery อาจไปถึงจุดนั้น แต่ช่วงแรกบริษัทฯ ไม่มีแววจะรุ่งอย่างนี้
 
เมื่อเปิดตัวครั้งแรก เชฟแต่ละคนขายอาหารที่ปรุงในครัวตัวเองผ่านเว็บไซต์ของ Munchery โดย Tran ต้องขอร้องเชฟที่มีงานทำอยู่แล้วให้ทำอาหารเพิ่ม แต่ละวัน Munchery ขาย อาหารได้ 50-100 ชุด โดยตอนนั้นราคาอยู่ที่ชุดละ 25 เหรียญ Tran เป็นคนส่งเอง เพราะอยากรู้ว่าลูกค้าใจป้ำที่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อบริการนี้คือใคร (เขาพบว่ามีนักลงทุนมาเป็นลูกค้าเพราะอยากรู้อยากลองอยู่ไม่น้อย และบางคนก็ช่วยลงขันในเวลาต่อมา)

พอบริษัทฯ เริ่มโต โมเดลหุ้นส่วน-เชฟก็กลายเป็นอุปสรรคทำให้ขยายตัวไม่ได้มากเท่าที่ควร Diane Davidson เคยเป็นเชฟอิสระ ทำอาหารตามสั่งผ่านเว็บไซต์ Munchery เกือบตลอดปี 2013 ก่อนจะหันมาเป็นเชฟส่วนตัวเพราะปริมาณการสั่งของ Munchery ทำให้เปลืองแรงงานมากเกินไป เธอเล่าว่า “ตอนฉันเริ่มทำอาหารให้เขาใหม่ๆ เขามีปัญหาตามประสาบริษัทกำลังโต มีออร์เดอร์เข้ามาเยอะแต่ไม่พร้อมรับ”

ปีที่แล้ว Munchery เริ่มจ้างเชฟประจำและย้ายกระบวนการทำงาน เช่น การจัดซื้อเตรียมวัตถุดิบ จัดอาหารต่างๆ ลงจานไปไว้ที่เดียวกัน ครัวกลางที่ San Francisco มีเชฟประจำ 7 คน ทำหน้าที่ปรุงอาหารที่มีผู้สั่งเข้ามาเกือบทั้งหมด Tran บอกว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นช่วยลดต้นทุนอาหารและช่วยให้เขาควบคุมคุณภาพและความหลากหลายของอาหารได้มากขึ้น บริษัทสตาร์ตอัพคู่แข่งที่รับส่งอาหารตามสั่งเหมือนกัน มีบริการต่างกันไปหลายรูปแบบ Sprig กับ SpoonRocket ตั้งเป้าว่าจะส่งอาหารปรุงร้อนๆ พร้อมรับประทานถึงมือลูกค้าภายใน 20 นาที ส่วน Blue Apron กับ Plated เป็นระบบสมัครสมาชิก โดยบริษัทฯ จัดส่งเครื่องปรุงปริมาณเพียงพอจะทำได้หลายมื้อไปให้ถึงบ้านก่อนเวลาเข้าครัวจริง แต่ลูกค้าต้องปรุงเอง


Munchery เลือกเดินทางสายกลาง โดยส่งอาหารปรุงสุกบรรจุถาดแช่เย็นให้ถึงบ้านหรือที่ทำงานในช่วงเวลาอาหารเย็น ลูกค้าเพียงนำมาอุ่นก็รับประทานได้เลย โดยปกติลูกค้าต้องสั่งอาหารภายในบ่าย 3 โมงจึงจะได้รับอาหารทันมื้อเย็นวันเดียวกัน แต่บริการส่งทันทีที่สั่งก็กำลังโตเร็วใน San Francisco และ Seattle การส่งอาหารแช่เย็นให้ลูกค้าอุ่นรับประทานทำให้งานด้านโลจิสติกส์ของบริษัทฯ ง่ายขึ้นทุกขั้นตอน อาหารก็คงสภาพดีกว่าทั้งเนื้อสัมผัสและคุณภาพ นอกจากนี้อาหารแช่เย็นยังได้รับยกเว้นภาษีการค้าในรัฐ California จึงประหยัดไปได้ถึง 9%

เมื่อเราถามว่าธุรกิจนี้มีมูลค่าเท่าไหร่ Tran ผู้แสนสุภาพยิ้มแทนคำตอบ (Forbes ประเมินว่า Munchery มีมูลค่า 180 ล้านเหรียญ) เขาบอกว่าเสียใจที่หลุดปากบอกนักข่าวว่าเขามียอดจัดส่งอาหาร 1,500 ครั้งต่อวัน เพราะคู่แข่งมองว่าสถิตินั้นคือ “เป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง” ตอนนี้ยอดจัดส่งมีแนวโน้มสูงขึ้น “มากๆ” Tran จึงสามารถลดราคาอาหารจานหลักจากเดิมเฉลี่ยจานละ 12 เหรียญเป็น 10 เหรียญ เมื่อถามเรื่องบริหารต้นทุนแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับเว็บไซต์การค้าหลายแห่งที่ใช้คนงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าแรงต่ำ และไม่มีประกันสุขภาพ

เวลานี้ประเด็นเดียวที่คนพูดถึง Munchery คือการขยายตัวทางธุรกิจ บริษัทเริ่มให้บริการใน Seattle ตามด้วย New York City, Los Angeles และ Washington D.C. Pishevar บอกว่าครัวใหม่ที่จะสร้างในย่าน San Francisco ทางใต้ สามารถทำอาหารตามสั่งได้ถึงวันละ 25,000 ออร์เดอร์ เทียบกับปัจจุบันที่รับได้ไม่เกิน 8,000 ออร์เดอร์ต่อวัน คู่แข่งทุนหนาอาจวิ่งตามมาติดๆ แต่ Tran ดูจะไม่ยี่หระ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ส่งอาหารปรุงสุกร้อนๆ ที่เขามีคำถามว่า “มันอยู่ในรถนานแค่ไหนแล้ว?” หรือเจ้าหน้าที่ส่งเครื่องปรุงให้ลูกค้าปรุงเอง “อาหาร 3 มื้อก็ 20 ปอนด์แล้ว ไหนจะบรรจุภัณฑ์อีกเยอะแยะ” เขามองว่าการจัดส่งอาหารเย็นจะใช้วิธีใดก็สู้แช่เย็นก่อนเสิร์ฟไม่ได้แน่นอน
คลิ๊กอ่านบทความเพื่อสร้างความแตกต่างทางธุรกิจได้ที่ Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine