"สิงคโปร์" รั้งประเทศที่เป็นมิตรกับการทำธุรกิจที่สุดในโลก - Forbes Thailand

"สิงคโปร์" รั้งประเทศที่เป็นมิตรกับการทำธุรกิจที่สุดในโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Oct 2014 | 02:51 PM
READ 3616

แถลงรายงานวิจัย Doing Business 2015 ผ่าน video conference จากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขาทั่วโลก



World Bank เผยรายงานจัดอันดับประเทศยาก-ง่ายในการทำธุรกิจในปีหน้า (Doing Business 2015: Going Beyond Efficiency)  ไทยติดอันดับ 26 จาก 189 ทั่วโลก และรั้งอันดับ 3 ของอาเซียน  แต่ยังมีอุปสรรคหนักในด้านสินเชื่อ-ภาษี-ขั้นตอนขอเปิดกิจการ


 

รายงาน Doing Business 2015 ประจำปีนี้ (เผยแพร่ล่วงหน้า 1 ปี) ได้ปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีวิจัยและขอบเขตการเก็บข้อมูลใหม่ เพื่อให้สะท้อนความพยายามในการปฏิรูปปัญหาอุปสรรคที่กีดขวางการทำธุรกิจของแต่ละประเทศให้ชัดเจนยิ่งกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดที่ใช้ มิได้ครอบคลุมปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจทุกด้าน อาทิ เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค การคอร์รัปชั่น แรงงานที่มีทักษะ การกำกับควบคุมกิจการของต่างชาติ หรือระบบการเงินของแต่ละประเทศ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ประเทศที่มีระดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจมากที่สุดของโลกคือ สิงคโปร์ (88.27)  รองลงมาคือ นิวซีแลนด์ (86.91), ฮ่องกง (84.97), เดนมาร์ค (84.20), สาธารณรัฐเกาหลี (83.40), นอร์เวย์ (82.40), สหรัฐอเมริกา (81.98), สหราชอาณาจักร (80.96), ฟินแลนด์ (80.83) และออสเตรเลีย (80.66) ตามลำดับ

 

ในขณะที่ ไทยอยู่ใน 30 อันดับแรกจากทั่วโลก โดยได้อันดับ 26 (75.27)  หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยรั้งตำแหน่งที่ 3 เป็นรอง สิงคโปร์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 ของโลก และ มาเลเซีย อันดับ 18 (78.83)  และยังเห็นได้ว่าอันดับของไทยยังสูงกว่าประเทศใหญ่อย่างญี่ปุ่น อันดับ 29 (74.80) และ ฝรั่งเศส อันดับ 31 (73.88)


อันดับของประเทศไทยใน 189 ประเทศ

 

วิธีการจัดอันดับในปีนี้ เปลี่ยนจากการเรียงลำดับผลการประเมินในตัวชี้วัด 10 ด้านของแต่ละประเทศ มาเป็นวิธีการวัดที่เรียกว่า Distance to frontier (DTF)  ซึ่งจะพิจารณาระยะห่างของประสิทธิภาพของตัวชี้วัดแต่ละด้านในแต่ละประเทศ กับประเทศที่ดำเนินการดีที่สุด (Best Practices)  คะแนนยิ่งสูงยิ่งแสดงประสิทธิภาพของปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ และความเข้มแข็งของกฎระเบียบในประเทศนั้น

 

ตัวชี้วัดทั้ง 10 ด้าน ได้แก่ ความสะดวกในการเริ่มธุรกิจ, การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การลงทะเบียนทรัพย์สิน, โอกาสได้รับสินเชื่อ, การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย, การจ่ายภาษี, การค้าขายระหว่างประเทศ, กลไกบังคับใช้สัญญา และการจัดการกับปัญหาล้มละลาย

 

หากนำวิธีการคำนวนคะแนน DTF ไปวัดผลประเทศไทยปีที่ผ่านมา (Doing Business 2014) จะได้ 74.87  ขณะที่ในปีนี้ได้ 75.27  และถ้าพิจารณาเป็นอันดับ จะเลื่อนจากอันดับ 28 มาเป็นอันดับ 26 ในปีนี้

 

จากตัวชี้วัดทั้ง 10 ของ ประเทศไทย มีถึง 5 ด้านที่ติดอันดับ 30 ประเทศของโลก ได้แก่ การขออนุญาตก่อสร้าง (ลำดับ 6), การขอใช้ไฟฟ้า (ลำดับ 12), การคุ้มครองนักลงทุนรายย่อย (ลำดับ 25), กลไกบังคับใช้สัญญา (ลำดับ 25) และการลงทะเบียนทรัพย์สิน (ลำดับ 28)  ในขณะที่ตัวชี้วัดด้านที่แย่ที่สุดสามด้าน คือ การจ่ายภาษี (อันดับ 62), ความสะดวกในการเริ่มธุรกิจ (อันดับ 75) และโอกาสได้รับสินเชื่อ (ลำดับ 89)



ตารางบน - แสดงอันดับตัวชี้วัดทั้ง 10 ของไทย  ตารางล่าง - แสดงคะแนน DTF ตัวชี้วัดทั้ง 10 ของไทย

 

Constantine Chikosi, Portfolio and Operations Manager, World Bank ประจำประเทศไทย กล่าวถึงตัวชี้วัดที่อยู่ในลำดับต่ำของไทยว่า ควรต้องเร่งแก้ไขเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน เพราะโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในประเทศไทยยังต่ำ อยู่แค่อันดับ 89 แสดงว่ามีอีก 100 ประเทศที่ได้เปรียบเรื่องนี้ เหตุเพราะว่ายังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการลงทะเบียนสินเชื่อ เพื่อให้เกิดการประเมินเครดิตได้ 

 

ในส่วนการเริ่มต้นธุรกิจ ประเทศที่เป็นอันดับ 1 คือนิวซีแลนด์ สามารถจดทะเบียนการค้าทางออนไลน์ภายในเวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น เสียเวลาเพียงวันเดียวก็เริ่มต้นธุรกิจได้เลย แต่ของไทยใช้เวลาเฉลี่ย 27.5 วัน และที่สำคัญคือการจ่ายภาษี มีบางบริษัทต้องจ่ายภาษีปีละ 22 รายการ ต้องใช้เวลากรอกและเตรียมเอกสารทั้งหมดรวม 264 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ใช้เวลามาก และยังมีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

 

ด้านวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสริมว่า ผลการจัดอันดับในครั้งนี้ช่วยยืนยันได้ว่าหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญในการพัฒนางานบริการอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในด้านการขออนุญาตก่อสร้าง ซึ่งได้คะแนน DTF น้อยสุด ก็เพราะทางกรุงเทพมหานครได้มอบอำนาจให้สำนักงานเขตเป็นผู้อนุญาตก่อสร้างตึกสูงไม่เกินแปดชั้น ซึ่งแต่เดิมให้อำนาจเพียงตึกสี่ชั้น

 

“การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดอันดับมาเป็น DTF โดยนำไปเทียบกับประเทศที่เป็น best practices จะช่วยให้ภาครัฐสามารถพัฒนาการบริการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยนำประเทศที่ได้คะแนนระดับโลกมาเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนา” ที่ปรึกษา ก.พ.ร.กล่าว




ประเทศที่เป็น best pratice ในด้านต่างๆ ในระดับโลก และระดับเอเชียแปซิฟิค




อ่านเพิ่มเติม: Doing Business 2015