สยาม รามสูต สยายปีกธุรกิจคลอบคลุม CLMV - Forbes Thailand

สยาม รามสูต สยายปีกธุรกิจคลอบคลุม CLMV

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: จันท์กลาง กันทอง (คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "สยาม รามสูต สยายปีกธุรกิจคลอบคลุม CLMV" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ July 2015)

เรื่องราวแห่งสองสามีภรรยา “รามสูต” ที่จูงมือฝ่าวิกฤตบนเส้นทางเจ้าของกิจการมาด้วยกันเริ่มต้นขึ้นจากการที่ฝ่ายหญิงตัดสินใจชวนแฟนหนุ่มให้มาใช้ชีวิตร่วมกันพร้อมกับเดินออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือน แม้ไร้ทุนรอน ทั้งสองจึงต้องขวนขวายด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากอาชีพขายผลไม้เพื่อหาเงินมาแต่งงาน “นั่นเป็นงานที่เหนื่อยที่สุดในชีวิต ทุกวันนี้เวลาที่ผมซื้อผลไม้จึงไม่เคยต่อราคา เพราะเรายังคิดถึงประสบการณ์เก่าๆ อยู่” จากคำบอกเล่าของ สยาม รามสูต ประธาน บริษัท สยาม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชายวัย 49 ปีผู้ได้รับฉายาว่าวีรบุรุษเออีซี
 
ย้อนไปเกือบ 20 ปีก่อน จากการร่วมลงทุนกับเพื่อนของพ่อใน บริษัท รามสูตก่อสร้าง จำกัด สร้างโครงการหมู่บ้านจัดสรร ต่อยอดและขยายโครงการ สร้างทั้ง โครงการบ้านเดียว อาคารพาณิชย์ และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในจังหวัดตราด สร้างกำไรและเป็นต้นทุนสำคัญในการลงทุนสู่ธุรกิจต่างๆ ในเวลาต่อมา

ทั้งธุรกิจค้าเพชรและทอง และการค้าขายข้าวสารส่งขายไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชาจากสายสัมพันธ์กับผู้มั่งคั่งและข้าราชการระดับสูงจากเขมร จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสู่ธุรกิจค้าส่งและกลายเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายในช่วงต่อมาว่า เมื่อได้พูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าเช่น บริษัท โอสถสภา จำกัด จนเป็นที่คุ้ยเคยกันและร่วมทำการค้าส่งไปยังเมืองชายแดนได้ราว 2 ปี ทางคู่ค้าจึงหยิบยื่นโอกาสให้ไปเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าและทำตลาดทั่วประเทศกัมพูชา
 
จุดเปลี่ยนที่สร้างประกายธุรกิจเทรดดิ้ง ในระยะเริ่มต้นเป็นไปอย่างยากลำบาก กับธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าในโอสถสภาในกรุง Phnom Penh ภายใต้ชื่อ บริษัท สยาม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด การเริ่มต้นเป็นไปอย่างลำบาก เพราะอ่อนประสบการณ์และไม่เข้าใจภาษาเขมร ที่สำคัญคือคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักสินค้าไทย เหมือนแถบเมืองชายแดน จึงขายไม่ค่อยดีแต่ต้นทุนกลับสูงเพราะใช้เงินเหรียญสหรัฐในการทำธุรกิจ สุดท้ายแล้วนอกจากไม่สามารถทำกำไรยังมีหนี้สินเพิ่มมาอีก “ขาดทุนทุกเดือนรวมแล้วหลายแสนเหรียญ ภรรยาผมน้ำตาร่วง บอกว่าไม่ไหว แต่ผมยังคงไม่ถอย” และด้วยความมุ่งมั่นกว่า 2 ปี ธุรกิจจึงเริ่มดีขึ้นและมีการจำหน่ายสินค้าอื่นๆ ของกลุ่มโอสถสภาเพิ่มขึ้น ในขณะที่เครือข่ายร้านค้าของสยามเริ่มแข็งแกร่ง ก็เริ่มมีพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอื่นๆ เข้ามาขอให้เป็นตัวแทนจำหน่าย
 
แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในปี 2546 กรณีคำสัมภาษณ์ของดาราสาวชื่อดัง จนเกิดการจลาจลในกรุง Phnom Penh เมื่อวันที่ 29 มกราคม โดยสถานทูตไทยถูกเผาและมีการปล้นสะดมทรัพย์สินของธุรกิจไทยในกัมพูชา สถานที่จัดเก็บคลังสินค้าของ สยาม อินเตอร์ฯ ถูกเผาทำลาย เป็นชะตากรรมที่นักสู้ต้องล้มลงอีกครั้ง ความเสียหายโดยรวมราว 2 ล้านเหรียญ
 
“แค่ช่วงข้ามคืนธุรกิจเราเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ผมหมดตัวเลย มีแค่เสื้อผ้าที่ใส่และกระเป๋าสตางค์เท่านั้น” สยาม เล่าเรื่องราวยามวิกฤติให้ฟัง
 
หลังเหตุการณ์คลี่คลายลง สยามตัดสินใจกลับไปสู้และสร้างตัวขึ้นใหม่ด้วยเงินทุนจากธุรกิจอื่นๆ อีกครั้งในการทำธุรกิจจัดจำหน่ายที่กัมพูชา และยังต่อยอดธุรกิจไปสู่ สปป.ลาว และหลังจากที่ธุรกิจในกัมพูชาและลาวเริ่มไปได้ดี เขาจึงหันมาลงทุนเปิดคลินิกสุขภาพและความงามใน Vientiane จนมีการขยายสาขาเพิ่มจนถึงขณะนี้
 
จากธุรกิจหลากหลายในมือของสยามที่หลากหลาย เขาเตรียมแผนการใหญ่ในปีนี้ ลงทุนในโครงการธุรกิจ duty free สู่ สปป.ลาว  อีกหนึ่งโครงการลูกรักของสยาม คือธุรกิจเครือข่ายร้านกาแฟ Dao de Bolaven ที่บริหารกิจการโดยบริษัท ดาว เดอ บูเลเวน จำกัด ซึ่งร่วมมือกับ Dao Heuang Group ที่เข้ามาทำธุรกิจร้านกาแฟครบวงจรในเมืองไทย
 
สำหรับที่มาของชื่อร้านกาแฟนั้น สยามย้ำว่าต้องการเชื่อมโยงแหล่งเพาะปลูกกาแฟของ สปป.ลาว คือ ที่ราบสูง Bolaven (Bolaven Plateau) บนพื้นที่ภาคใต้ของ สปป.ลาว ปัจจุบันรายได้ของกลุ่มสยาม อินเตอร์ฯ มาจากทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจหลักคือ จัดจำหน่ายเครื่องใช้ฟ้า อุปกรณ์มือถือ สินค้าอุปโภคบริษัท ธุรกิจสุขภาพและความงาม และสถาบันการเงิน

สำหรับแผนการระยะยาว สยามจะนำบริษัทในเครือบางส่วนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยหรือสิงคโปร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ท้ายที่สุดแล้ว ทุกๆ แผนการจะเป็นไปดังที่วางไว้หรือไม่ หรืออาจมีเหตุให้ต้องสะดุดล้มลง แต่นักสู้ในสนามธุรกิจผู้นี้จะกลับมากอบกู้สถานการณ์และเดินหน้าต่อไปอย่างมุ่งมั่นเสมอ

คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "สยาม รามสูต สยายปีกธุรกิจคลอบคลุม CLMV" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ July 2015