รายงาน: ย้อนอดีต "อภิมหาดีล" ของ CP - Forbes Thailand

รายงาน: ย้อนอดีต "อภิมหาดีล" ของ CP

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Jan 2015 | 10:39 AM
READ 6982
ตลอดเดือนที่ผ่านมา ข่าวสารที่คนในแวดวงธุรกิจใส่ใจติดตาม หนีไม่พ้น "ดีล" ทางธุรกิจของมหาเศรษฐีประเทศไทย "ธนินท์ เจียรวนนท์ " หรือ "เจ้าสัวซีพี"

 
ดีลแรกเป็นข่าวกันมานานแล้ว ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ (L&H Bank)
 
ดีลล่าสุด สำนักข่าวระดับโลกรายงานว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์เตรียมซื้อกิจการ Tesco Lotus จากบริษัทแม่ Tesco แห่งอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก
 
แต่ในบ่ายวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 เจ้าสัวธนินท์ปรากฎตัวปฎิเสธข่าวทั้งสองเรียบร้อย 
 
อีกเพียงเดือนเดียวก็จะจบศักราชแล้ว CP จะสร้าง Mega Deal แห่งปี ให้เป็นที่ฮือฮาได้หรือไม่ ยังไม่มีใครทราบ 
 
แต่ Forbes Thailand ขอย้อนกลับปีที่ผ่านมา ปีที่เครือเจริญโภคภัฑณ์สร้างอภิมหาดีล อันลือเลื่องทั้งนอกและในประเทศ เพื่อให้เห็นเหลี่ยมมุมทางความคิดของเจ้าสัว ในการสร้างอาณาจักรทางธุรกิจ ผ่านรายงานประกอบเรื่องปก ฉบับ JULY 2013: ธนินท์ เจียรวนนท์ "ตลาดโลกเป็นของ CP"

 


C.P.’s 2 Mega Deals in 2013

 
เจ้าสัวธนินท์สร้างความประหลาดใจไปทั่วภูมิภาค ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว [2012] และต้นปีนี้ [2013] ด้วยการเข้าซื้อกิจการ 2 แห่งด้วยวงเงินกว่า 4.7 แสนล้านบาท เขาเล่าให้ฟังถึงแนวคิด การซื้อ Ping An Insurance (Group) Co. และ บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน)

 
Ping An  
 
CP กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทประกันหมายเลข 2 ของจีน ในสัดส่วน 15.57% ด้วยวงเงินมหาศาลถึง 287,966 ล้านบาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา [2013] ธนินท์บอกว่า Ping An ไม่ใช่เพียงแค่บริษัทประกัน แต่เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินครบวงจรที่มีทั้งธนาคาร บริษัทลีสซิ่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนรวม ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจ CP ในจีนและทั่วโลก
 
“เราเข้าไป เราจะได้ข้อมูล ทุกด้าน สำคัญในยุคสมัยใหม่ ต้องการข้อมูล แพ้ หรือชนะ อยู่ที่ใครได้ข้อมูลที่ 100% ยิ่งได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เวลาวางแผนตัดสินใจอะไร จะได้ชนะ” 
 
การก้าวเข้าสู่ธุรกิจประกันของ CP ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก  เพราะเมื่อปี 2543 ซี.พี.ได้เคยร่วมทุนในธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัยกับกลุ่ม Allianz  จากเยอรมนี ในสัดส่วน 25% ในนามบริษัท ซี.พี.อัลลิอันซ์ จำกัด (มหาชน) แต่หลังจากนั้น  กลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เข้ามาถือหุ้นร่วมด้วย โดย ซี.พี.เหลือหุ้นใน บริษัทใหม่ คือ อยุธยา  อัลลิแอนซ์  ซี.พี. เพียง 5.85%  
 
แต่ในปี 2555 ซี.พี.ขายหุ้นที่เหลือทั้งหมดให้กับกลุ่มบริษัทศรีอยุธยา แคปิตอล จำกัด ในราคา 517.95 ล้านบาท ซึ่งเจ้าสัวบอกถึงเหตุผลที่ถอนตัว ก็เพราะบทบาทของ CP เป็นเพียงผู้ตามเท่านั้น และการขายหุ้นในครั้งนั้นก็ได้ “กำไร” 
 
ประสบการณ์คราวนั้น สอนให้ CP ก้าวใหญ่ขึ้น ธนินท์มองว่า Ping An จะโตไปอีกหลายเท่า 
 
"เขามีระบบบริหารทันสมัยที่สุด โอกาสที่จะโตมหาศาลต่อไป Ping An ไปที่ไหน ซี.พี.ก็ได้ข้อมูลที่นั่น” 

 
makro
 
นอกจาก "ข้อมูล" แล้ว สิ่งที่เจ้าสัวต้องการอีกอย่างคือ การสร้างเครือข่ายด้านการขายและ logistics เพื่อส่งสินค้าในเครือ ซี.พี.ให้เข้าถึงมือลูกค้าให้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ธนินท์ประกาศซื้อหุ้นบริษัทสยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) (makro) จำนวน 64.35% จากบริษัท SHV Netherlands B.V. เมื่อ 3/4/56 ด้วยวงเงิน 188,880 ล้านบาท (เขาปฏิเสธว่าตัวเลขนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องฮวงจุ้ย เป็นเหตุ “บังเอิญ”) ซึ่งราคานี้เจ้าสัวยืนยันว่าเป็นราคาที่คุ้มค่า 
 
เพราะเป็น “ของดี” สามารถนำต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจของ ซี.พี.ได้ ทั้งการเป็นช่องทางการขายสินค้าของกลุ่มให้กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นโชห่วย และภัตตาคาร ร้านอาหาร การเป็นศูนย์กระจายสินค้า (DC) ให้กับกลุ่มซี.พี. เพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังร้าน 7-Eleven กว่า 7 พันแห่ง ซึ่ง makro มีสาขาอยู่ทั้งหมด 58 แห่งทั่วประเทศ เป็นสาขาในต่างจังหวัด 50 แห่ง นั่นหมายความว่า ซี.พี.มี DC เพื่อส่งสินค้าต่อไปยังร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศเพิ่มขึ้น และในอนาคต CP จะให้ 7-Eleven จัดส่งสินค้าในร้านไปถึงบ้านลูกค้า
 
“โอกาสของ ซี.พี.ยังมีอีกมาก อย่างเรื่อง logistics ที่เราต้องสร้างเครือข่ายการขนส่งระหว่างบริษัทสู่บริษัท (B to B) และระหว่างบริษัทสู่ลูกค้า (B to C) ซึ่งในเรื่องของการส่งอาหารสดถึงบ้าน ยังเป็นโอกาสที่ให้เราเข้าไปทำ” 
 
makro ไม่ใช่เป็นเพียงฐานธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น แต่เจ้าสัวยังจะใช้ makro  บุกตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนและจีน รวมถึงและประเทศที่กำลังพัฒนาคือเป้าหมายที่แมคโครจะสยายปีกไปปักธง เพื่อใช้เป็นหนึ่งในช่องทางการขายสินค้าในเครือซี.พี.ให้กระจายไปยังทุกประเทศที่มีโอกาส



เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
"เจ้าสัว CP ปัดไม่ได้ซื้อ Tesco แต่สนใจ ย้ำไม่ทำแบงก์"
 http://www.forbesthailand.com/article_detail.php?article_id=213

"CP-ITOCHU" ทุ่ม 350,000 ล้านบาท ซื้อหุ้น CITIC ในจีน http://www.forbesthailand.com/article_detail.php?article_id=289