“ราช กรุ๊ป” เผยครึ่งปี 62 มีรายได้รวม 2.35 หมื่นล้านบาท กำไรพุ่ง 13% มุ่งเดินหน้าลงทุนพลังงานทดแทนในออสเตรเลีย พร้อมขยายพอร์ตสู่ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน
กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH Group เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทใน 6 เดือนแรกปี 2562 โดยระบุว่าบริษัทมีรายได้รวม 2.35 หมื่นล้านบาท กำไรส่วนของบริษัท 3.67 พันล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 13.4%
“ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสะท้อนถึงการเติบโตทางธุรกิจและความมั่นคงทางการเงินได้เป็นอย่างดี โดยรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือ รายได้ค่าขายไฟจากโรงไฟฟ้าราชบุรีไตรเอนเนอจี้ และบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น รวม 1.93 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 82% ของรายได้รวม ขณะที่รายได้อีกส่วนมาจากส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุน 2.36 พันล้านบาท คิดเป็น 10%”
กิจจา กล่าวอีกว่า ภาพรวมการลงทุนของราช กรุ๊ป ณ กรกฎาคม 2562 มีกำลังการผลิตรวม 9,416 เมกะวัตต์เทียบเท่า แบ่งเป็น กำลังการผลิตจากธุรกิจไฟฟ้า 9,222 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเทียบเท่าจากธุรกิจอื่น 194 เมกะวัตต์เทียบเท่า ซึ่งมาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู 191 เมกะวัตต์เทียบเท่า และโครงการผลิตน้ำประปาแสนดินที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 3 เมกะวัตต์เทียบเท่า
“กำลังการผลิตทั้งหมดของเรามาจากโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้แล้ว 6,860 เมกะวัตต์ โครงการที่เดินเครื่องจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ในปี 2562 รวม 180 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ที่ COD ไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา, โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอรเชั่น ซึ่ง COD ไปเมื่อเดือนมิถุนายน และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียนเซน้ำน้อยที่จะ COD ในเดือนธันวาคมปีนี้ ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 2,182 เมกะวัตต์นั้นมาจากส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา”
ครึ่งปีแรกเน้นลงทุนในออสเตรเลีย
กิจจา กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในครึ่งปีแรก 2562 บริษัทมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าลมยานดิน ที่รัฐ Western ประเทศออสเตรเลีย กำลังผลิต 214.2 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาดใหญ่ที่ติดตั้งกังหันลม 51 ตัว ซึ่งบริษัทเข้าร่วมถือหุ้น 70% ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและคาดว่าจะสามารถ COD ได้ในปี 2563
“เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเลกเตอร์ ในรัฐ New South Wales ประเทศออสเตรเลีย กำลังผลิต 226.8 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นทั้งหมด 100% คาดว่าสามารถ COD ได้ในปี 2563 ทั้งนี้ ที่เราเลือกเน้นลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมเนื่องจากสามารถก่อสร้างและรับรู้รายได้ได้เร็ว”
ขณะที่ในประเทศไทย ครึ่งปีแรกบริษัทมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหินกอง จ.ราชบุรี กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำการประเมินผลกะทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) หากแล้วเสร็จและได้รับการอนุมัติ คาดว่าสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 และเดินเครื่องจำหน่ายเชิงพาณิชย์ชุดที่ 1 ได้ในปี 2567 ชุดที่ 2 ปี 2568
ขยายพอร์ตสู่สาธารณูปโภคพื้นฐาน
กิจจา ระบุอีกว่า ราช กรุ๊ป ยังมีการขยายธุรกิจมาลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยร่วมกับพันธมิตรในการยื่นซองประมูลโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ขณะที่โครงการพัฒนารถไฟฟ้า บริษัทอยู่ระหว่างรอการจัดทำ TOR ของรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะมี TOR ออกมาบางส่วนในปลายปีนี้
“อีกธุรกิจที่เราสนใจคือระบบการจัดการพลังงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้เราได้คุยกับพาร์ทเนอร์ของเราที่ทำอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งเป็นนิคมที่มีความต้องการค่อนข้างสูง หากมีการจัดการด้านพลังงานได้จะทำให้มีการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยนิคมฯนวนครมีการจ้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาดูระบบให้ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา หากแล้วเสร็จต้องดูว่าเราจะลงทุนในส่วนนี้อย่างไร”
นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจลงทุนในโครงข่ายโทรคมนาคม โดยที่ผ่านมามีการลงทุนไฟเบอร์ออพติกกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT) ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งนี้ เรามองว่าการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมจะช่วยเสริมสร้างระบบไฟฟ้าให้มีการบริหารจัดการอย่างอัจฉริยะได้
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างและพัฒนาโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย ปัจจุบันงานก่อสร้างโดยรวมแล้วเสร็จ 44% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟังเชงกัง II ในจีน คาดว่าสามารถ COD ได้ในปี 2564 และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเรียว ในอินโดนีเซีย มีความคืบหน้าแล้ว 31% คาดว่าสามารถ COD ได้ในปี 2564 เช่นกัน
“แนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีหลังนี้ เราจะเน้นการร่วมทุนกับพันธมิตรทั้งในรูปแบบการซื้อกิจการที่มีรายได้แล้ว เพื่อให้มีรายได้ทันที ลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและการพัฒนาโครงการใหม่ โดยในธุรกิจไฟฟ้าเรามีโอกาสลงทุนในประเทศจากแผน PDP ซึ่งเรามีความสนใจใน Solar Floating แต่ยังต้องดูแผนของ กฟผ.อีกครั้ง นอกจากนี้ยังสนใจในโครงการพลังงานทดแทนในออสเตรเลียที่ยังมีอีกหลายโครงการที่สาารถพัฒนาต่อได้”
กิจจา กล่าวอีกว่า เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าบางส่วนที่จะทยอยหมดอายุสัญญาไป เราจึงต้องพยายามหาโรงไฟฟ้ามาทดแทนในส่วนนี้ เพื่อให้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566 ตามเป้าหมาย
อ่านเพิ่มเติม รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creatorไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine