ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน - Forbes Thailand

ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Jun 2014 | 03:10 PM
READ 3739
“การปฏิรูปพลังงาน” กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องในการปฏิรูปประเทศขณะนี้ ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง หากข้อมูลผิด ข้อเสนอการปฏิรูปอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ
 

ข้อเท็จจริง
ไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นสู่ระดับหนึ่งล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ แต่การใช้ก็เพิ่มขึ้นสูงเช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมา บางฝ่ายนำเสนอข้อมูลที่ทำให้เชื่อว่าเรามีแหล่งพลังงานมหาศาล จึงควรกำหนดราคาในประเทศให้ต่ำ แต่ความจริง คือ 
  • เรานำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันราวครึ่งหนึ่งของความต้องการในประเทศ 
  • ปริมาณสำรองในประเทศมีจำกัด ใช้แล้วหมดไป 
  • ปริมาณสำรองและการผลิตลดลง เราต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในราคาที่สูงกว่าที่ผลิตในประเทศ
 
 
ปัญหาของภาคพลังงานไทย
ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาคพลังงานไทยได้พัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การคมนาคม ขนส่ง ในบรรดาประเทศในเอเซียแล้ว ธุรกิจและรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไทยถือว่ามีประสิทธิภาพและคุณภาพดีที่สุดกลุ่มหนึ่ง ทว่าก็ยังมีปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งหากทิ้งไว้จะทำให้ภาคพลังงานอ่อนแอ และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยและฐานะการเงินระหว่างประเทศ ดังนี้ 
  • ราคาพลังงานบิดเบือนทำให้มีการใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  • การแข่งขันในบางส่วนน้อยเกินไป ในขณะที่องค์กรกำกับดูแลไม่เข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค
  • การแทรกแซงทางการเมืองในธุรกิจพลังงานที่รัฐถือหุ้น
  • การผลิตปิโตรเลียมในประเทศใกล้ถึงจุดสูงสุด ในขณะที่การพัฒนาแหล่งใหม่ขาดความต่อเนื่อง 
  • ความซ้ำซ้อนของกฏหมาย กฏระเบียบ ทำให้การการขออนุญาตมีความล่าช้า และเกิดต้นทุนแฝง โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับผลกระทบหนัก

 
ข้อเสนอการปฏิรูปพลังงาน
(1) การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงคือเงื่อนไขสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างราคา ภาษีและเงินกองทุนฯเพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยคำนึงถึงผลกระทบทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (เช่น งบประมาณค่าสร้างและซ่อมถนน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) เพื่อความเป็นธรรมและให้มีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การอุดหนุนราคาพลังงานตามนโยบายรัฐบาล ควรทำเท่าที่จำเป็น และให้ใช้งบประมาณแผ่นดิน เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง

(2) การเพิ่มการแข่งขันและการปรับโครงสร้าง ปตท. ปตท.เป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและกลายเป็นจำเลยของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะปตท.มีสิทธิผูกขาดในบางเรื่อง จึงมี 2 เรื่องที่ควรแก้ไข 
  • เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจน้ำมันโดยให้ธุรกิจน้ำมันของรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ในบังคับของพรบ.การแข่งขันทางการค้า และลดการถือหุ้นของปตท.ในกิจการโรงกลั่น เช่น ให้ปตท.ขายหุ้นทั้งหมดในโรงกลั่นบางจาก และ SPRC
  • แยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากปตท.เพื่อความโปร่งใสและง่ายแก่การกำกับดูแล และเปิดให้มีการให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) รวมทั้งปรับปรุงการทำงานของ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค 

(3) ลดการแทรกแซงทางการเมือง การลดการแทรกแซงทางการเมืองออกจากการบริหารงานกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งอาจมีมาตรการดังนี้
  • แยกการกำกับดูแล การกำหนดนโยบาย และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะของผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างชัดเจน 
  • ปรับปรุงระบบการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจให้มีความโปร่งใส และมีขั้นตอนในการกลั่นกรองที่เข้มงวด และให้ประชาชนสามารถรับรู้และแสดงความเห็นก่อนการแต่งตั้ง
  • ในกรณีที่มีข้าราชการไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ต้องไม่รับผลตอบแทนใดๆเพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติหน้าที่
  • ให้รัฐถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจเท่าที่จำเป็นจริงๆเพราะการถือหุ้นโดยรัฐคือช่องทางของการแทรกแซงและแสวงหาผลประโยชน์โดยนักการเมือง

(4) การจัดหาพลังงาน ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่การนำเข้าโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อต้นทุนพลังงานเพราะก๊าซนำเข้าแพงกว่าก๊าซในประเทศมาก การพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศจึงมีความสำคัญยิ่ง จึงควรมีมาตรการ ดังนี้
  • นำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหม เข้ามาอยู่ภายใต้พรบ.ปิโตรเลียม
  • เร่งพิจารณาแนวทางในการพัฒนาปิโตรเลียมสำหรับสัญญาการผลิตที่ไม่สามารถต่อระยะเวลาได้อีกตามกฏหมาย เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างน้อย 5 ปีก่อนการสิ้นสุดสัญญา
  • เจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยสร้างกลไกในการเจรจาที่โปร่งใสเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

(5) การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน โดยทั่วไปมาตรการในเรื่องนี้ เพียงพออยู่แล้วในปัจจุบัน และถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง สิ่งที่ต้องทำคือการขจัดอุปสรรคที่ภาครัฐสร้างขึ้นทำให้โครงการประสบความล่าช้าและเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของนักการเมือง โดยเฉพาะปัญหาความซ้ำซ้อนของพรบ.โรงงาน (รง.4)  กับพรบ.การประกอบกิจการพลังงาน และการแก้ไขพรบ.เพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อให้สามารถกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคาร มีความเข้มข้นมากขึ้น และมีเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน
 
ข้อเสนอนี้แตกต่างจากสิ่งที่มีการนำเสนอโดยบุคคลบางกลุ่ม แต่ข้อเสนอแนวประชานิยมได้พิสูจน์แล้วว่า อาจสร้างความพอใจให้ประชาชนในช่วงแรก แต่ในที่สุดได้ก่อผลกระทบวงกว้างและรุนแรงต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม 
 

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) และอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)