ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตผ้าฝ้ายคุณภาพสูงในประเทศกลุ่มอาเซียนและมีการนำเข้าฝ้ายดิบคุณภาพดีจากแหล่งปลูกฝ้ายคุณภาพดีจากหลายแห่ง อาทิ ออสเตรเลีย บราซิล และอเมริกา เพื่อปั่นเป็นเส้นด้ายคุณภาพสูง
สำหรับการใช้ฝ้ายดิบจากสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยนำเข้าฝ้ายผ่านองค์กร Cotton USA โดยฤดูกาลผลิตปี 2014/2015 มีการนำเข้าฝ้ายดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นจำนวน 99,694 ตัน และในฤดูกาลการผลิตปี 2015/2016 เป็นจำนวน 103,217 ตัน เพิ่มขึ้น 3.4%
โดยตัวเลขการนำเข้าฝ้ายดิบจากสหรัฐในฤดูกาลผลิตปี 2014/2015 ของประเทศกลุ่มอาเซียน เวียดนามคือประเทศอันดับ1 ในการนำเข้าฝ้ายดิบจากสหรัฐฯ โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านอุตสาหกรรมเวียดนามขยายตัวมากกว่า 60% ซึ่งเกิดจากอุปสงค์ของการเข้ามาลงทุนโดยนักลงทุนเกาหลีใต้ ทำให้ฤดูกาลผลิตปีนี้เวียดนามนำเข้าฝ้ายดิบเป็นจำนวน 264,120 ตัน ในขณะที่อินโดนีเซียนำเข้าฝ้ายดิบที่จำนวน 103,728 ตัน เป็นอันดับ5 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 7
โดยภาพรวมทั่วโลกของการผลิตฝ้าย ปี 2016 อินเดียขึ้นเป็นอันดับ1 ในการปลูกฝ้ายมีจำนวนฝ้ายดิบ 700,000 ตัน แทนประเทศจีนที่หล่นลงเป็นอันดับ2 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยการสำรองฝ้ายดิบภายในประเทศจีนกว่า 13 ล้านตัน ในขณะที่การสำรองฝ้ายดิบทั่วโลกมีปริมาณการสำรองเป็นจำนวน 22 ล้านตัน ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาซึ่งรั้งอันดับ3 ในการเพาะปลูกฝ้ายกับเป็นแชมป์ส่งออกในการส่งออกปี 2015/2016

สำหรับ คอตตอน ยูเอสเอ ในประเทศไทย ไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทน คอตตอน ยูเอสเอ ภูมิภาคอาเซียน กล่าวภายในงานเปิดแผนการตลาดสำหรับปี 2016 ด้วยงบด้านการตลาด 23 ล้านบาท เพื่อผลักดันกลยุทธ์สำคัญการใช้คอตตอนคุณภาพสูงจากสหรัฐฯ ให้สอดคล้องกับการสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าคุณภาพสูง เป็นไปตามกลไกการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอจากฮ่องกงและญี่ปุ่นระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา
โดยปี 2016 คอตตอน ยูเอสเอ เปิดตัวโครงการ “คอลเลคชั่น คอตตอน ยูเอสเอ 2016” เป็นครั้งแรกโดยเป็นการร่วมมือกับแบรนด์ไลเซนซีผลิตคอลเลคชั่น ซึ่งมีเสื้อผ้าแบรนด์ไทยและมีฐานการผลิตของตัวเองกับแบรนด์ “บลู คอร์เนอร์” ที่ได้ทีมดีไซเนอร์จากแบรนด์ “ASV” ภายใต้ควบคุมโดย หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา ในคอลเลคชั่น “Blue Corner x ASV x COTTON USA” และ แบรนด์ “คาคิ บรอส” ที่ได้ อาเล็ก ธีรเดช เมธาวรายุทธ ร่วมออกแบบในคอลเลคชั่น “Khaki Bros. x Alek T. x COTTON USA” เพื่อสะท้อนความเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายคุณภาพสูงจากฝีมือคนไทยและสร้างการรับรู้ถึงความสามารถในการผลิต

ทั้งนี้ คอตตอน ยูเอสเอ ใน ประเทศไทย ยังเชื่อมต่อต้นและปลายน้ำเข้าด้วยกันด้วยกลยุทธ์ “ดีมานด์พูล” และ “ซัพพลาย พุช” โดย “ดีมานด์พูล” มุ่งเน้นกลยุทธ์เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคคนไทยที่มีต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายสหรัฐฯ ผ่านสัญลักษณ์ คอตตอน ยูเอสเอ ที่ในประเทศไทยมีแบรนด์ไลเซนซีในกลุ่มเสื้อผ้าและเคหะสิ่งทอ จำนวน 35 แบรนด์ และด้าน “ซัพพลาย พุช” สร้างความสัมพันธ์อันดีในการสร้างคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ผ่านแนวคิด คอตตอน ยูเอสเอ ซอร์สซิ่ง (COTTON USA Sourcing) พาผู้ผลิตจากประเทศไทย เข้าร่วมงานแฟร์ซึ่ง คอตตอน ยูเอสเอ จัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย เพื่อต่อยอดทางธุรกิจต่อซัพพลายเออร์โรงงานสิ่งทอ จำนวน 11 แห่ง ที่คงมีสัดส่วนการใช้ฝ้ายดิบจาก คอตตอน ยูเอสเอ มากกว่า 50% ในปั่นเส้นด้ายคุณภาพสูง
“ความร่วมมือดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือครั้งสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการใน อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยมี คอตตอน ยูเอสเอ เป็นผู้สนับสนุนการทำการตลาดให้กับทั้งสองคอลเลคชั่น” ไกรภพ แพ่งสภา กล่าว