“น้ำดื่มสิงห์” ปลุกกระแสตลาดต้นปี ลุยแคมเปญ
“เกี่ยวช่วยโลก” ชวนผู้บริโภคใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง รณรงค์ใช้ขวดแก้วเป็นหนึ่งในทางเลือกในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค พร้อมผนึกพันธมิตรผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า “เราเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องแก้ไขควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจขององค์กร โดยหลายหน่วยงานในเครือได้มีโครงการสำคัญมากมาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้ สิงห์ เอสเตท ที่ประกาศตัวลุกขึ้นมาทำโครงการรณรงค์ลดขยะพลาสติก การนำพลาสติกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แทนการปล่อยให้ย่อยสลาย ซึ่งใช้เวลาหลายสิบปี, บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จํากัด มีการบริหารจัดการบำบัดน้ำภายในโรงงาน ด้วยการนำไปใช้ในสนามกอล์ฟ สิงห์ปาร์ค ขอนแก่น, สิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้พัฒนาโครงการเพิ่มพื้นที่ สีเขียวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการปริมาณขยะภายในไร่ ฯลฯ
ล่าสุด บริษัทฯได้จัด
แคมเปญ “เกี่ยวช่วยโลก” เพื่อชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันดูแลโลก ด้วยการชวนให้ผู้บริโภคหันมาดื่มน้ำสิงห์ในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแกนการลดขยะภายใต้กรอบ 3R ได้แก่ Reuse การนำขวดแก้วกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยผ่านกระบวนการผลิตอันทันสมัยและผ่านการทำความสะอาดที่มีมาตรฐาน, Reduce ลดการใช้พลาสติก ลดการสร้างขยะ และ Recycle เมื่อขวดแก้วถูกใช้ไประยะหนึ่งแล้วจะถูกนำไปผ่านกระบวนการทำลาย เพื่อผลิตขวดแก้วขวดใหม่ต่อไป ดังนั้นทาง บริษัทฯ จึงทำแคมเปญ “เกี่ยวช่วยโลก” โดยนำเสนอน้ำดื่มขวดแก้ว ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเริ่มจากตัวเองเพื่อช่วยโลกได้
ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด
“แนวทางการทำตลาดน้ำดื่มสิงห์ ได้ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งคุณภาพ น้ำดื่ม และยังมองผลกระทบสิ่งแวดล้อม มุ่งลดปริมาณขยะ เราจึงกระตุ้นการบริโภคน้ำดื่มขวดแก้ว เนื่องจากเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ได้ใหม่ (Reuse) 100% ลดการใช้แล้วทิ้ง จึงทำให้กระบวนการของน้ำดื่มสิงห์ขวดแก้วตั้งแต่ผลิตจากโรงงานจนไปถึงมือผู้บริโภค มั่นใจได้ว่าก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด ขณะที่ขวดพลาสติกเราพยายามสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคว่าการใช้บรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากผู้บริโภคแยกขยะให้ถูกต้อง มีการจัดเก็บที่ดี สามารถนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลต่อไปได้เช่นกัน”
ในการผลิตน้ำดื่มสิงห์มีบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในด้านความสะดวกสบาย บริษัทฯเลือกใช้พลาสติก PET1 ซึ่งเป็นประเภทของพลาสติกที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยปลายปีที่ผ่านมายังทำการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายผ่านทางฉลากน้ำดื่มสิงห์ในขวด PET ไซส์ 600, 750 และ 1,500cc. ให้รับรู้และรณรงค์ให้ช่วยแยกขวดน้ำดื่มดังกล่าว เพื่อนำไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลต่อไป
โดยแคมเปญนี้เราได้สื่อสารกับผู้บริโภคผ่านการทำคลิปวิดีโอออนไลน์ นำเด็กซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และจะเป็นคนรุ่นถัดไปมานำเสนอผ่านการเกี่ยวก้อยสัญญากับธรรมชาติต่างๆ รอบตัว ว่าจะดูแล รักษา และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้ธรรมชาติที่ดีคงอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทฯได้ปรับ
เปลี่ยนฝาบรรจุขวดแก้ว (Maxi) ใหม่ ให้สื่อถึงโครงการ พร้อมระบุข้อความ “เกี่ยวช่วยโลก” ลงบนฝาน้ำดื่มสิงห์ขวดแก้ว เพื่อสื่อให้ผู้บริโภครับรู้และช่วยกันเกี่ยวเพื่อเปิดฝาขวดน้ำดื่ม แสดงถึงสัญลักษณ์ของการเกี่ยวก้อยสัญญา ตอกย้ำแคมเปญให้เป็นที่จดจำแก่ผู้บริโภคมากขึ้นด้วย
ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาดื่มน้ำขวดแก้วมากขึ้น ผ่านแคมเปญการตลาดเกี่ยวช่วยโลก จะมีส่วนช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดปริมาณขยะจากร้านค้า องค์กรธุรกิจ ตลอดจนผู้บริโภคเริ่มได้จากตัวเอง
ทั้งนี้ ปัญหาขยะเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของโลกและประเทศไทย เพราะการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มตามไปด้วย ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะจำนวน 27.93 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกกว่า 2 ล้านตัน
ที่ผ่านมาขยะพลาสติกถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้าย แต่ข้อดีของพลาสติกคือมีความใส น้ำหนักเบา มีความเหนียว ทนต่อแรงกระแทก โอกาสเปราะแตกมีน้อยมาก ที่สำคัญปลอดภัย เพราะในการนำมาบรรจุสินค้าต่างๆช่วยป้องกันการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกได์ได้เป็นอย่างดี คุณสมบัติการขึ้นรูปทรงต่างๆได้หลากหลาย และตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ รวมถึงขวด PET1 สามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่ต้องมีการแยกขยะให้ถูกต้อง ปัจจุบันการรีไซเคิลขวด PET ในประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ประมาณ 80% โดยมีบางส่วนที่ตกค้างไปตามแม่น้ำลำคลอง ทะเล และบ่อขยะต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกตื่นตัวรักษาสิ่งแวดล้อม การลด ใช้ซ้ำ นำขยะกลับมาใช้ใหม่เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนรณรงค์กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะภาคเอกชน องค์กรห้างร้านขนาดใหญ่ ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะในการดำเนินธุรกิจมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคอยู่แล้ว เมื่อทำโครงการต่างๆจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง และในส่วนผู้บริโภคเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่ร้าน