แนวโน้มที่น่าสนใจประการหนึ่งของเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัฒน์ คือ การเปลี่ยนบทบาทของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือ developing economies จากกลุ่มประเทศผู้รับการลงทุนเป็นหลักมาเป็นผู้ออกไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ของไทยไม่น้อยที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ ปรากฎการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลต่อนโยบายของประเทศ และกลยุทธ์การแข่งขันของบริษัท
การลงทุนในต่างแดนจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากสัดส่วนราว 7% ของการลงทุนขาออกทั้งหมดของโลกในปี 1998 เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าในระยะเวลาเพียง 15 ปี จนมีสัดส่วนเป็น 39% ของปริมาณการลงทุนขาออกทั้งหมดของโลกในปี 2013 คิดเป็นจำนวนเงินราว 4.54 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มา: World Investment Report, UNCTAD) จีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยเป็นกลุ่มผู้เล่นจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนในต่างประเทศ
การที่บริษัทไทยสามารถขยายกิจการไปต่างประเทศได้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประกอบกิจการและแข่งขันในประเทศ ในปัจจุบันหลายบริษัทไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคที่ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งหลากชาติในตลาดต่างประเทศเช่นกัน
วิวัฒนาการของการลงทุนโดยตรงจากประเทศไทย
ปริมาณเงินลงทุนโดยตรงสะสมของไทยในต่างประเทศ (Outward Foreign Direct Investment Stock) เติบโตอย่างมหาศาลในรอบกว่า 3 ทศวรรษ จากราว 13 ล้านเหรียญในปี 1980 เพิ่มขึ้นกว่า 4,500 เท่า เป็น 58,610 ล้านเหรียญในปี 2013 (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยแบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ 1.ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 2.ปี 1997-2000 3.ปี 2000-2004 4.ปี 2006-ปัจจุบัน
งานวิจัยของผู้เขียนที่นำเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (Pavida Pananond and Alvaro Cuervo-Cazurra (2015). Multinational Enterprises and Performance: Policy Implications) ตั้งข้อสังเกต 2 ประการต่อทิศทางการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย ดังนี้
1.การลงทุนโดยตรงของไทยไม่ได้อยู่เฉพาะในทวีปเอเชีย
ถึงแม้ว่านโยบายทางเศรษฐกิจของไทยจะมุ่งให้ความสำคัญต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยเฉพาะ ASEAN Economic Community (AEC) จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การลงทุนโดยตรงของไทยมุ่งไปที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเป็นหลัก แต่จากสถิติทั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย และ UNCTAD พบว่าธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในหลายภูมิภาค มิได้จำกัดอยู่เฉพาะใน AEC หรือ จีน การลงทุนของไทยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มจะเติบโตต่อไป
2. การลงทุนในกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Haven)
ทุนไทยกระจุกตัวในกลุ่มประเทศที่ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีค่อนข้างสูง ได้แก่ หมู่เกาะเคย์แมนและ มอริเชียส หากรวมการลงทุนของไทยในสิงคโปร์และฮ่องกงซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเทศดังกล่าวในแง่ของการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน จะเห็นได้ว่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศมีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือเป็นศูนย์กลางทางการเงินเหล่านี้สูงอย่างเห็นได้ชัด
หากภาครัฐและภาคเอกชนของไทยต้องการสร้างผลประโยชน์สูงสุดจากการที่ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ การทำความเข้าใจในความหลากหลายและแตกต่างของการลงทุนเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและไม่อาจมองข้ามได้
ภวิดา ปานะนนท์ รองศาสตราจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์