ณัฐภัทร เตชะอธิก แห่ง บลู พาร์คกิ้ง แนะ 3 ธุรกิจใหญ่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น - Forbes Thailand

ณัฐภัทร เตชะอธิก แห่ง บลู พาร์คกิ้ง แนะ 3 ธุรกิจใหญ่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Jul 2020 | 05:25 PM
READ 1477

ณัฐภัทร เตชะอธิก แห่ง สตาร์ทอัพ บลู พาร์คกิ้ง ชี้ถึงเวลา 3 ธุรกิจใหญ่ ห้างสรรพสินค้า-โรงพยาบาล-คอนโดมิเนียม ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเรียกความมั่นใจให้ผู้บริโภคและลูกค้ากลับมาใช้บริการอย่างไร้กังวลเรื่องความปลอดภัย

ณัฐภัทร เตชะอธิก กรรรมการผู้จัดการ Blue Parking สตาร์ทอัพเจ้าของนวัตกรรมระบบบริหารที่จอดรถอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ที่เปลี่ยนแปลงประสบการณ์การจอดรถให้ง่ายและไร้การสัมผัสมากขึ้น เปิดเผยว่า เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์โดยเริ่มเปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ ให้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น แต่โควิด-19 ก็ได้สร้างความปกติในรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ (New Normal) ให้กับทุกคน เพราะต่างรู้กันอยู่แล้วว่า จากนี้ไปวิถีชีวิตประจำวันจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ทั้งนี้ บลู พาร์คกิ้ง มองว่า ปัจจุบันมี 3 ธุรกิจหลักที่ควรเริ่มและเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหรือลูกค้าเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยตั้งแต่ย่างก้าวแรกเมื่อเข้ามาใช้บริการ โดยลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ หรือพบปะผู้คนเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมให้มากที่สุด 1.ห้างสรรพสินค้าต่างนำใช้นวัตกรรมมาใช้เพื่อลดการสัมผัสให้น้อยที่สุด (Touch less Innovation) ห้างสรรพสินค้าเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งต้องเร่งปรับตัวรองรับมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนมาใช้บริการพร้อมรับกับวิถี New Normal โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ ตั้งแต่พัฒนาแอปพลิเคชั่น ระบบสแกนคิวอาร์โค้ด การใช้เทคโนโลยีกล้องตรวจวัดอุณหภูมิ การนำหุ่นยนต์อัจฉริยะตรวจอุณหภูมิเพื่อวิเคราะห์สภาวะเสี่ยงหรือความผิดปกติที่ส่งข้อมูลประมวลผลแบบเรียลไทม์ที่ผ่านระบบ Cloud AI ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเมื่อมาใช้บริการแล้วจะมีมาตรการที่ปลอดภัยรองรับอยู่ “การไปห้างฯ ในปัจจุบันนอกจากจะต้องรับกับวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแล้ว ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการเองก็ยังต้องรู้จักป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่างๆ ให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การกดลิฟท์ที่ปัจจุบันห้างฯ มีทั้งการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ หรือการเปลี่ยนปุ่มกดลิฟท์เป็นการใช้เท้าแทน และถ้าจะให้ดีควรหันมาใช้ดิจิทัลอีเพย์เมนท์แทนในการชำระเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเงินสด รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในบริบทของตัวเอง แม้ทางห้างฯ มีจุดบริการฉีดฆ่าเชื้อต่างๆ โดยรอบแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังต้องเสี่ยงต่อการสัมผัสอยู่ นั่นคือ การรับบัตรจอดรถทั้งจากเครื่องรับบัตรอัตโนมัติหรือจากพนักงาน เนื่องจากไม่มีใครการันตีได้ว่าบัตรจอดรถมีการทำความสะอาดก่อนที่จะถูกนำมาใช้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่ทางห้างฯ ต้องรีบหามาตรการการดูแลเรื่องนี้โดยนำเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ผู้ที่มาใช้บริการห้างฯ รู้สึกสบายใจและปลอดภัยให้มากที่สุด” ณัฐภัทรกล่าว 2.โรงพยาบาลต้องบริหารจัดการเพื่อให้ใช้เวลาในสถานพยาบาลน้อยที่สุด โรงพยาบาลถือเป็นสถานที่ต้องรักษาความสะอาดและสร้างความมั่นใจให้ผู้มาใช้บริการเป็นอันดับต้นๆ เพราะอีกด้านหนึ่งโรงพยาบาลคือแหล่งรวมเชื้อของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาโรคต่างๆ ดังนั้นทางโรงพยาบาลก็ต้องเตรียมรับมือสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มาใช้บริการเกิดความมั่นใจว่ามีความสะอาดและปลอดภัยเป็นอย่างดี และที่สำคัญต้องบริหารจัดการโดยให้ผู้ใช้บริการใช้เวลาในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเริ่มเห็นการบริการทางการแพทย์ปรับวิธีการรับมือแบบปกติใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น หากเป็นผู้ป่วยที่ประวัติการรักษาหรือมีการนัดพบแพทย์อยู่เป็นประจำ สามารถรับการบริการทางแพทย์แบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลเองเหมือนแต่ก่อน เพราะสามารถแจ้งอาการหรือปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ของโรงพยาบาลได้ ทั้งรูปแบบวิดีโอคอล หรือช่องทางแชทผ่านเครื่องมือการสื่อสารออนไลน์โปรแกรมต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยลดความแออัดภายในโรงพยาบาลและลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ นอกเหนือไปกว่านั้น เท่ากับว่าทางโรงพยาบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้รวดเร็วขึ้นไปในตัว เพราะทุกอย่างจะผ่านกระบวนการคิดเพื่อบริหารจัดการการบริการให้เร็วขึ้นในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ การพบเจ้าหน้าที่ พบแพทย์ การรักษา การสั่งยา ฯลฯ 3.คอนโดมิเนียมต้องทำให้รู้สึกสะดวกและปลอดภัยเมื่ออยู่อาศัย สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ปัจจุบันทางโครงการก็ต้องปรับแนวทางมาตรการการเข้า-ออก คอนโดฯ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่สิ่งที่จะเป็น New Normal สำหรับอุตสาหกรรมนี้คือ ผู้พัฒนาโครงการคอนโดฯ ที่จะต้องทำอย่างไรผู้ที่จะเลือกซื้อจึงจะรู้สึกได้ว่าถ้าจะมาอยู่อาศัย จะไม่รู้สึกกังวลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย และต้องรู้สึกถึงความสะดวกสบายด้วย เนื่องจากคอนโดฯ เป็นสถานที่มีผู้คนอาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ที่ลูกบ้านจะออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นการออกแบบต้องดึงนวัตกรรมให้มีการลดการสัมผัสของส่วนกลาง (Touch less) มาใช้ให้มากที่สุด เช่น ระบบสแกนจากการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Control) ระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ทำให้ลูกบ้านลดการสัมผัสจุดเดียวกันให้น้อยที่สุด รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ต้องสร้างความตระหนักในการรับผิดชอบตัวเองหลังมีการใช้พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์การออกกำลังกายเมื่อใช้เสร็จ อย่างไรก็ดี การออกแบบของคอนโดมิเนียมจะเปลี่ยนไปเพื่อรองรับการแบ่งโซนพื้นที่ทำงานที่บ้าน (Work from home) ให้มีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งในแง่ของการขายคอนโดฯ อาจจะต้องมีการทำพรีเซ็นต์โครงการขายที่ออกมาในลักษณะของวิดีโอและภาพเสมือนแทนที่การเข้าไปดูโครงการจริงมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการพิจารณาโครงการก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปเลือกดูโครงการจริง อ่านเพิ่มเติม: William Heinecke เผยดัน ไมเนอร์ฯ เสริมเแกร่งการเงิน  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine